ทั้งนี้ สำหรับในประเทศไทยเรา…ก็เกิดการ “สูญเสียมากทั้งทรัพย์สินและชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถ” อย่างต่อเนื่องมาเนิ่นนานหลายปีดีดักแล้ว โดยที่… “ทุก ๆ การเกิดอุบัติเหตุบนถนน 1 ครั้ง ไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่การเสียชีวิต 1 ครั้งจากอุบัติเหตุทางถนนนั้นยังส่งผลกระทบต่อครัวเรือน ภาครัฐ และภาคเอกชนอีกด้วย โดยมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุ 1 ครั้งนั้น อาจจะส่งผลทำให้จีดีพีประเทศไทยสูญเสียได้มากถึงร้อยละ 6”

…นี่เป็น “ผลกระทบจากอุบัติเหตุบนถนน” ที่ทาง ดร.ภญ.ฐิติพร สุเเก้ว วิเคราะห์และสะท้อนเอาไว้ผ่านบทความชื่อ “รถ(ยัง)ชน-คน(ยัง)ตาย เพราะรัฐพยายามไม่มากพอ หรือติดกับดักอะไร?” ซึ่งการวิเคราะห์ดังกล่าวนี้ได้มีการตีพิมพ์ไว้ใน วารสาร SDG
Highlights 2023
ของทาง ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้มีการ…

ตั้งคำถาม “ปัจจัยทำให้ปัญหาไม่ลด?”

และก็…”ชวนคนไทยร่วมหาทางออก”

ทั้งนี้ ทาง ดร.ภญ.ฐิติพร ได้มีการสะท้อนไว้ว่า… อุบัติเหตุทางถนนเป็น 1 ใน 5 สาเหตุสำคัญการเสียชีวิตของคนไทย โดยรองจากโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง ปอดอักเสบ และโรคหัวใจ โดยการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้งส่ง “ผลกระทบ” ทั้งทางเศรษฐกิจ
และทางสังคม ซึ่งถ้าหากยังไม่สามารถ “ลดอัตราความสูญเสีย” หรือ “มีระบบแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ” ก็ย่อมจะส่งผลต่อโอกาสของประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัย จากการที่ ประชากรของไทยต้องบาดเจ็บ เสียชีวิต และพิการ จาก “อุบัติเหตุ” ที่เกิดขึ้นมากบนถนน…นี่เป็นภาพรวมผลกระทบที่เกิดจากปัญหานี้ ที่ความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนนี้มัก “เกิดเพิ่มขึ้นมากในช่วงเทศกาล” โดยเทศกาลปีใหม่ 2567 ก็มียอดเจ็บตายไม่ใช่น้อย ๆ

ในบทวิเคราะห์ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อ… ยังระบุถึง “ปัญหาอุบัติเหตุในไทย” โดยเฉพาะช่วง “เทศกาลปีใหม่” ไว้ว่า… จากสถิติที่เก็บรวบรวมเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุ-การเสียชีวิต… มีความสูญเสียเกิดขึ้นคล้ายคลึงกันในช่วงเวลานี้ของทุกปี ยกเว้นแค่ปี 2563 ที่เกิดโควิด-19 แพร่ระบาด ประชากรมีข้อจำกัดการเดินทาง ที่ตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมีอัตราลดลง ซึ่งเมื่อจำแนกตามรายภาค พบว่า… ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีอัตราเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสูงที่สุด ขณะที่กรุงเทพฯ มีอัตราเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่าภาคต่าง ๆ ซึ่งอาจเพราะคนกรุงเทพฯ มีทางเลือกการเดินทางที่มากกว่า…

นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ลดอุบัติเหตุ

จากปัจจัยทางเลือก และ “ข้อจำกัด” ของ “การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ” ที่พบว่า…ประชากรภาคต่าง ๆ ยังคงมีข้อจำกัดการเดินทางมากกว่าประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯ กรณีนี้ก็อาจถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ “ส่งผลต่อแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุมากกว่า” ของประชากรภาคต่าง ๆ ด้วย จากการที่ต้องพึ่งพาการเดินทางบนท้องถนนมากกว่า ทำให้มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุมากกว่า ซึ่งถ้า “ลดข้อจำกัด” นี้ได้ก็อาจช่วย “ลดการเกิดอุบัติเหตุ” ได้ …นี่เป็น “ข้อสังเกตน่าคิด”

ขณะที่ในแง่ผลกระทบจากอุบัติเหตุ เรื่องนี้ ดร.ภญ.ฐิติพร ระบุไว้ว่า… ทุกครั้งที่มี “อุบัติเหตุบนถนน” จะ เกิดผลกระทบทั้งทางตรง-ทางอ้อม กับสังคมในหลายมิติ อาทิ ต่อผู้ใช้ยานพาหนะ ต่อเหยื่อ-ครอบครัว อีกทั้งเป็นการเพิ่มภาระแก่ระบบต่าง ๆ เช่นกฎหมาย การแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึง กระทบต้นทุนระบบสุขภาพ เช่น ความพิการ ที่เป็นผลกระทบระยะยาว ที่ไม่เพียงกระทบระบบสุขภาพแต่ยังส่งผลต่อศักยภาพการสร้างรายได้ในอนาคต ดังนั้น… “แก้ปัญหาอุบัติเหตุบนถนน” ไม่เพียงจะช่วย “ลดความสูญเสีย” เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการ “สร้างโอกาสให้ประเทศไทย” อีกด้วย …นี่เป็นความจำเป็น…

เป็น “ความสำคัญ” ที่ “ไทยต้องทำ”

ทั้งนี้ จากกรณีปัญหาและการสูญเสียโอกาสที่มาจากผลพวง “อุบัติเหตุบนท้องถนน” ก็ได้นำสู่แนวคิดเรื่อง “วิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย” โดย ดร.ภญ.ฐิติพร สุเเก้ว แจกแจงเรื่องนี้ไว้ว่า… ประกอบไปด้วยสาระสำคัญ ดังนี้… 1.ต้องทำให้ระบบจราจรปลอดภัยที่สุด เพราะมนุษย์มักจะมีความพลาดพลั้งอยู่เสมอ ดังนั้น ถ้าความผิดพลาดของมนุษย์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จึงจำเป็นต้องทำให้ระบบจราจรปลอดภัยมากที่สุด 2.ต้องสร้างระบบป้องกันที่มีประสิทธิภาพ เพราะร่างกายมนุษย์มีความบอบบาง สามารถรับแรงกระแทกได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น หากมีอุปกรณ์ป้องกันที่ดีก็จะช่วยลดความสูญเสียลงได้

3.ผู้ใช้ถนนต้องได้รับการปกป้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้รถ คนเดินเท้า ผู้มีข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น คนพิการ เด็ก ผู้สูงอายุ มีความเปราะบางต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต จึงต้องได้รับการปกป้อง รวมถึงมีเครื่องมือที่จะปกป้องตนเอง 4.ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ทั้ง
ผู้ออกแบบถนน ผู้รับเหมา ผู้บำรุงรักษาถนน ผู้ผลิตยานพาหนะผู้ใช้รถใช้ถนน รวมถึงผู้ให้บริการการแพทย์ ต้องช่วยกันป้องกันอุบัติเหตุ และ 5.ทุกส่วนของระบบต้องได้รับการสนับสนุน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทวีคูณ และถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดล้มเหลว ผู้ใช้ถนนก็จะยังคงได้รับการปกป้อง …นี่เป็นสาระสำคัญ “แนวคิด” ที่ก็ยิ่ง “น่าคิด และน่าทำ”…

“ลดอุบัติเหตุทางถนน” ไทยต้องใส่ใจ

“ข้อเสนอแนะ” ยัง “มีข้อมูลน่าคิดอีก”

เช่นไร?-อย่างไร?…ตอนหน้ามาดูต่อ