ทั้งนี้ ผู้บริหารกรมอนามัย กรมการแพทย์ได้ร่วมกันให้ข้อมูลว่า สถานการณ์เด็กน้ำหนักเกินและอ้วนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าใน 20 ปี สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการกิน โดย 1 ใน 3 ของเด็กดื่มน้ำอัดลม อาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นประจำ แต่กินผักผลไม้ กินมื้อเช้าลดลง ประกอบกับมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น

แนวโน้มเด็กอ้วนมีระดับรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น พบเด็กอ้วนที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจอุดกั้น โรคกระดูกและข้อ ส่งผลถึงการใช้ทรัพยากรในการรักษาสูงขึ้นอย่างมาก

ดังนั้น กรมอนามัยเร่งขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเพื่อหยุดโรคอ้วนในเด็ก เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย มุ่งลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อในปี 2030 

ซึ่งมาตรการสำคัญคือ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เริ่มจากเด็กเป็นศูนย์กลาง มีความรู้เข้าใจอาหาร การออกกำลังกาย สุขภาพตนเอง มีครอบครัว ชุมชน ช่วยสนับสนุนเสริม ตลอดจนมีกลไกการขับเคลื่อนสภาพแวดล้อมรอบตัวให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี และทุกภาคส่วนจะต้องร่วมจัดการไปด้วยกันไม่เพียงแต่ภาคสาธารณสุข ยังมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน 

ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการจัดการสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมให้เด็กและครอบครัวมีความรอบรู้เรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่ยังท้าทายและถือว่าเป็นมาตรการที่คุ้มค่ากว่าการรักษาโรคอ้วนอย่างแน่นอน โดยขณะนี้กรมการแพทย์อยู่ระหว่างจัดทำ (ร่าง) การดูแล ส่งต่อ ในสถานบริการสาธารณสุขแต่ละระดับ (Service delivery by level of care).

อภิวรรณ เสาเวียง