ประกาศดีเดย์แล้ว 1 ธ.ค. นี้ สำหรับการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRTสายสีม่วงตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล โดยการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) เป็นประธานเมื่อวันที่ 28 ก.ย. มีมติเห็นชอบมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทาง23 กิโลเมตร(กม.) 16 สถานี จาก 14-42 บาท เป็น 14-20 บาท

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ | การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

ผู้ว่าการรฟม. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ แจกแจงว่า รฟม. จะเริ่มปรับลดค่าโดยสารได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2566 ตลอดระยะเวลาเปิดบริการ (05.30 น. – 24.00 น.) สำหรับผู้ที่เดินทางและจ่ายค่าโดยสารไม่ถึง 20 บาทยังจ่ายราคาเดิม ส่วนตลอดสายไม่เกิน 20 บาท เด็ก/ผู้สูงอายุ ยังได้รับส่วนลด 50% และนักเรียน/นักศึกษา จะได้รับส่วนลด 10% จากอัตราค่าโดยสารใหม่ด้วย

ในส่วนของการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะเก็บค่าโดยสารของทั้ง 2 สายสูงสุดไม่เกิน 20 บาทเช่นกัน แต่ต้องเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในเวลา 30 นาที และใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน ช่วงแรกนี้ใช้ได้เฉพาะผู้ที่ถือบัตร EMV ก่อน เนื่องจากยังไม่มีตั๋วร่วม รฟม. จะเสนอเรื่องการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป

เบื้องต้นประเมินไว้ว่าการปรับลดค่าโดยสารจะดึงดูดประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้นประมาณ 17% หรือประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน จากปัจจุบันผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 5.6 หมื่นคนต่อวัน เป็น 6.6 หมื่นคนต่อวัน และใช้บริการสายสีม่วงเชื่อมสายสีแดงประมาณ 200 คนต่อวัน

เมื่อตีมูลค่าเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อมได้ประมาณ 900 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วย การประหยัดค่าใช้จ่ายรถยนต์, ประหยัดเวลาเดินทาง, ค่าความสุข, ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มั่นใจว่าเมื่อผู้โดยสารมากขึ้น ขบวนรถของสายสีม่วงที่มีอยู่ 23 ขบวนจะเพียงพอรองรับผู้โดยสารได้ถึง 2 แสนคนต่อวัน

ขณะที่รฟม. จะสูญเสียรายได้ประมาณ 190 ล้านบาทต่อปี จากรายได้เฉลี่ย 500 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันผู้ใช้บริการเฉลี่ย 8 สถานี มีค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาทต่อคน แต่จะไม่ขอสนับสนุนเงินชดเชยจากรัฐบาล เนื่องจากตั้งแต่ปี 2561 รฟม. มีกำไร(เกือบ2 พันล้านต่อปี) และนำเงินรายได้ส่งกระทรวงการคลังมาตั้งแต่ปี 2561 โดยปี 2563 รฟม. นำส่งรายได้เข้าคลังประมาณ 300 ล้านบาท, ปี 2564 ประมาณ 467 ล้านบาท, ปี 2565 ประมาณ 311 ล้านบาท และปี 66 ประมาณ 223 ล้านบาท แต่ต้องแจ้งกระทรวงการคลังว่าตั้งแต่ปี 2567 จะส่งเงินรายได้ให้กระทรวงการคลังน้อยลงจากปกติจะส่งให้ประมาณ 20-25% ของกำไรสุทธิ

รฟม. จะประเมินผล 1 ปี เพื่อคาดการณ์จุดคุ้มทุนที่ไม่ต้องชดเชยรายได้ที่หายไป คาดว่าจะอยู่ที่ 5 ปี ส่วนการเจรจาบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม เพื่อพิจารณาให้รถไฟฟ้าMRTสายสีน้ำเงินที่บริษัทรับสัมปทาน รวมทั้งสายอื่นๆ ในสังกัดรฟม.เช่น สายสีเหลืองสายสีชมพูเข้าร่วมลดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายด้วยนั้น บีอีเอ็มอยู่ระหว่างประเมินรายได้ที่จะขาดหายไป กระทรวงคมนาคมจะตั้งคณะกรรมการมาเจรจากับเอกชน เพื่อปรับลดาค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้เหลือไม่เกิน 20 บาททุกสายตามนโยบายรัฐบาล.

ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. ซึ่งมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เป็นประธานมีมติเห็นชอบปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง(รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จากเดิม 14-42 บาท เหลือไม่เกิน 20 บาทตลอดสายแล้วเช่นเดียวกัน

รฟท.จะสูญเสียรายได้ประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี ต้องจัดทำแผนงาน งบประมาณที่ต้องใช้จ่าย ระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่ได้รับ ตามมาตรา 27 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐกำหนด เสนอกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป รฟท. จะเสนอขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลตามรายได้ที่ลดลงจริง ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงอยู่ที่ประมาณ 2.5 หมื่นคนต่อวัน คาดว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะช่วยเพิ่มผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 5% ส่งเสริมให้ประชาชนที่ใช้รถยนต์หันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ มั่นใจว่าหากไม่มีปัญหาอะไรติดขัดจะปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงเหลือไม่เกิน 20 บาทตลอดสายได้ทันภายใน 3 เดือนตามนโยบายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน

นับถอยหลังอีก 60 วันจะได้นั่งรถไฟฟ้าสีม่วงข้ามสายสีแดงไม่เกิน 20 บาท ส่วนสายอื่นๆ อีก 5 สี ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว แอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ สีทอง สีเหลืองและสีชมพูที่ติดสัญญาสัมทานเอกชน กระทรวงคมนาคมขอเวลา 2 ปี รถไฟฟ้า7สาย7สีเชื่อมโยงกันในราคา 20 บาทจะทำได้ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ ต้องติดตาม

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์