ฟรีวีซ่าต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นนโยบายเร่งด่วน((Quick win) ที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะท่าอากาศยาน(สนามบิน) ประตูบ้านของประเทศไทยต้องแต่งตัวปรับโฉมให้สดใสเพื่อยกระดับบริการและเพิ่มศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยว

นอกจากลงใต้ไปตรวจความพร้อมสนามบินภูเก็ตในสัปดาห์แรกของการทำงานแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ยังขึ้นเหนือตรวจความพร้อมของสนามบินเชียงใหม่ โดยมอบหมายกระทรวงคมนาคมก่อสร้าง 2 สนามบินแห่งใหม่ในภาคเหนือสนามบินล้านนาและภาคใต้สนามบินอันดามัน

นายสุริยะ ฉายภาพการทำงานโหมดอากาศในวันมอบนโยบายให้หัวหน้าหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมว่าจะเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ เป็น 3 ระยะ 1.นโยบายเร่งด่วนภายใน 1 ปี เพิ่มเวลาการบิน(สลอต) และบริหารจัดการพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน เบื้องต้นช่วงตารางบินฤดูหนาว (..2566-มี..2567) จะเพิ่มเที่ยวบินอย่างน้อย 15% ต่อสัปดาห์เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ล้านคนจากนโยบายฟรีวีซ่า เพิ่มจุดเช็คอิน จุดตรวจค้น จุดตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ระบบเช็คอินด้วยตนเอง และปรับเวลาเปิดบริการท่าอากาศยานเชียงใหม่(ทชม.) ท่าอากาศยานเชียงราย(ทชร.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่(ทหญ.) ตลอด 24 ชม.

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้รายละเอียดโครงการ 2 สนามบินใหม่ว่า ทอท. เตรียมจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าในการลงทุนท่าอากาศยานอันดามัน ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายเร่งด่วนเรื่องการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ประเทศ จากการที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้ผลักดันให้ก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน เพื่อแบ่งเบาผู้โดยสารจากท่าอากาศยานภูเก็ต และเป็นศูนย์กลางการขนส่งของกลุ่มจังหวัดอันดามัน ภูเก็ต พังงา และกระบี่

จะได้ที่ปรึกษาประมาณปลายปี 2566 ใช้เวลาศึกษาฯ ประมาณ8 เดือน เมื่อศึกษาแล้วเสร็จจะเข้าขั้นตอนออกแบบรายละเอียดการลงทุน ทั้งขอบเขตพื้นที่ วิธีการก่อสร้าง งบประมาณ และการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากนั้นจะนำเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อขออนุมัติดำเนินการ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการต่อไป

ในขั้นตอนการออกแบบรายละเอียด และขั้นตอนการขออนุมัติ จะใช้เวลาประมาณ 3 ปี เปิดประกวดราคาและก่อสร้างใช้เวลา 4 ปี รวมระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งหมดประมาณ 7 ปี นับจากปี 2567 คาดว่าจะเปิดบริการได้ประมาณปี 2573 – 2574

ปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ตมีผู้โดยสาร 12 ล้านคนต่อปี ท่าอากาศยานกระบี่ 5 ล้านคนต่อปี รวมกันเป็น 17 ล้านคนต่อปี ความต้องการเดินทางมาเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และพังงา มีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ท่าอากาศยานภูเก็ตจัดสรรเวลาการบิน(สลอต) เต็มแล้ว รองรับไม่เพียงพอ มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน

เบื้องต้นท่าอากาศยานอันดามัน จะให้มี 2 ทางวิ่ง(รันเวย์) เพื่อความยืดหยุ่นในการรองรับอากาศยาน และรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ทอท.จะลงทุนรายเดียว เนื่องจากมีกระแสเงินสดเพียงพออยู่แล้ว แบ่งเป็น 2 ระยะ(เฟส) เฟสแรกจะรองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนต่อปีก่อนขยายในเฟส 2

ทอท. เคยศึกษาพื้นที่ก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 ไว้แล้วพื้นที่เหมาะสมอยู่ในต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ประมาณ 6 พันไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราชพัสดุ จะใช้พื้นที่แห่งนี้ก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน ควบคู่กับการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานล้านนา)ด้วย

ผู้อำนวยการใหญ่ทอท.บอกถึงความยากของการก่อสร้างท่าอากาศยานล้านนาว่า ที่ดินที่พังงาส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ แต่ที่ดินที่เชียงใหม่เป็นที่ดินเอกชน การจัดหาที่ดินจะยากและล่าช้า โดยที่ดินที่ศึกษาไว้ยังเป็นพื้นที่เดิม คือ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ประมาณ 5-6 พันไร่ เพื่อก่อสร้างท่าอากาศยานล้านนา คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาทเช่นกันหรืออาจจะแพงกว่าเล็กน้อย เพราะท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 ต้องลงทุนซื้อที่ดินทั้งหมด ระยะเวลาดำเนินโครงการประมาณ 7 ปีใกล้เคียงกัน

ธุรกิจการท่องเที่ยวสัมพันธ์กับธุรกิจการบินกำลังฟื้นตัวแรง เพื่อเติบโตอีกครั้งหลังโควิด-19 พร้อมๆกับ2สนามบินใหม่ขนาดใหญ่ที่พูดกันมานาน ได้เวลาแจ้งเกิดชื่อเก๋ๆสนามบินล้านนาและสนามบินอันดามัน

—————————–
…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…