ซึ่งปัญหากลิ่นปากในสุนัขเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยครั้งโดยเฉพาะในสุนัขที่อายุมาก ปัญหาดังกล่าวอาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ เจ้าของสุนัขจึงควรหมั่นสังเกต และหากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรพาสุนัขมาพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา ซึ่งสาเหตุของกลิ่นปากในสุนัขอาจมีสาเหตุมาจากประเภทอาหารที่กิน หรือของเล่นกัดแทะชนิดต่าง ๆ ที่มีกลิ่น หรืออาจเกิดจากสุขภาพที่ผิดปกติไป โดยโรคที่มักพบว่าส่งผลทำให้เกิดปัญหากลิ่นปากที่ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ โรคช่องปาก และโรคทางระบบอื่น ๆ เป็นต้น

สำหรับโรคช่องปาก นับเป็นสาเหตุหลักของกลิ่นปากที่ไม่พึงประสงค์ในสุนัข เกิดจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรียในช่องปากไปทำการย่อยสลายเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ทำให้เกิดกลิ่นขึ้น ดังนั้นเมื่อช่องปากและฟันไม่สะอาด ไม่ว่าจะเกิดจากชนิดของอาหารที่กิน โดยเฉพาะอาหารที่ค่อนข้างเหลวอาจมีโอกาสที่เศษอาหารจะตกค้างอยู่ในช่องปาก ผิวฟัน และร่องเหงือกได้ หรือจากการที่ดูแลทำความสะอาดช่องปากได้ไม่ดีพอ ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้ลุกลาม เกิดภาวะเหงือกอักเสบ และทวีความรุนแรงกลายเป็นโรคปริทันต์อักเสบได้ในที่สุด ดังนั้นเจ้าของสุนัขควรหมั่นดูแลทำความสะอาดช่องปากให้สุนัขทุกครั้งหลังกินอาหาร ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด คือการแปรงฟันด้วยการใช้ยาสีฟันสำหรับสุนัข ร่วมกับการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากที่มีส่วนผสมที่ปลอดภัยต่อสุนัข และเลือกชนิดอาหารให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม มีการให้อาหารเม็ด ขนมขัดฟัน หรือของเล่นกัดแทะที่มีพื้นผิวที่ขัดสีกับฟัน เพื่อช่วยลดการสะสมของคราบพลัคที่จะพัฒนาไปเป็นคราบหินน้ำลาย หรือคราบหินปูน ลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลักของกลิ่นปากที่ไม่พึงประสงค์ และโรคปริทันต์อักเสบ นอกจากโรคปริทันต์อักเสบแล้ว โรคช่องปาก
อื่น ๆ ที่อาจส่งผลทำให้เกิดกลิ่นปากได้ เช่น โรคช่องปากอักเสบจากภาวะภูมิแพ้ หรือระคายเคือง แผลในช่องปาก และโรคเนื้องอก หรือมะเร็งในช่องปาก เป็นต้น ซึ่งถ้าหากสุนัขของท่านมีปัญหาโรคช่องปาก อาจพบว่ามีอาการอื่น ๆ ควบคู่ ซึ่งอาการที่สังเกตได้ง่ายที่สุดคือกินอาหารน้อยลง และมักมีอาการเจ็บปาก โดยสุนัขมักจะแสดงออกโดยการเกาปาก สะบัดหน้า หรือเอาใบหน้าถูไถตามพื้น หากมีอาการรุนแรงอาจพบว่ามีเลือดปนน้ำลายไหลออกมาได้

อย่างไรก็ตามเราไม่ควรมองข้ามโรคทางระบบอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของกลิ่นปากที่ไม่พึงประสงค์ในสุนัข เช่น โรคไต และโรคตับ เป็นต้น โดยเฉพาะสำหรับสุนัขที่ป่วยเป็นโรคไต อาจมีกลิ่นปากที่มีลักษณะจำเพาะคล้ายกลิ่นแอมโมเนีย ซึ่งเป็นกลิ่นที่เกิดจากความผิดปกติในการกำจัดของเสีย และสารพิษจากการทำงานของไตที่บกพร่องไป อย่างไรก็ตามสุนัขที่ป่วยเป็นโรคไต และโรคตับมักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด ซึม กินอาหารน้อยลง และอาเจียน เป็นต้น ดังนั้นเมื่อพบว่าสุนัขเริ่มมีปัญหากลิ่นปาก เจ้าของสุนัขควรสังเกตเรื่องอาหาร การดูแลทำความสะอาดช่องปาก พฤติกรรมการใช้ชีวิต และอาการอื่น ๆ ควบคู่ หากพบความผิดปกติควรรีบพาสุนัขมาพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และทำการรักษาอย่างตรงจุด.

อ.สพญ.ดร. ศิรินันท์ พิสมัย ทับเที่ยง
อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย