“รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย เมื่อประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แล้ว แม้ต้องรอพรรคร่วมรัฐบาลจัดโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) “เศรษฐา 1” ให้ได้ข้อสรุป100% แต่ข้อมูลจากหลายสื่อยืนยันตรงกันแล้วว่าเก้าอี้รมว.คมนาคมจะเป็นของพรรคเพื่อไทย ชื่อ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรมว.คมนาคมคัมแบ็ก

สุริยะ'ชี้รัฐบาลผสมไร้เอกภาพ แก้เศรษฐกิจไม่รอด | เดลินิวส์
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ตามแผนแม่บทรถไฟฟ้า M-MAP ภายในปี 2572 กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีโครงข่ายรถไฟฟ้าหลากสีให้บริการรวม 553.41 กม. ปัจจุบันเปิดบริการแล้ว 242.34 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 105.40 กม. ข้อมูล กรมการขนส่งทางราง(ขร.) ระบุว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ส.ค. 2566 มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 7 สายรวม 1,683,338 คน ประกอบด้วยBTSสายสีเขียว 924,828 คน MRTสายสีน้ำเงิน 525,455 คน แอร์พอร์ตเรลลิงก์(ARL)77,723 คน สายสีม่วง 75,829 คน สายสีเหลือง 43,381 คน สายสีแดง 27,715 คน และสายสีทอง 8,285 คน หากเทียบกับประชากรกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่า 10 ล้านคน(รวมประชากรแฝง)ถือว่ายังน้อย

เนื่องจากโครงข่ายรถไฟฟ้ายังไม่คลอบคลุม รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ายังไม่สะดวกมากพอ ที่สำคัญค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง ผู้คนส่วนใหญ่เอื้อมไม่ถึงรถไฟฟ้า จึงเป็นที่มาของ นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อจูงใจประชาชนและแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด

ล่าสุดกรมการขนส่งทางราง พร้อมนำเสนอข้อมูลผลการศึกษา และการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ต่อรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย เพื่อนำไปใช้ประกอบการดำเนินนโยบาย อาทิ เกณฑ์และแนวทางในการกำหนดอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย, กลุ่มเป้าหมาย, ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน และความคุ้มค่าของโครงการ และงบประมาณอุดหนุน เป็นต้น

ผลการศึกษาฯ ยืนยันว่านโยบายการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20บาทตลอดสายสามารถทำได้และเริ่มทำได้ทันทีกับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะมีระบบเดิมรองรับไว้อยู่แล้ว ไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรนี้ประมาณ 1ล้านคน ที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ใช้บริการรถไฟฟ้าน้อยมาก ประมาณ 31,019คนต่อวัน หากใช้นโยบายเก็บค่าโดยสาร 20บาทตลอดสาย รัฐต้องอุดหนุนเงินจ่ายชดเชยค่าตั๋วโดยสารคนกลุ่มนี้ประมาณ 307ล้านบาทต่อปี จะช่วยดึงดูดให้คนกลุ่มนี้มาใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6,061คนต่อวัน หรือ 0.56%

อย่างไรก็ตามหากใช้นโยบายนี้กับประชาชนผู้ใช้บริการทุกคน จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้า 7สายที่ให้บริการมีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 1.08ล้านคนต่อวัน รัฐต้องอุดหนุนเงินจ่ายชดเชยค่าตั๋วโดยสารรวม 5,446ล้านบาทต่อปี โดยนโยบายนี้คาดว่าจะช่วยดึงดูดให้ประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นอีก 1.04แสนคนต่อวัน หรือ 9.59%

เบื้องต้น ขร. จะเสนอรัฐบาลให้ผูกกับกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital wallet) 1หมื่นบาท สำหรับวิธีการ รวมถึงรายละเอียดการดำเนินงานต้องรอฟังนโยบายจากรัฐบาลว่าจะใช้กับทุกคน หรือเฉพาะกลุ่ม และใช้ระยะเวลานานเท่าใด

การนำนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20บาทตลอดสายมาใช้จริงกับประชาชนผู้ใช้บริการทุกคน จะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านจราจรและขนส่ง และผลประโยชน์อื่นๆ คิดเป็นประมาณ 1.1พันล้านบาทต่อปี อาทิ ผลประโยชน์จากการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน(Voc Saving) ประมาณ 236ล้านบาทต่อปี, ประหยัดเวลาการเดินทางบนถนน ลดปัญหาการจราจรติดขัด (Vot Saving) 666ล้านบาทต่อปี, ประหยัดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Cost Saving) 228ล้านบาทต่อปี และมูลค่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด หรือกักเก็บได้จากการดำเนินงาน (Carbon Credit) ที่แลกเปลี่ยนได้ 7.7แสนบาทต่อปี

อกจากนี้ยังช่วยให้การเดินทางโดยรถยนต์ลดลง 5.5ล้านคนต่อปีด้วย ขณะเดียวกันยังลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และยังส่งเสริมการใช้ระบบราง ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้น เป็นวันละประมาณ 1.2ล้านคนต่อวัน จากปัจจุบันประมาณ 1.1ล้านคนต่อวัน ช่วยลดฝุ่น PM2.5และส่งเสริมการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน

กับคำถามว่า ทำไม?? ก่อนหน้านี้ไม่ลดค่าโดยสารเหลือ 20 บาทตลอดสาย……ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่ได้หาเสียงไว้ ขร. มีหน้าที่ต้องจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการพัฒนาด้านการขนส่งทางรางของประเทศเสนอรัฐบาล เพื่อพิจารณาเป็นแนวทางดำเนินการเท่านั้น

รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทำได้จริง แต่ต้องแลกกับการจ่ายชดเชยผู้ให้บริการ รวมทั้งเสียงเห็นต่างว่านำงบประมาณแผ่นดินมาโอบอุ้มคนกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น ประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวยต้องกระจายงบประมาณเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั่วประเทศ ต้องวัดใจรัฐบาลใหม่และพรรคเพื่อไทยจะบริหารนโยบายที่ประกาศไว้อย่างไร??

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…