น่าจะเป็น “เชื้อ” มาจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อ ส.ค.64 ว่าโควิด-19 ฉุดรายได้ครัวเรือนหายไปกว่า 1.8 ล้านล้านบาท คาดว่าปี 65 จะหายไปอีก 8 แสนล้าน
ดังนั้นจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นเพื่อช่วยให้ฐานะของประชาชนและธุรกิจเอสเอ็มอีกลับมาฟื้นตัวเร็วที่สุด รัฐบาลควรกู้เงินอีกอย่างน้อย 1 ล้านล้าน เพื่อพยุงรายได้ประชาชน แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะจะขยับไปถึง 70% ในปี 67
ต่อมา 20 ก.ย. 64 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้ทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จากเดิมไม่เกิน 60% เป็นไม่เกิน 70%
ย้อนกลับไป 7 มิ.ย. 61 พล.อ.ประยุทธ์ออกประกาศมติ “คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ” ว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี ต้องไม่เกิน 60% และสัดส่วนภาระหนี้รัฐบาล ต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ไม่เกิน 35% เป็นต้น
สรุปปี 61 พล.อ.ประยุทธ์กำหนดว่าหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% เพราะเกรงรัฐบาลหลังจากนั้นจะหมดเงินไปกับ โครงการ “ประชานิยม” แต่สุดท้ายกลายเป็นว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ใช้เงินมือเติบ! ผ่านโครงการ “ประชารัฐ” แจกเงินสะเปะสะปะ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หว่านเงินให้ผู้นำเหล่าทัพซื้ออาวุธ จนสื่อมวลชนมอบฉายาให้ว่า “รัฐบาลVERYกู้”
เนื่องจากจัดงบฯ ขาดดุลเพียบทุกปี! แถมต้องขอกู้ฉุกเฉิน 2 ครั้ง เมื่อ เม.ย. 63 จำนวน 1 ล้านล้าน และ พ.ค.64 อีก 5 แสนล้าน แต่คนไทยได้ฉีดวัคซีนแค่ 45.21 ล้านโด๊ส (20 ก.ย.64) ฉีดแบบไขว้ กันไปหมด ยังเปิดประเทศไม่ได้ เป็นช่วงเวลา 7 ปีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อหนี้สาธารณะไว้เพียบ! แต่คนไทยยังไม่ได้นั่งรถไฟความเร็วสูงเลย
แต่ 20 ก.ย.64 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เห็นชอบให้ขยับเพดานการก่อหนี้ไปถึง 70% ซึ่งคงจะต้องกู้อีก 1 ล้านล้าน ตามที่ผู้ว่าการ ธปท. ออกมาปูทางไว้! แต่กู้แล้วมีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่? นั่นอีกเรื่องหนึ่ง กู้แล้วจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่? ไม่มีใครทราบ เพราะเหตุผลของการกู้ ตั้งอยู่บนสมมุติฐานการคาดการณ์!
ที่แน่ ๆ “บลูมเบิร์ก” เพิ่งออกมาฟาดเปรี้ยง! ด้วยผลสำรวจว่าปี 65 เศรษฐกิจไทยถดถอยหนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย
ทางด้าน ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ไทยยังเป็นประเทศยากจน ดังนั้นจึงไม่ควรเป็นหนี้มาก เราอย่าไปเอาอย่างญี่ปุ่น-อเมริกา เขาเป็นเศรษฐีมีเครดิต ถึงจะมีหนี้มากแต่ไม่เป็นไร แต่ไทยควรดูตัวอย่างบราซิลเคยเป็นหนี้ 80% ต้องล้มละลาย เพราะถูกโจมตีตลาดหุ้น ถูกถอนเงินดอลลาร์ ทรัพย์สินจำพวกบ้าน-ที่ดิน มีมูลค่าลดลง
ส่วนไทยเคยล้มละลายเมื่อปี 40 เพราะหนี้มาก และถูกโจมตีค่าเงินบาท แต่ช่วง 3-4 ปีนี้เอาอีกแล้ว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กู้สนั่น! กู้โปะงบประมาณขาดดุล กู้ฉุกเฉิน แต่หวังว่าจะเก็บรายได้ (ภาษี) ได้มากขึ้น เพราะคิดว่าเศรษฐกิจจะดี
เศรษฐกิจจะดีได้อย่างไร? ในเมื่อ “ผู้นำ” ไม่มีองค์ความรู้ ขาดความน่าเชื่อถือ นักลงทุนไม่เชื่อมั่น แถมก่อหนี้ไว้มาก สุดท้ายจะถูกโจมตีค่าเงินอีก
ยกตัวอย่างเมียนมาก่อนรัฐประหารจีดีพีโต 8% แต่ปัจจุบันจีดีพีเมียนมาติดลบ 18% ส่วนไทยเอาแต่กู้มาจ่ายดอกเบี้ย ถ้ากู้อีก 1 ล้านล้าน จีดีพีจะขยับขึ้นหรือเปล่า แต่ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ขยับ สุดท้ายแล้วต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือลดความฟุ่มเฟือยให้มากกว่าการกู้ ลดการซื้ออาวุธ เลิกโครงการไอโอ-กอ.รมน.ที่ไม่จำเป็น ลดการซื้ออุปกรณ์ปราบจลาจล และต้องทราบว่ารัฐราชการในปัจจุบันมีขนาดอุ้ยอ้ายเกินไป.
———————
พยัคฆ์น้อย