เราได้ดูงานเกษตรกรของญี่ปุ่น ทำให้ได้เห็น ได้เรียนรู้ และได้เปลี่ยนมายด์เซ็ทตัวเองครั้งใหญ่เลย” เสียงจากหนึ่งใน “ตัวแทนเกษตรกรไทย” เผยความรู้สึกการได้ “ศึกษาวิถีเกษตรกรญี่ปุ่น” ที่ทำให้รู้สึกประทับใจและดีใจ เพราะนอกจากจะได้เห็นรูปแบบการทำงานเกษตรของญี่ปุ่นแล้ว หลาย ๆ เรื่องที่ได้สัมผัสยังสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ นำกลับมาใช้กับงานเกษตรที่เมืองไทยด้วย โดยกิจกรรมนี้ทาง “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)” สนับสนุน ซึ่งทาง “ทีมวิถีชีวิต” ก็ได้ร่วมคณะเกษตรกรไทยกลุ่มนี้ด้วย และวันนี้ก็มีเรื่องราวนำมาบอกเล่า-นำมาฝากกัน…

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ ...พาเกษตรกรไทยที่เป็นลูกค้ามาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเกษตรกรเหล่านี้ต่างเป็น เกษตรกรหัวขบวน และผู้ประกอบการ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ถามว่าแตกต่างจากการดูงานปกติอย่างไร แตกต่างแน่นอน เพราะเกษตรกรไทยจะได้เห็นของจริง ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเกษตรกรของญี่ปุ่น ซึ่ง การที่ได้เห็นของจริง ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับตัวจริง จะทำให้เกษตรกรไทยรู้สึกอิน และมองเห็นเป้าหมายสิ่งที่กำลังทำว่ามันทำได้ จริง ๆ”ทาง ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุถึง “หัวใจสำคัญ” ในการพากลุ่มเกษตรกรไทยศึกษาดูงานด้านเกษตรที่ญี่ปุ่นในครั้งนี้

กิจกรรมนี้ เกษตรกรไทยได้สัมผัส “วิถีเกษตรกรญี่ปุ่น” ในหลายแง่มุม ได้ศึกษาดูงานการเกษตร และธุรกิจการเกษตรต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ได้แก่ โรงกลั่นไวน์เก่าแก่ เมืองคุรุเมะ ที่เป็นพื้นที่แรกซึ่งปลูกองุ่นเคียวโฮที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น มีจุดเด่นที่เรื่องการ ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการรวบรวมผลผลิตคุณภาพจากเกษตรกร เช่น ผลไม้ตามฤดูกาล นำมาแปรรูป เป็นไวน์ผลไม้ และนอกจากที่นี่เกษตรกรไทยยังได้ไปเยี่ยมชมกิจการของเกษตรกรญี่ปุ่นอีกหลายแห่ง อาทิ โรงงานผลิตขนม Yufuin Goemon เมืองยูฟุอิน, China on the Park และ Arita Porcelein Park ที่ทำธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิกซึ่งมีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงในญี่ปุ่น, Hamanoura Rice Terraces ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวนาญี่ปุ่น ทำนาในรูปแบบนาข้าวขั้นบันได โดยเกษตรกรไทยได้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารต้นทุนการผลิต แนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์ การยกระดับสถานที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน จนมีชื่อเสียง นี่เป็นบางส่วนของโปรแกรม “เรียนรู้วิถีเกษตรญี่ปุ่น”

