ความเคลื่อนไหวในการจัดตั้งรัฐบาลที่มี 8 พรรคการเมือง แต่เปลี่ยนให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำบ้าง! หลังจากพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคอันดับ 1 พ่ายแพ้เสียงในรัฐสภามาแล้ว 2 ครั้ง สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

ทางกว้าง!312เสียงกลายเป็น “ทางแคบ”

วันนี้ทีมข่าว “Special Report” มีโอกาสสนทนากับ ดร.พีระพงษ์ ไพรินทร์ นักวิชาการอิสระ อดีตข้าราชการกรมการปกครอง อดีตผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงานกกต.) ในฐานะบุคคลดีเด่น “คนดีสังคมไทย” สาขานักพัฒนาประชาธิปไตยประจำปี 43 ได้แสดงความเห็นกรณีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ว่าเมื่อพูดถึง 312 เสียง นั่นคือคำตอบที่ชัดเจนต่อความชอบธรรมที่ประชาชนฝ่ายข้างมากมอบให้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนตน จึงต้องถือเป็น “ทางกว้าง” ที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยทางอ้อม

หากแต่การเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องยึดหลัก “ RULE BY THE PEOPLE” หรือ “กฎกติกาที่เกิดจากประชาชนส่วนใหญ่” กล่าวคือต้องยึดตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ลงประชามติให้ความเห็นชอบมาแล้ว เป็นกระบวนการในการเลือก จึงทำให้เกิด “ทางแคบ” เกิดขึ้น ตามที่ประชาชนทั้งประเทศได้ติดตามข่าวนี้มาโดยตลอด

ตนสงสัยมาตั้งแต่ต้นว่ากรณีการถือครองหุ้นสื่อ (ไอทีวี) อาจสุ่มเสี่ยงต่อการขาดคุณสมบัติ และยังมีตัวอย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้เห็นมาก่อน เรื่องเล็กน้อยเช่นนี้ เหตุใดนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จึงเพิกเฉยไม่ไปโอนหุ้นไอทีวี ก่อนยื่นการสมัครเป็นส.ส. จนเป็นเหตุให้กกต.ต้องยื่นให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

จากท่าทีของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยพรรคก้าวไกลประชุมกันแล้วออกมาบอกว่ายอมถอยให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ส่วนพรรคเพื่อไทยแถลงขอบคุณพรรคก้าวไกล ที่มีข้อสรุปออกมาแบบนั้น ต่อมาทั้ง 8 พรรคมาหารือกัน แล้วแถลงกับสื่อมวลชน โดยตัวแทนจากพรรคก้าวไกลยอมเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยไปเจรจากับส.ว. และพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล และมารายงานความคืบหน้าให้ 8 พรรคร่วมฯทราบ ในวันที่ 25 ก.ค.66

“ผมมองว่า นี่คือคณะลิเก 8 พรรคร่วมฯมากกว่า เพราะจริงๆ แล้วอนาคตในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่ด้วย มันจบไปตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. และมาประทับตรายืนยันอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ว่านายพิธาและพรรคก้าวไกลไปต่อไม่ได้แล้ว การที่ส.ว.ไม่เอามาตรา 112 เป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้ทางกว้าง กลายเป็นทางแคบ ใช่หรือไม่”

แฟนคลับ “ก้าวไกล” เคยพลาดท่า2ประเด็นในอดีต?

ดร.พีระพงษ์กล่าวต่อไปว่า วันนี้ “แฟนคลับ” พรรคก้าวไกลที่ออกมาถล่มพรรคเพื่อไทยว่าจะถีบพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน เพื่อดึงพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา เข้ามาร่วมรัฐบาลแทนนั้น สิ่งที่ต้องถามซ้ำที่นายพิธาพูดว่า “เรือรั่วต้องช่วยกันอุดให้ถึงฝั่ง ไม่ใช่ถีบเพื่อนลงจากเรือ”

ตนกลับมีความเห็นตรงข้ามว่า เหตุที่เรือรั่วเกิดจากพรรคก้าวไกลเอง ไม่ได้เกิดจาก 7 พรรคที่เหลือ ส่วนพรรคเพื่อไทยคงจะเห็นว่าหากเรือต้องจม จำเป็นต้องเสียสละโดดลงไปในน้ำเพื่อช่วยประชาชนส่วนใหญ่ ที่กำลังจะจมน้ำตาย มากกว่าจะมีเวลาไปคิดถีบเพื่อนลงจากเรือ

ดังนั้นจึงขอแนะนำว่า “แฟนคลับ” พรรคก้าวไกล ต้องไปรำลึกความทรงจำในอดีต แล้วสำรวจตรวจสอบตัวเองใน 2 ประเด็นก่อน คือ

1.เคยไปร่วมกับม็อบกปปส. เคยออกไปเป่านกหวีด เคยไปขัดขวางการเลือกตั้งในปี 57 หรือไม่? จนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกมาทำรัฐประหารหรือไม่ แล้วพล.อ.ประยุทธ์กับคณะรัฐประหาร ก็แต่งตั้งส.ว. 250 คน ชุดนี้เข้ามา

2.เคยไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 60 มาหรือไม่ เนื่องจากในร่างดังกล่าวมีการพ่วงอำนาจของส.ว.ที่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

“ผมเชื่อว่ามีแฟนคลับพรรคก้าวไกลจำนวนไม่น้อย เคยไปพลาดท่าให้กับ 2 ข้อนี้ ดังนั้นเมื่อมาถึงปัจจุบันก็ไม่ควรโทษฝ่ายไหนทั้งสิ้น แต่ต้องโทษตัวเองก่อน เนื่องจากส.ว.ชุดนี้มาจากคณะรัฐประหาร แล้วมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯตามรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และไม่มีประเทศไหนในโลกที่ให้อำนาจส.ว.มากขนาดนี้

8พรรคร่วมฯเจอข้าวต้มมัดใหญ่กว่า!

