ตอนนี้ รัฐบาลเจอคำถามมากที่สุด เรื่องเงินดิจิทัล ได้เมื่อไร เงื่อนไขการใช้เป็นอย่างไร ฝ่ายอยากได้ก็อยากได้เร็วๆ ฝ่ายห่วงผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังก็ออกมาคัดค้าน ทัดทาน ว่า ระวังได้ไม่คุ้มเสีย เพราะรัฐบาลหวังรายได้จากภาษี จึงกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยโครงการนี้ แต่เอาจริงร้านค้าก็กลัวจะรับเงินดิจิทัลเพราะกลัวจะถูกตรวจสอบระบบภาษี คงได้ตามร้านสะดวกซื้อที่เขาจดภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว … “เสี่ยนิด”เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลังออกมาบอกว่า โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการผลิตและการจ้างงานได้จำนวนมาก

พอลองมาคิดๆ ดู … ไม่รู้นะนี่คิดเอง คือโครงการแจกหมื่นเนี่ยมันเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น 6 เดือน ซึ่งหากเพิ่มกำลังการผลิต หรือเพิ่มกำลังการจ้างงาน “มันควรจะเป็นการเพิ่มจากโครงการกระตุ้นระยะยาว” ไปบ้าจี้เพิ่มการจ้างแรงงาน เพิ่มอัตราการผลิตแค่ 6 เดือน ..หลังจากนั้นกำลังการบริโภคตกลงมาใครจะรับผิดชอบ โดยเฉพาะที่ประมาทไม่ได้เลยคือ เรื่องสงครามฮามาส อิสราเอล ซึ่งมีโอกาสให้โลกแบ่งเป็นสองขั้ว และกระทบราคาพลังงาน ..

แต่ก็ขอให้มีความหวังกับรัฐบาลไว้ก่อน เพราะเสี่ยนิดเขาเดินสายคุยภาคธุรกิจใหญ่ๆ หลายครั้งแล้ว และว่า ราวเดือน พ.ย.จะเห็นเรื่องการเข้ามาลงทุนในไทยเยอะขึ้น เพราะจะไปจูงใจอีกในช่วงประชุมเอเปค และปีหน้าจะโร้ดโชว์ท่องเที่ยวไทยในหลายประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็น สองขาสำคัญ ( อีกขาคือการส่งออก ) ระหว่างนี้ก็ให้พัฒนาเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ไป ..แต่อย่างที่เคยเขียนคือ การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ได้ต้องมีการสื่อสารผ่านสื่อ ถ้ายังผลิตเนื้อหาบันเทิงที่สอดแทรกการขายซอฟต์พาวเวอร์ไม่ได้ก็ไม่ไปถึงไหน ซอฟต์พาวเวอร์ต้องมีความเป็นวัฒนธรรมป๊อบที่เข้าถึงง่ายระดับหนึ่ง คนเข้าถึงได้ ไม่ใช่ยกเป็นเรื่องทาทองของสูงไปหมดว่านี่แหละไทย

ขณะที่อีกนโยบายของรัฐบาล ที่ดูจะยึกยักกว่าเรื่องของการแจกเงินดิจิทัล คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายคนเขาก็บอกว่า รัฐบาลทำเรื่องง่ายให้มันยาก.. คือที่ประกาศปาวๆ จะแก้รัฐธรรมนูญนี่ เพื่อไทยก็เคยใช้หาเสียง ว่าเป็น วาระสำคัญของรัฐบาล แต่ดูทำเข้า… พอมาเป็นรัฐบาลก็ตั้งคณะกรรมการชื่อย้าว..ยาว “คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560” คือประเทศนี้มันจะเอาความวิลิศมาหราเรื่องการตั้งชื่อไปไหน นักข่าวเขาบ่นมาว่า เขียนข่าวทีตูจำชื่อเต็มแทบไม่ได้

กรรมการชุดนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อศึกษาแนวทางทำประชามติ ….หลายๆ คนในตลาดเขาสงสัยว่า ศึกษาอะไรเหรอ ก็ได้แต่อธิบายไปว่า “คือกรรมการตั้งขึ้นเพื่อเขียนคำถามสำหรับทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ต้องตั้ง เพราะศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ จะแก้ไขยกร่างใหม่ก็ต้องไปทำประชามติเรื่องเกี่ยวกับวิธีแก้รัฐธรรมนูญไง”

คำถามต่อมา แล้วแก้ ม.256 ไม่ต้องตั้งกรรมการไม่ได้เหรอ ตอบว่า ก็ได้ .. เอา สส.เข้าชื่อ 1 ใน 5 ของ สส.ที่มีทั้งหมด หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอญัตติ หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อจำนวนห้าหมื่นคนขึ้น ก็เสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องไปคุยกับ สว.ให้เรียบร้อยให้ สว.อย่ามีปัญหาถ้าจะต้องแก้ เช่น อย่ามาอ้างว่า ทำไมไม่ทำประชามติก่อนเสนอญัตติแก้ ม.256  บอกไปเลยว่า ก็แก้ ม.256 ให้มันทำประชามติได้   

เสนอร่างแก้ไข ม.256 ก็ไม่ยาก เขียนไปว่า “ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกร่างใหม่ทั้งฉบับ  ให้มีการทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่าสมควรจะต้องยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยใช้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) หรือไม่ และนำผลการทำประชามตินั้นมาบังคับใช้” และอาจเติมวรรคเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขในส่วนรายมาตราต่างหาก เพราะถ้าไม่เขียนแยกไว้ หมายถึงว่า แก้รัฐธรรมนูญแต่ละมาตราก็ต้องทำประชามติกันอีก …ถ้าแก้ ม. 256 ผ่านสภาก็น่าจะจบ แล้วก็ไปทำประชามติเลย

แล้วต้องทำประชามติกี่หน ? ตรงนี้คณะกรรมการก็ยังไม่สรุป เพราะก็เพิ่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นและอนุกรรมการเกี่ยวกับการยกร่างให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไป ซึ่งถ้าไม่ให้แต่ละฝ่ายมีปัญหาเรื่องทำกี่หน นัดคุยวิปสามฝ่าย ( รัฐบาล , ฝ่ายค้าน, สว.) ได้หรือไม่ ? แทนการตั้งคณะกรรมการ ..ถ้าเอาให้แน่ๆ ประชามติแรกก็ข้อเสนอแก้ ม.256 จากย่อหน้าบน สลับคำนิดนึงว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ว่า ต้องมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยใช้ ส.ส.ร.” แต่จะมีปัญหานิดนึงว่า ส.ส.ร.ควรมาจากไหน ?  ถ้าจากการเลือกตั้งนี้จะใช้การเลือกตั้งอะไรเป็นเกณฑ์ การเลือกตั้งเขตโดยกำหนดจำนวนประชาชน พรรคการเมืองที่มีฐานคะแนนเสียงมากก็ชนะ ..ถ้าให้เลือกตั้งจากกลุ่มวิชาชีพ ก็ต้องมีกระบวนการรับรองอีกว่า ผู้ที่เสนอตัวเป็น ส.ส.ร.มาจากกลุ่มวิชาชีพนั้นจริงหรือไม่

จากนั้น เมื่อทำประชามติผ่าน ประชาชนเห็นควรให้แก้โดยใช้ ส.ส.ร. ก็เขียนกฎหมายลูกขึ้นมาถึงที่มา , อำนาจหน้าที่ของ ส.ส.ร. ระยะเวลาในการยกร่าง ..ถ้าเลือกตั้ง ส.ส.ร.ก็จะต้องเสียค่าเลือกตั้งอีก ซึ่งปี 67 ก็จะมีการสรรหา สว.ที่ระบบมันไม่ได้เหมือนการเลือก สส. ก็ไม่แน่ใจว่า จะหาลู่ทางทำประชามติพ่วงไปกับการเลือก สว.ได้หรือไม่ …ทีนี้ ถ้าต้องเขียนกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.ร. ก็ต้องให้ชัดเจนด้วยว่า “หลังยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วจะต้องทำประชามติทั้งฉบับอีกหรือไม่ ?” ซึ่งจะต้องมีกระบวนการรับฟังความเห็น และอธิบายเนื้อหารัฐธรรมนูญให้ประชาชนทราบอีก ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายอีกมาก ถึงได้กล่าวไว้ตอนต้นว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแล้วว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจสำเร็จหรือไม่