สำหรับเสียงเกษตรกรไทยที่ได้เห็นของจริง-สัมผัสของแท้ ก็บรรยายความรู้สึกต่างกันไป เริ่มจาก… ณฐนนท เจริญรมย์ ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง จ.ระยอง ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จากน้ำยางพารา PARARAKSA” ที่บอกว่า เมื่อสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ดีเข้ามาในหมู่บ้าน ทั้งภัยยาเสพติด ทั้งเรื่องหนี้สิน ทำให้เขามองว่าจะทำอะไรให้ชาวบ้านได้บ้าง ซึ่งเมื่อชาวบ้านเดือดร้อน ในฐานะที่ทำธุรกิจอยู่ในพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ก็ควรคิดหาวิธีช่วยชาวบ้าน จนต่อมาชุมชนไว้วางใจจึงมอบให้เขาเป็นผู้นำหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านเนินสว่างส่วนใหญ่มีอาชีพกรีดยางพารา ทำให้เขาคิดเรื่องการแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ โดยเมื่อเกิดไอเดียนี้จึงไปเรียนรู้ที่กรมการยาง พอกลับมาก็ลงมือทำทันที โดยเริ่มจากผลิตสินค้าแฮนด์เมด ประยุกต์เครื่องทำขนมปังนำมาใช้แปรรูปยางพารา เพราะถ้าใช้อุปกรณ์แท้ ๆ จริง ๆ ต้องใช้เงินลงทุนหลายล้านบาท แต่กลุ่มของเขามีเงินทุนเริ่มต้นแค่ 5,000 บาท ก็ทดลองดูว่าผลิตภัณฑ์จะขายได้หรือไม่ โดยตั้งเป้าว่าต้องมีรายได้ 700,000 บาท และขายออนไลน์อย่างเดียว

เราเริ่มจาก ตุ๊กตานวดมือคนที่มือชาหรือนิ้วล็อก ที่ทำจากยางพารา ซึ่งหลังวางจำหน่ายก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยข้อดีของยางพาราบ้านเนินสว่างคือมีค่าความยืดหยุ่นสูง” ณฐนนท บอกเรื่องนี้

พร้อมกับเล่าต่อว่า หลังจากนั้นเริ่มมีลูกค้าจากฮ่องกงมาสั่งทำสินค้า เบาะรองนั่งทำสมาธิ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แรกของกลุ่มที่ได้ร่วมทดลองทำกับลูกค้า ปรากฏขายได้รายได้เกือบ 2 ล้านบาท พอเข้าปีที่ 3 ก็เลยไปจดทะเบียนเป็น สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเนินสว่าง จนได้มาเข้าร่วม “โครงการ New Gen Hug บ้านเกิด” ของทาง ... ก็เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ โดยตอนแรกใช้ชื่อแบรนด์ “ไก่กา” แต่การที่ได้ร่วมแข่งขันครั้งนั้นทำให้รู้ว่าตัวสินค้ากับแบรนด์ไม่เข้ากัน ก็เลยมาเพิ่มแบรนด์ใหม่คือ “พารารักษา” และหันไปทุ่มให้กับการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของหลักสรีระศาสตร์ จนมั่นใจว่าสินค้าใช้ได้ผลดีมากจริง ๆ เขาจึงตัดสินใจขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ผ่าน โครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย จำนวน 6 ล้านบาท เพื่อมาทำโรงงานผลิตสินค้าให้มีมาตฐานขึ้น ที่เขาบอกว่า ช่วยพลิกโอกาสให้กับชาวบ้านอย่างมาก เพราะส่วนตัวมองว่านอกจากการที่รัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมให้ความรู้แล้ว การที่มีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแบบนี้ สำคัญกับผู้ประกอบการมาก เพราะช่วยให้ก้าวแรกได้เริ่มต้น

นอกจากสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแล้วยังให้ความรู้ด้วย ประทับใจวิธีการและวิธีคิดของ ธ... ที่ไม่ได้ให้เงินอย่างเดียว แต่ให้ความรู้ด้วย ซึ่ง การได้ดูงานที่ญี่ปุ่น ได้รับความรู้จริง ๆ ทำให้รู้ว่าจะต้องปรับตัวยังไง อย่างเรื่องแพ็คเกจจิ้ง หรือการพัฒนาเป็นเกษตรท่องเที่ยว ก็นำไปปรับใช้กับหมู่บ้านได้”ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง จ.ระยอง กล่าว