แต่เอาล่ะ! รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้มาหลายปีแล้ว ทั้งพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง แสดงว่ายอมรับในกติกาที่ว่าถ้าพรรคการเมืองรวมส.ส.ได้ไม่ถึง 376 เสียง คุณต้อง ผ่านการประทับตราจากส.ว.ก่อน! ว่าจะให้ผ่าน หรือไม่ให้ผ่าน
เหมือนกรณี 8 พรรคร่วมฯ มี 312 เสียง แต่ส.ว.เขาโหวตไม่ให้นายพิธาผ่าน เนื่องจากฝั่งส.ว.และพรรคการเมืองขั้วเดิมมีจำนวนเสียงในรัฐสภามากกว่า เมื่อโหวตในรัฐสภาไม่ผ่าน แสดงว่า 151 เสียงของพรรคก้าวไกล แสดงว่า 312 เสียงของ 8 พรรคร่วมฯ กลายเป็นเสียงข้างน้อยในรัฐสภา

“คุณบอกว่า 8 พรรคร่วมฯ เหนียวแน่นเป็นข้าวต้มมัด 312 เสียง แต่อีกฝั่งเขาก็เป็นข้าวต้มมัดเหมือนกัน แถมเป็นมัดที่ใหญ่กว่า คือมีส.ว. 250 เสียง กับส.ส.ขั้วการเมืองเดิมอีก 188 เสียง รวมกันเป็น 438 เสียง จึงเป็นข้าวต้มมัด มัดใหญ่กว่าที่ประกาศชัดเจนว่าไม่เอานายพิธาเป็นนายกฯ เนื่องจากมีนโยบายจะแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112”

แต่ตอนนี้ไม่ใช่แค่เงื่อนไขเรื่อง 112 เพียงอย่างเดียว เนื่องจากหลายพรรคพูดกับพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน ว่าทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกลไม่ได้ เพราะแนวความคิดไม่ตรงกัน นี่คือมุมสะท้อนที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่มีใคร (ขั้วการเมืองเดิม) ต้องการทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกล

ลากไป10เดือน “ทางตัน-สุญญากาศ” กลุ่มสีเขียวมาอีก?

ดังนั้นถ้าพรรคเพื่อไทยต้องการปิดเกมเร็วๆ ในการตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลก็ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน เพราะนอกเหนือจาก 8 พรรคร่วมฯ ไม่มีใครต้องการทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกล

นี่คือการเมืองในระบบรัฐสภา ที่ข้าวต้มมัดเล็ก เจอกับข้าวต้มมัดใหญ่กว่า โดยไม่ใช่เรื่องความดี ความเลว ไม่ใช่เรื่องระหว่างขาวกับดำ แต่เป็นเรื่องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามกติการัฐธรรมนูญ ปี 60 และโดยส่วนตัวเชื่อว่าในทางลึก พรรคที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งไม่มีพรรคก้าวไกลรวมอยู่ด้วย ได้มีการหารือเกี่ยวกับการแบ่งกระทรวงกันกำกับดูแลไปแล้ว คือโดยสภาพของความเป็นจริงในการโหวตเลือกนายกฯครั้งต่อไป และการจัดตั้งรัฐบาล มันคืบหน้าไปมากกว่าการเล่นลิเกให้พรรคก้าวไกลเห็น

“ความจริงพรรคก้าวไกลก็ไม่อยากเป็นฝ่ายค้าน แต่สุดท้ายแล้วสถานการณ์ที่จะไม่ยืดเยื้อในการตั้งรัฐบาล จะบีบให้พรรคก้าวไกลต้องเป็นฝ่ายค้านจากเงื่อนไข 112 และอีกหลายพรรคที่จะโหวตสนับสนุนนายกฯของพรรคเพื่อไทย ไม่ประสงค์จะทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกล คือ มองดูรูปการแล้วน่าจะจบเร็ว ไม่ลากยาวให้ประเทศตกอยู่ให้ห้วงของสุญญากาศไว้ 10 เดือน เพื่อรอให้ส.ว.หมดวาระ จึงค่อยโหวตหานายกฯและตั้งรัฐบาลเหมือนที่มีส.ส.พรรคเล็กเสนอความเห็นไว้ แต่การจะปล่อยให้เศรษฐกิจตกต่ำย่ำแย่ ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมากยากไร้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก แม้เพียงวันเดียวเราก็ไม่สมควรรอ เพราะจะนำไปสู่ทางตัน ถึงขั้นเป็นรัฐล้มเหลวหรือไม่? แล้วไม่รู้ว่ากลุ่มคนสีเขียวจะออกมาอีกหรือเปล่า ดังนั้นอย่าเพ้อฝัน แต่ควรกลับมาสู่ความเป็นจริงกันเถอะ” ดร.พีระพงษ์ กล่าว