สรุปว่าประเทศนี้เวียนว่ายตายเกิดอยู่แต่กับการแก้กฎหมายให้ถูกใจนักการเมืองหรือเปล่า ?  เหตุผลที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่มันก็มีวนๆ กันอยู่แค่ว่า “ที่มามาจากรัฐประหาร สืบทอดมรดกรัฐประหาร” จะเขียนรัฐธรรมนูญกันไว้ว่าใครทำรัฐประหารมันต้องถูกประหารให้ตายตกไปตามกันก็ทำไม่ได้หรอก เพราะถ้ามีการยึดอำนาจ“สำเร็จ”จริง สภาพของการปกครองจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่ทหารถืออำนาจสูงสุดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รัฐธรรมนูญโดนฉีกไปเรียบร้อย แล้วใช้วิธีร่างฉบับชั่วคราวเพิ่มบทเฉพาะกาลว่าการกระทำรัฐประหารไม่เป็นความผิด และพอร่างรัฐธรรมนูญจริง ก็ไปรับรองเรื่องนี้ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวอีกครั้งหนึ่ง   

ที่น่าเบื่อคือ กรรมการชื่อยาวๆ ของนายภูมิธรรมก็ยังจะตั้ง “คณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น”ขึ้นมาอีก โดยนายนิกร จำนง อดีต สส.พรรคชาติไทยพัฒนาเป็นประธาน เหตุผลในการตั้งอนุกรรมการคือ “ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติฯ ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ในการออกกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัย ร่วมกันและเป็นที่ยอมรับร่วมกันตลอดจนสอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หารือแนวทางจัดทำและธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญ ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นที่มากขึ้นประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง”

อ่านดีๆ แค่ “จัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ” ไม่ใช่ “เนื้อหาที่รัฐธรรมนูญควรมี” ก็ไม่รู้ว่าจะรับฟังความเห็นประชาชนอะไรเยอะแยะ ประเทศนี้ชอบตั้งกันเหลือเกินคณะกรรมการรับฟังความเห็น รับฟังเสร็จก็เอาไปห้อยไว้ไหนไม่รู้ เพราะผู้ถืออำนาจ ฝ่ายการเมือง “เขามีธง” แล้วทั้งนั้นว่าจะเดินเกมอย่างไรต่อไป สมัยรัฐบาลทักษิณ ก็มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ก็มีกระบวนการรับฟังความเห็น ปัจจุบันนี้ไม่รู้รายงานฉบับนั้นสลายหายไปกับวิมานลอยที่ไหนแล้ว

สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังเหตุการณ์สลายม็อบ พ.ศ.2553 ก็มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีกระบวนการรับฟังความเห็นเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ แล้วก็จบ ..ฟังแล้วความเห็นหายไปไหนไม่บอกกันบ้างเลย มีแต่ข้อเสนอซึ่งก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลทำอะไรตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป 3 ชุดนั้นบ้าง ..พอมาสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ รับฟังความเห็นอีก จากกรณีที่มีม็อบ กปปส. แต่ม็อบตอนนั้นยังไม่ฟัง ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์อธิบายกันปากแฉะว่า “รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจพวกนี้เข้ามามีบทบาทในการบริหาร” ทำได้แค่ตั้งคณะกรรมการรับฟังความเห็นเพื่อการปฏิรูปโดยออกเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี

แต่อีม็อบ กปปส. ก็กระไรเลย คือเสนออะไรก็ไม่เอา บอกรัฐบาลปูต้องออกไปแล้วปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง ซึ่งตามกฎหมายมันทำไม่ได้ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้มีเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง พอ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยุบสภามันก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ก็ต้องมีการเสนอคนใหม่เป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งใหม่ มันไม่มีกฎหมายฉบับไหนในไทยเขียนว่า “กรณีที่ประชาชนอยากให้ปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง ก็ให้ปฏิรูปก่อน”

กปปส.ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณนั้น หมดราคาไปตั้งแต่พอนักข่าวถามว่า จะปฏิรูปอะไร คำตอบคือ “ให้ชนะแล้วจะบอก” แสดงให้เห็นว่าในหัวก็ยังไม่รู้จะทำอะไรนอกจากเร่งอุณหภูมิให้เกิดรัฐประหารหรือไม่ ? แล้วเป็นไง..เมื่อก่อนใครเป็น กปปส.นี่ภูมิใจได้เดินตามลุงกำนัน เดี๋ยวนี้แทบจะลบประวัติที่เคยโพสต์ทิ้งหมด อายเค้า.. ผลของ กปปส.คือ นายสุเทพออกไปตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งก็ไม่เห็นจะมีราคาอะไรมาก สส.ก็ได้จิ๊ดเดียว ไม่เห็นยิ่งใหญ่อลังการเหมือนตอนม็อบแรงๆ แถมตอนนี้พรรคแตก อีที่เคยชาบูๆบูชาๆ ลุงกำนันไปอยู่พรรคอื่นกันหมด ..ที่น่าจะแสบคือ ไม่รวมพลังประชาชาติไทยกันแล้ว .. แกนนำ กปปส.บางคนขอหนีไปรวมไทยสร้างชาติ แบบว่าอยู่กับลุงตู่มีอนาคตกว่า

ต่อมา ปลายรัฐบาลบิ๊กตู่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ทวงถามเรื่องการสร้างความปรองดองขึ้นมาอีกครั้งว่าจะเอาอย่างไร รัฐบาลบิ๊กตู่ก็เหมือนทำแบบขอไปทีเพราะดันไปร้องเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา” ดังนั้นต้องทำปรองดอง ก็ตั้งกรรมการรับฟังความเห็นอีก!! ไม่รู้จะถามกันไปถึงไหน แล้วสุดท้ายก็ได้ตุ๊กตาแมสคอตมาตัวนึงมาเต้นๆ แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ การเมืองก็ยังเดือดต่อ ประชาชนยังแบ่งขั้วต่อ

ประยุทธ์แถลงควบคุมไวรัสโคโรนาได้ 100% พร้อมตั้ง คกก.  รับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ 60 ราย | Brand Inside

ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการเมืองแต่ละครั้งไม่ใช่แค่เรื่องการเสียโอกาสในหลายๆ อย่าง แต่ยังมีเรื่องของค่าสาละวันเตี้ยลง ค่ารับฟังความเห็น ซึ่งไม่รู้ไปจัดรับฟังกันที่ไหน แต่มันต้องมีเบิกงบประมาณล่ะ…มีบางคนแถวๆ นี้บอกแล้วว่า เขาไม่แคร์หรอกว่าจะเอาความเห็นเขาไปฟังหรือเปล่า เพราะไอ้ที่จะจัดรับฟังความเห็นแค่พิธีกงเต๊ก เชื่อสิ ผู้มีอำนาจย่อมมีธงอยู่แล้วว่าทำอย่างไรให้ตัวได้อำนาจอยู่ต่อ อยู่ยาว และอีกอย่าง การรับฟังความเห็นเรื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญจริงๆ เขาไปให้กันตอนตั้ง ส.ส.ร.แล้วโน่น รับฟังความเห็นว่าจะทำประชามติหรือเปล่าฟังไปทำไม เมื่อเขาพูดกันปากฉีกหมดแล้วว่า ให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ( แต่ก็ไม่แน่ รับฟังความเห็นออกมาอาจกลายเป็นว่า แค่แก้รายมาตราก็พอ..ก็ได้ ) บุคคลท่านนี้จึงบอกว่า ถ้ารับฟังความเห็นเมื่อไรเขาจะไปด้วยเพื่อนั่งเฉยๆ เอาเบี้ยเลี้ยงประชุม

และเขายังทำนายว่า เผลอๆ ระบบวิ่งรวมเสียงข้างมากโหวตนายกฯ หลังเลือกตั้งน่าจะยังคงอยู่ด้วย เพราะเพื่อไทยก็ถูกครหาเยอะเรื่องความไม่สง่างามในการตั้งรัฐบาล ประกอบกับกระแสความต้องการเปลี่ยนแปลง คนอยากเลือกพรรคก้าวไกล ถ้ารัฐบาลบริหารงานได้ไม่ถูกใจประชาชนเหมือนสมัยทักษิณ 1 ก็ต้องมีทางลงไว้ด้วยว่า “ต้องมีโอกาสที่เพื่อไทยเป็นตัวแปรสำคัญในการรวมเสียงพรรคอื่นมาร่วมโหวตนายกฯ จากคนของเพื่อไทย” ไม่ใช่ สส.บัญชีรายชื่อลำดับหนึ่งของพรรคอันดับหนึ่งได้เป็นนายกฯ โดยอัตโนมัติ เพราะการเมืองวันนี้มันแบ่งขั้วกันในเชิงก้าวไกลซ้าย เพื่อไทย-ภูมิใจไทยขวา

เรื่องนี้ต้องบอกว่า …รอเวลาเท่านั้น แล้วเราจะรู้เอง

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”