ส่วน ปคุณา บุญก่อเกื้อ เกษตรกรผู้ปลูกเมล่อน เจ้าของฟาร์มบ้านสวนเมล่อน FURANO จ.ฉะเชิงเทรา เล่าว่า ทำอาชีพเกษตรปลูกเมล่อนในโรงเรือนระบบปิดมากว่า 7 ปี มีสมาชิกรวม 92 ราย 152 โรงเรือน โดยมีการใช้เมล่อนมาทำเป็น ไวน์หวานแอลกอฮอล์ต่ำ ด้วย ซึ่งเกิดจากมีเมล่อน 10-30% ที่ต้องคัดออก จึงเกิดความคิดนำมาทำการแปรรูปเพื่อทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม จึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ยาสระผม ครีมนวด สบู่ โลชั่น อาหารสัตว์ ปุ๋ยจากเปลือกเมล่อน ส่วนเนื้อเมล่อนก็ต่อยอดทำเป็นเมนูต่าง ๆ เช่น ยำเมล่อน น้ำเมล่อนปั่น ไอศกรีมเมล่อน และต่อยอดมาสู่การผลิตไวน์หวานแอลกอฮอล์ต่ำ

เราก็คิดก็ทำมาตลอด แต่ปรากฏตลาดนั้นไม่สามารถเดินไปได้จริง ๆ ก็เลยตัดสินใจว่าจะลองทำไวน์แทน ซึ่งอยากย้ำว่าไม่อยากให้มองว่าเราเป็นสินค้าแอลกอฮอล์ แต่อยากให้เปิดใจว่าที่ผลิตสินค้าตัวนี้ก็เพื่อช่วยเกษตรกร ให้เขามีช่องทางแปรรูป มีทางเลือกในอาชีพเพิ่มขึ้น”ปคุณา ระบุ พร้อมเล่าว่า หลังตัดสินใจปรับเปลี่ยน ก็ได้ทาง ... ช่วยสนับสนุน ทั้งเงินทุน ความรู้ โดย การได้ดูงานโรงกลั่นไวน์เก่าแก่ที่ญี่ปุ่น ทำให้ได้ความรู้ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทคนิคการสร้างแบรนด์

ตอนนี้เราได้เริ่มนำข้าวจากบางน้ำเปรี้ยวกับมะม่วงมาแปรรูปเป็นไวน์ด้วยแล้ว เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงขายผลผลิตไม่ทัน และก็ยังนำมะพร้าวมาทำด้วย โดยความตั้งใจของเราคือ เราคิดว่าผลผลิตทางการเกษตรที่ทุกคนมองว่าไม่ค่อยมีคุณค่า เราจะนำมาทำให้มีมูลค่าเพิ่มให้มากที่สุด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในฉะเชิงเทรา” เป็นความตั้งใจของทาง ปคุณา เกษตรกร-ผู้ประกอบการด้านเกษตร พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา หนึ่งในเกษตรกรไทยที่ได้รับคัดเลือกจาก ธ.ก.ส. ไปดูงานที่ญี่ปุ่น

ด้าน ปนิดา มูลนานัด ประธานวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน ผู้ผลิตสินค้าแปรรูปจากกล้วย พื้นที่ จ.เพชรบุรี เล่าให้ฟังว่า ก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2522 ต่อมาในตอนหลังเปลี่ยนเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งที่มาชื่อกลุ่มนั้นมาจากคำว่าวัยเบาหวาน เพราะสมาชิกในกลุ่มล้วนเป็นผู้สูงอายุ …เธอบอกเล่าเรื่องนี้ พร้อมเล่าว่า ทางกลุ่มแปรรูปกล้วยหอมทองเป็น 3 ประเภท คือ 1.แปรรูปเป็นอาหาร 2.ทำเครื่องสำอางจากเปลือกและน้ำในต้นกล้วย 3.ทำเส้นใยเสื้อผ้าและกระดาษจากลำต้น

จะเรียกว่าวัยหวานเราเติบโตมาได้เพราะ ...เลยก็ได้ เพราะเข้ามาสนับสนุนตั้งแต่ต้น โดยช่วยตั้งแต่การนำไปอบรมเรื่องบรรจุภัณฑ์ การรีแบรนด์ การทำบัญชี นอกจากนั้นยังช่วยเรื่องการเงิน ผ่านสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ทำให้เรามีทุนมาสร้างห้องผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน จนทำให้เราได้รับ อย. จากผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารด้วย ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น อีกทั้งได้อนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เราอีกรอบ ทำให้เรามีทุนมาซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตสินค้าได้มากขึ้น ล่าสุดก็พา ศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น ทำให้ได้ไอเดียดี ๆ เพื่อปรับใช้ ที่ไทย” ปนิดา ประธานวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน จ.เพชรบุรี บอก

ขณะที่ ศิริพร สอนใจ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว กลุ่มรุ่งอรุณ พื้นที่ จ.กาญจนบุรี ที่แปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ เล่าว่า กลุ่มนี้ตั้งขึ้นจากการรวมตัวของชาวนาในพื้นที่ราว 10 กว่าปีก่อน ที่อยากยกระดับคุณภาพชีวิต เพราะที่ผ่านมาก็ได้แค่ประคองตัว จึงตัดสินใจรวมตัวกันผลิตข้าวบรรจุถุงจำหน่ายเอง โดยเป็นข้าวปลอดสาร ไม่อบยาฆ่ามอด แต่ผ่านมาระยะหนึ่งตลาดข้าวเริ่มแข่งขันกันสูง จึงมองว่าถ้าไม่พัฒนาจะอยู่ไม่ได้ จึงคิดว่าควรจะเพิ่มมูลค่ายังไง จนมีการนำเอาจมูกข้าวซึ่งเป็นส่วนที่มีประโยชน์ที่สุดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ “ผงจมูกข้าวพร้อมชง” จนสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นจากเดิม ทั้งนี้ เดิมทีกลุ่มมีสมาชิกอยู่ราว 100 กว่าราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย อายุ 70-80 ปี ต่อมามีเสียชีวิตไปบ้าง จนปัจจุบันเหลืออยู่ราว 40-50 คน โดยปัญหาที่ตามมาตอนนี้คือคนรุ่นใหม่ไปเรียนนอกหมู่บ้าน ไม่ได้สืบทอดการทำนาของพ่อแม่ ทำให้ในอนาคตไม่รู้ว่าจะมีเกษตรกรทำนาอยู่ต่อไปหรือไม่ “การมาดูงานครั้งนี้ อยากนำแนวคิดของญี่ปุ่นไปพัฒนาทำเกษตรท่องเที่ยวที่บ้านของเรา แบบเมืองซากะที่เขาทำนาขั้นบันได เพราะถ้ามีการท่องเที่ยวเข้ามา คนในชุมชนก็จะมีรายได้ และเมื่อมีรายได้เยาวชนก็จะไม่ต้องออกไปไหน อยู่บ้านและหันมาพัฒนาบ้านของตัวเอง จึงถือว่าโชคดีมาก ๆ ที่ได้มาญี่ปุ่นครั้งนี้ ซึ่งถ้าไม่ได้มากับ ...ก็ไม่รู้ว่าในชีวิตของชาวนาแบบเราจะมีโอกาสได้มามั้ย”ศิริพร กลุ่มรุ่งอรุณ จ.กาญจนบุรี กล่าว

เจ้าของโรงงานเซรามิก กับสมคิด

สุดท้ายคือ สมคิด บุดดาวงค์ เจ้าของสมคิดเครื่องปั้นดินเผาหนองโสน จ.นครราชสีมา ซึ่งร่วมทริปนี้ด้วย เล่าว่า เขาทำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน โดยช่วงหลังได้หันมาเน้นผลิตภัณฑ์เซรามิกเครื่องเคลือบ โดยแต่ก่อนต้องใช้ดินลำปาง แต่ต่อมาอยากสร้างเอกลักษณ์ให้ชิ้นงานจึงนำดินด่านเกวียนมาผลิตชิ้นงาน แต่ก็มีปัญหาที่ว่าดินด่านเกวียนจะใช้ได้ดีเมื่อเผาที่อุณหภูมิ 600 องศาเซลเซียส แต่การเผาเครื่องเคลือบนั้นจะต้องใช้ความร้อนราว 800-1,200 องศาเซลเซียส น้ำยาเคลือบจึงจะละลาย เรื่องนี้กำลังศึกษาทดลองเพื่อหาวิธีแก้อยู่ ซึ่ง การได้ดูงานที่ Arita Porcelein Park ที่เป็นโรงงานเซรามิกเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นครั้งนี้ ทำให้ได้แนวคิด ได้ไอเดียใหม่ ๆ มากมาย รวมถึงได้เห็นเทคนิคต่าง ๆ ที่คนญี่ปุ่นใช้ อีกด้วย

