ทั้งนี้ “ภัยเพจที่พักปลอม” ในไทยกำลังเป็นอีกปัญหาที่สร้างผลกระทบอย่างหนักมิใช่เล่น ๆ โดยมีผู้เสียหาย-มีเหยื่อที่หลงติดกับดักของมิจฉาชีพกลุ่มนี้กันเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย ๆ ถึงขึ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการ “แจ้งเตือน” ให้ประชาชน ’ระวังกันเป็นพิเศษ“ รวมถึงในช่วงเทศกาลปีใหม่…

“ภัย” เกี่ยวกับ “ที่พักปลอม-ที่พักทิพย์” นี่ทาง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ก็มีการออกมาระบุเตือน แจ้งเตือนให้ประชาชนที่มองหา “ที่พักช่วงเทศกาลปีใหม่” ให้ระวังจะตกเป็นเหยื่อ ’มิจฉาชีพออนไลน์“ ซึ่งกำลังระบาดหนักในเวลานี้ โดยพบผู้เสียหายจาก “เพจที่พักทิพย์” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถึงแม้จะมีมาตรการคุมเข้มแล้วก็ตาม แต่ก็คงไม่สามารถจะป้องกันได้ทั้งหมด เพราะมิจฉาชีพออนไลน์มีการ ’คิดมุกใหม่ ๆ…หารูปแบบใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้หลอกเหยื่อ“ ให้หลงกลติดกับดัก หลังจากที่มุกเก่า ๆ เล่ห์เดิม ๆ เริ่มจะใช้ไม่ได้ผลเหมือนที่เคย ทั้งนี้ เกี่ยวกับ ’ภัยเพจที่พักทิพย์“ นี้…

      ภัยนี้ระบาดมากรับเทศกาลหยุดยาว

      นี่ก็ ’ยิ่งสะท้อนพัฒนาการมิจฉาชีพ“

      ที่ยุคนี้ ’ใช้เทคโนโลยีเป็นหลุมพราง!!“

สำหรับ “รูปแบบที่พบบ่อย” ของ “ภัย” ดังกล่าวนี้ ข้อมูลจากทางกระทรวงดีอีที่มีการออกมาแจ้งเตือน โดยสังเขปมีว่า… จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพบว่า…มิจฉาชีพมักใช้ช่วงวันหยุดยาวเป็นช่องว่างในการหลอกลวงต้มตุ๋น โดยการหลอกลวงนั้นจากข้อมูลที่ได้รับมาส่วนใหญ่มิจฉาชีพจะ “ปลอมเฟซบุ๊ก” จะทำทีเป็น “ผู้ประกอบการที่พัก-โรงแรม-รีสอร์ท” จะโพสต์ประชาสัมพันธ์เพจที่พักปลอมเพื่อหาเหยื่อ โดย’เล่ห์ที่นิยมใช้“ คือ ’เล่ห์เกี่ยวกับราคา“  ซึ่งเพจที่พักปลอมเหล่านี้จะ ’ตั้งราคาถูกเกินจริง“ เพื่อ ’ดึงดูดเหยื่อให้ติดกับดัก“ และเพื่อ ’กดดันให้เหยื่อรีบโอนเงินจอง“ ก่อนจะพบว่า…

       ที่พัก “ไม่มีอยู่จริง” เป็น “ที่พักทิพย์”

       กว่าจะรู้ว่าเสียท่าก็เสียเงินไปแล้ว!!

 อย่างไรก็ตาม แม้ภัยนี้จะป้องกันยาก…แต่ก็ใช่ว่าจะป้องกันไม่ได้ ซึ่งสำหรับประชาชนที่หาที่พักนั้นก็ ’มีหลักระวังภัย“ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ “ที่พักทิพย์” ที่หลอกลวง โดยหลักหรือแนวทางระวังภัยเรื่องนี้ทาง ตำรวจไซเบอร์ หรือ กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เคยให้ข้อมูลแก่ประชาชนไว้ เกี่ยวกับ…

’10 วิธีป้องกันภัยเพจที่พักปลอม“

 ข้อมูล-แนวทางหลักระวังภัย ระบุไว้ว่า… เล่ห์เหลี่ยมที่มิจฉาชีพกลุ่มนี้ใช้นั้น จะมี 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ… รูปแบบแรก ’สร้างเพจปลอมขึ้นอิงกับเพจจริง“ โดยตั้งชื่อเพจใช้ชื่อเพจให้เหมือนเพจที่พักจริง แถมใช้ภาพโปรไฟล์  เนื้อหา กิจกรรม และโปรโมชันต่าง ๆ จากเพจที่พักจริง โดยจะ ใช้เทคนิคยิงโฆษณาสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อเข้าถึงเป้าหมายที่ต้องการ ส่วนอีกรูปแบบคือ ’ใช้บัญชีเฟซบุ๊กอวตาร“ โดยมักอ้างเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือแฝงตัวเป็นลูกค้าทั่วไปเข้าไปในกลุ่มแนะนำโรงแรมหรือที่พักต่าง ๆ โดยโพสต์ข้อความขายบัตรกำนัลที่พักในราคาถูกเกินจริง ซึ่งไม่ว่าแบบใดเมื่อ “เหยื่อหลงเชื่อโอนเงิน” ให้…

       มิจฉาชีพก็จะปิดบล็อกช่องทางที่ใช้

      เหยื่อไม่สามารถติดตามติดต่อได้อีก

 ทั้งนี้ ในส่วนของ “วิธีป้องกันการถูกหลอกลวงจากเพจที่พักปลอม” ที่ทางตำรวจไซเบอร์ได้ให้แนวทางเอาไว้ 10 วิธีนั้น ก็มีดังต่อไปนี้คือ… 1.หลีกเลี่ยงการโอนเงินไปบัญชีบุคคลธรรมดาในการจ่ายมัดจำค่าที่พัก โดยบัญชีที่โอนเงินควรต้องเป็นบัญชีชื่อที่พัก หรือบัญชีบริษัทเท่านั้น 2.สำรองที่พักผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการสำรองที่พักออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ หรือผ่านเว็บไซต์ของที่พักโดยตรง 3.ตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำหรือชื่อคล้ายกันหรือไม่  โดยหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีหลาย ๆ เพจที่มีชื่อซ้ำ ๆ กัน ก็ยิ่งต้องตรวจสอบดูอย่างละเอียด ก่อนที่จะทำการโอนเงินจองที่พัก

4.ต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้ายืนยันตัวตน นี่เพจเฟซบุ๊กที่พักจริงจะต้องมี ซึ่งถ้าหากไม่มีเครื่องหมายยืนยันดังกล่าวให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า…เพจนั้นเป็นเพจปลอม 5.ควรโทรศัพท์ไปสอบถามก่อนจะโอนเงิน ว่าเพจที่พักดังกล่าวที่จะจองหรือจ่ายเงินจองนั้นถูกต้อง
หรือไม่ และชื่อหรือเลขที่บัญชีที่จะโอนเงินไปให้นั้นถูกต้องหรือไม่ 6.เพจเฟซบุ๊กจริงส่วนใหญ่จะมีส่วนร่วมในการโพสต์  เนื้อหา รูปภาพ กิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจะมีรีวิวที่พักจากผู้เข้าพักจริง … นี่ก็จุดสังเกต

7.เพจปลอมมักมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน 8.ควรระวังประกาศโฆษณาที่พักราคาถูก หรือที่อ้างว่าหลุดจอง ให้มากเป็นพิเศษโดยเฉพาะช่วงเทศกาลต่าง ๆ ที่มีความต้องการที่พักสูงกว่าช่วงอื่น ๆ9.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อใด ๆ มาก่อนหรือไม่ หรือผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด และ 10.หมั่นตรวจสอบข่าวสารจากทางราชการอยู่เสมอ เพื่อให้มีข้อมูลกลโกงของมิจฉาชีพ …เหล่านี้เป็น “คำแนะนำวิธีป้องกัน”

      จะไปท่องเที่ยวช่วงปีใหม่-จะ ’หาที่พัก“

      ก็ ’ระวังเสียเงินจองให้โจรออนไลน์!!“

      ระวัง!!…เป็นเหยื่อโจรที่พักทิพย์!!“.