…นี่เป็นการเสนอแนะไว้ในเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “สิ่งท้าทายและข้อเสนอระบบทดแทนไตของไทยในปัจจุบันและอนาคต” ที่ทางองค์กรแพทย์และเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตร่วมกันจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และนำอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาถกกัน…

เพื่อร่วมหาทางป้องกันก่อนเกิดปัญหา

หลังไทยมีแนวโน้มผู้ป่วยล้างไตเพิ่มขึ้น

ที่อาจจะส่งผลต่อระบบสุขภาพไทยได้!!

ทั้งนี้ กับเรื่องนี้…ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนข้อมูลในวันนี้ มาจากเวทีที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เพื่อแชร์ข้อมูลสถานการณ์ผู้ป่วยล้างไตในไทย กับปัญหาในปัจจุบันและอุปสรรคในอนาคต ซึ่งได้มีการฉายภาพ สถานการณ์ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายในไทย…

โดยสังเขปมีว่า… ทุกวันนี้มีวิธีรักษาดูแลผู้ป่วยโรคไตหลากหลายวิธี อาทิ ปลูกถ่ายไต (KT), ฟอกไตผ่านช่องท้อง (PD), ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจากรายงานผู้ป่วยโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า… ปี 2564 มีผู้ป่วยสูงถึง 1,007,251 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลสมาคมโรคไตฯ ปี 2563 พบผู้ป่วยที่ต้องบำบัดทดแทนไตทั้งหมด 170,774 ราย โดยเป็นผู้ป่วยใหม่ 19,772 ราย ซึ่ง จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเป็นความท้าทายต่อระบบสุขภาพ ทั้งในแง่ระบบบริการ กำลังคนที่ให้บริการ จนถึงงบประมาณที่รัฐสนับสนุนการดูแลรักษา …นี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ที่กังวลกันว่าจะกระทบระบบโดยรวม

นอกจากนี้ ในเวทีนี้ก็ได้มีการสะท้อนทัศนะไว้หลากหลาย เริ่มจาก ธนพล ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ที่ได้ระบุไว้ว่า… ข้อมูลแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายนั้น มีความสำคัญมากที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับรู้อย่างครบถ้วนและรอบด้าน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด เพื่อให้เกิดความเข้าใจวิธีการรักษารูปแบบต่าง ๆ เพราะแต่ละวิธีก็จะมีข้อดีข้อเสียที่ต่างกันไป …นี่เป็นการระบุถึง “ความสำคัญของข้อมูล” ที่ทางนายกสมาคมเพื่อนโรคไตฯ ได้เน้นย้ำไว้ในเวทีนี้ ที่ “จะต้องมีการสื่อสารอย่างชัดเจนและรอบด้าน”

ต่อด้วย ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ นักวิชาการด้านนโยบายสุขภาพ ที่สะท้อนมุมมองไว้ว่า… การบำบัดทดแทนไตควรเริ่มด้วยวิธีล้างไตช่องท้อง เพราะ สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยในการดูแลตัวเอง ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายแฝงจากการเดินทาง รวมถึงช่วยลดการพึ่งพาและการใช้ทรัพยากรในระบบ ทั้งในแง่บุคลากร อุปกรณ์ดูแลรักษา แต่…เมื่อระบบเปิดให้เลือกวิธีฟอกเลือดได้ ผู้ป่วยจึงหันมาเลือกวิธีนี้ เพราะไม่ต้องทำเอง อีกทั้งการที่ผู้ป่วยขาดข้อมูลและความเข้าใจการบำบัดรักษาวิธีอื่นนั้น ทำให้ตอนนี้จึงไม่สามารถย้อนกลับไปได้แล้ว ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยกลับมามีส่วนร่วมดูแลตัวเอง

นี่เป็นอีกมุมมองเกี่ยวกับ“ผู้ป่วยโรคไต”

ที่…“สื่อสารข้อมูลรอบด้านนั้นสำคัญ!!”

ขณะที่ สุชาดา บุญแก้ว นายกสมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย ก็สะท้อนไว้ว่า… ความท้าทายเวลานี้คือ จำนวนผู้ป่วยไตระยะสุดท้ายที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาทดแทนไตที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ พยาบาลมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยซึ่งฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม  ซึ่งถึงแม้ปัจจุบันจะมีหลายวิธีรักษา แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่กลับเลือกวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่อง เพราะไม่ต้องทำเอง ทำให้หน่วยไตเทียมต้องรับภาระเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้มีผลกระทบมาก และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟในบุคลากร โดยผลที่ตามมาคือ“มีบุคลากรลาออกมากขึ้น”

ทั้งนี้ นอกจากกรณีภาระงานที่หนักเพิ่มขึ้นจนเป็นอีกปัจจัยทำให้“กระทบระบบ” และทำให้“บุคลากรลาออก” แล้ว… ทางนายกสมาคมพยายาลโรคไตฯ ยังสะท้อนถึงความกังวลไว้ว่า… หากจำนวนผู้ป่วยโรคไตที่เลือกวิธีรักษาด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องเพิ่มขึ้นกว่าวิธีการรักษาด้วยการล้างไตผ่านช่องท้อง กรณีนี้ก็น่ากังวลมากว่า… อาจจะทำให้วิธีล้างไตผ่านช่องท้องถูกยกเลิกจากสิทธิประโยชน์ ซึ่งย่อมจะกระทบผู้ป่วยจำนวนมากอีกกลุ่มหนึ่งที่เลือกรักษาด้วยวิธีนี้ ทั้ง ๆ ที่วิธีล้างไตผ่านช่องท้องนี้เป็นอีกวิธีที่ดี และก็เป็นทางเลือกสำคัญของการบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยโรคไตในระบบด้วย…

“สิ่งสำคัญคือ ต้องสื่อสารข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านถึงวิธีรักษา ให้ผู้ป่วยเข้าใจเพื่อที่จะมองเห็นภาพ ขณะที่ทุกหน่วยงานก็ต้องเร่งช่วยกันลดผู้ป่วยหน้าใหม่ ไม่ให้มีผู้ป่วยเข้าสู่ระบบมากขึ้น ควบคู่ไปด้วย” …นี่เป็นอีกข้อเสนอจากเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ เกี่ยวกับ สถานการณ์ “ผู้ป่วยโรคไต” ในไทย ซึ่งโฟกัสไปที่“ผู้ป่วยไตระยะสุดท้าย”…

ขณะนี้ “มีเพิ่มมากขึ้นจนเกือบล้นระบบ”

โดย “จำเป็นต้องใช้หลายวิธีแก้ปัญหา”…

และ “สื่อสารให้ข้อมูลผู้ป่วย…สำคัญ!!”.