“ดีใจจริง ๆ ที่เราได้มาเห็นโรงงานทำเซรามิกของญี่ปุ่น เพราะเขาเชี่ยวชาญด้านนี้มานาน ทำให้เราได้เทคนิคใหม่ ที่สามารถนำเอาไปใช้กับผลิตภัณฑ์ของเราที่ประเทศไทยได้” สมคิด ผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิกเครื่องเคลือบ บอก

…และนี่ก็เป็น “เสียงเกษตรกรไทยเสียงวิสาหกิจชุมชนไทย” ที่สะท้อนไว้กับทาง “ทีมวิถีชีวิต” ในโอกาสที่ได้ “เยือนแดนอาทิตย์อุทัย” เพื่อ “ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนความรู้กับเกษตรกรญี่ปุ่นวิสาหกิจชุมชนญี่ปุ่น” โดยการสนับสนุนของ ...-ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่นอกจากจะเก็บเอาความประทับใจในสิ่งที่ได้รู้ได้เห็นได้สัมผัสที่ญี่ปุ่นกลับมาไทยแล้ว ก็ยังได้แนวทาง “อัปสกิล” ซึ่งทุกคนที่ได้ร่วมทริปนี้ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า…

“ได้ความรู้ ได้ประโยชน์มาก ๆ”.

ฉัตรชัย ศิริไล ผจก. ธ.ก.ส.มอบของที่ระลึก

มายด์เซ็ท’ เพื่อ ‘เกษตรมูลค่าสูง’

“พาดูของจริง ดีกว่าเล่าให้ฟัง หรือให้ดูผ่านคลิป โดยเชื่อว่าการที่ได้สัมผัส ได้เห็นด้วยตาตัวเองเช่นนี้ น่าจะทำให้เกษตรกรไทยได้รับแรงบันดาลใจกลับไปด้วย” เป็นการระบุจาก ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ถึงเป้าหมายสำคัญของทริป “เกษตรกรไทยดูวิถีเกษตรกรญี่ปุ่น” พร้อมกับได้พูดถึง “กรณีศึกษาเกษตรกรญี่ปุ่น” ว่า มุ่งที่เกษตรกรที่เน้น “การผลิตแบบเกษตรมูลค่าสูง” ซึ่งการผลิตของเกษตรกรญี่ปุ่นไม่ได้เน้นผลิตจำนวนมาก ๆ แต่เน้นผลิตให้ได้มูลค่าสูง ๆ… “ญี่ปุ่นมีทรัพยากรจำกัด และอยู่ในภาวะสังคมผู้สูงอายุเหมือนประเทศไทย แต่ผสมผสานการทำการเกษตรกับการทำงานอย่างอื่นได้เป็นอย่างดี”ยกตัวอย่างเช่น โรงงานเครื่องปั้นดินเผา ที่มีคนงานเพียง 10 คน และพนักงานก็มีอาชีพทำเกษตร แต่ก็สามารถทำอาชีพอื่นควบคู่ได้อย่างน่าสนใจ แถมยังทำได้ดีเสียด้วย… “ทำให้ ธ.ก.ส. จึงอยากพาเกษตรกรไทยที่เป็นลูกค้ามาเห็นต้นแบบตัวจริง โดยเชื่อมั่นว่าเกษตรกรไทยที่ได้มาดูงาน น่าจะกลับไปพร้อมกับมายด์เซ็ทดี ๆ มากมาย”.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน