ช่วงวันที่ 15-19 ม.ค. 67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ไปประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ พร้อมนำโครงการแลนด์บริดจ์ มูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท ไปโรดโชว์ด้วย

นอกจากนี้นายเศรษฐายังได้หารือกับผู้บริหารบริษัท Dubai Port World จากสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งเชี่ยวชาญโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือและเขตการค้าเสรี

“พยัคฆ์น้อย” ได้คุยเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ หรือสะพานเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาระบบการขนส่งสินค้า-น้ำมันดิบ เชื่อมทะเลอันดามันและอ่าวไทยที่ จ.ระนอง-ชุมพร ระยะทางประมาณ 90 กม. ด้วยเส้นทางรถไฟ-ถนนมอเตอร์เวย์-ท่อส่งน้ำมัน กับนักวิชาการที่สอนเกี่ยวกับการคมนาคมขนส่ง

ต่อมาได้คุยกับนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายปัญญา ชูพานิช ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยได้ฟังการอธิบายจากนายชยธรรม์และนายปัญญาไปพร้อม ๆ กับทีมงานของนายกฯ ก่อนเอาข้อมูลโครงการดังกล่าวไปโรดโชว์ในช่วงเดินทางไปประชุมเอเปคที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือน พ.. 66

“แลนด์บริดจ์” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีแนวคิดจะขุด “คอคอดกระ” ในภาคใต้ แต่เมื่อผลักดันไม่สำเร็จ! จึงเปลี่ยนมาเป็น “แลนด์บริดจ์” ที่จ.กระบี่-ขนอม และปากบารา จ.สตูล-ท่าเรือสงขลา แต่ก็ยังไม่สำเร็จ! จนกระทั่งช่วงปลายรัฐบาลที่แล้วได้ให้กระทรวงคมนาคม-สนข. ปัดฝุ่นศึกษาแลนด์บริดจ์อีกครั้ง แต่คราวนี้ย้ายตำแหน่งมาที่ จ.ชุมพร-ระนอง

นายชยธรรม์ยืนยันไม่ทำแลนด์บริดจ์แบบเดิมอีก ไม่เอา “อินฟราสตรัคเจอร์ ดิเวลลอปเมนท์” แต่ต้องตีโจทย์ออกมาก่อนว่าถ้าสร้างอินฟราสตรัคเจอร์แล้วใครจะมาใช้ ต้องเป็น “บิซิเนส โมเดล” ก่อนแล้วจึงมาออกแบบรายละเอียดโดยนักลงทุนที่มองเห็นโอกาสและประโยชน์คุ้มค่า อย่าเพิ่งไปคิดกันว่าทำแล้วคุ้ม! หรือไม่คุ้ม! เพราะไม่ใช่หน้าที่!

ปัจจุบันเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลกคือช่องแคบมะละกา-ท่าเรือสิงคโปร์ ซึ่งต้องอ้อมและมีสภาพแออัดมาก (มีเรือขนสินค้าและน้ำมันดิบ ผ่าน 8-9 หมื่นลำ/ปี) โดยต้องใช้เวลาประมาณ 9 วัน จึงจะผ่านไปได้

แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้แลนด์บริดจ์ระนองชุมพร จะลดเวลาเหลือแค่ 5 วัน ประหยัดค่าขนส่งสินค้า (ตู้คอนเทเนอร์) จากต้นทางปลายทาง ประมาณ 15% ประหยัดค่าขนส่งน้ำมันดิบไปได้ 6%

ทุกวันนี้มีการขนน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง ผ่านช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์ ไปจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี-ไทย-เวียดนาม-ฮ่องกง-ไต้หวัน ไม่ต่ำกว่า 13 ล้านบาร์เรล/วัน โดยไทยนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 973,486 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่า 91,579 ล้านบาท/เดือน (ข้อมูล ม.ค.-พ.ย. 66)

แม้จะต้องสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 แห่งที่ชุมพร-ระนอง แต่มีการวางแนวคิดให้แลนด์บริดจ์เป็นซิงเกิลพอร์ต (ท่าเรือเดียว) ซิงเกิลโอเปอเรเตอร์ คือบริหารจัดการคนเดียว เพราะถ้ายกตู้คอนเทเนอร์ขึ้น ๆ ลง ๆ แล้วชาร์จทีหนึ่ง ไม่ไหวแน่นอน แลนด์บริดจ์เป็นการขาย “โลเกชั่น” ประเทศไทย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของเส้นทางคมนาคมขนส่งของโลก ส่วนจะคุ้มทุนกี่ปี? เป็นเรื่องของเอกชน แต่อายุ “สัมปทาน” กี่ปี? ประเทศไทยให้ได้เต็มที่ตามกฎหมาย

จุดขายสำคัญที่สุดของแลนด์บริดจ์คือ “ลดเวลาการขนส่ง-ลดต้นทุนค่าขนส่ง” จากที่เคยผ่านช่องแคบมะละกาและท่าเรือสิงคโปร์ แค่นั้นเอง! ส่วนเรื่องอื่น ๆ เป็นประเด็นรอง!

เงินลงทุน 1 ล้านล้านบาท นิดเดียว! ถ้าตู้สินค้า-น้ำมันดิบที่เคยผ่านช่องแคบมะละกา เพียงแค่ 25% ย้ายมาใช้แลนด์บริดจ์ รวมทั้งการขนน้ำมันดิบเข้าไทยไม่ต้องอ้อมสิงคโปร์อีกต่อไป แล้วจีนขนสินค้าทางรถไฟมาลงท่าเรือ จ.ระนอง ปัจจุบันจีนขนสินค้ามาลงเรือที่แหลมฉบังอยู่แล้ว ลองนึกภาพกันเอาเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการสร้างงาน สร้างรายได้ในประเทศไทย!!

———————-
พยัคฆ์น้อย