เป็นอีกภาคส่วนธุรกิจที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีการจ้างงานหลายล้านคน นั่นคือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่พอจะเริ่มโงหัวกันได้บ้าง หลังจากปัญหาโรคระบาดโควิด-19 คลี่คลายลงไป แล้วสภาพปัจจุบันเกี่ยวกับการฟื้นตัวของภาคการเที่ยว ปัญหาหรือผลกระทบจากความไม่นิ่งทางการเมือง การจัดตั้งรัฐบาล และความต้องการสื่อสารไปยังรัฐบาลชุดใหม่ในประเด็นใดบ้าง
“เอสเอ็มอี” บอบช้ำสาหัส2ปีครึ่ง-ขอโอกาสฟื้น!
ทีมข่าว Special Report มีโอกาสสนทนากับ นายอาคม ศุภางค์เผ่า ประธานสมาพันธ์ เอส เอ็ม อีไทย ส่วนภูมิภาค กล่าวว่าพวกเราเอสเอ็มอีบอบช้ำ บาดเจ็บสาหัสกันมา 2 ปีครึ่ง จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 แต่เมื่อโรคระบาดคลี่คลายลงไป บ้านเมืองกลับสู่สภาพเกือบปกติ โดยมีการเลือกตั้งผ่านไปกว่า 2 เดือนแล้ว ในฐานะผู้ประกอบการได้เฝ้าติดตามเรื่องทางการเมือง เพราะอยากให้จัดตั้งรัฐบาลจบเร็วๆ อยากให้บ้านเมืองมีบรรยากาศที่ดี ไม่ต้องการให้มีการชุมนุมประท้วงรุนแรงเกิดขึ้น
เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ผูกโยงกับการท่องเที่ยว ถ้ามีการชุมนุมประท้วง การท่องเที่ยวจะมีปัญหา นักท่องเที่ยวจะยกเลิกการเดินทาง เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายต้องการให้บ้านเมืองนิ่ง ถ้าไม่นิ่งเขาก็ยังไม่ลงทุน และที่สำคัญคือต้องได้รัฐบาลที่ชัดเจนเร็วๆ ถ้าล่าช้าจะมีปัญหาเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ กระแสเงินล่าช้าๆ ไม่ดีแน่นอน เพราะรัฐบาลรักษาการทำได้แค่ประคับประคองเท่านั้น แต่ไม่มีการลงทุนใหม่ๆ
ดังนั้นจึงต้องมีรัฐบาลที่ชัดเจนเข้ามาบริหารประเทศ และเหลืออีกไม่กี่เดือนจะเข้าสู่ “ไฮซีซั่น” โดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์จีน ซึ่งห่างหายไปในช่วงโควิด-19 แต่เดือนก.ค.66 เป็นต้นไป กรุ๊ปทัวร์จีนที่ได้รับมาตราการผ่อนคลาย จะเริ่มออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศแล้ว
“เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจมี 3 ตัว ตัวแรกคือการลงทุนของภาคเอกชน ตอนนี้กำลังชะลอดูหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่ รอดูนโยบายรัฐบาล เครื่องยนต์ตัวที่ 2 คือการส่งออก กำลังติดลบอย่างต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้ว เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี ยังมีการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อราคาพลังงาน ทำให้ภาคการผลิตมีต้นทุนสูง ในขณะที่ผู้คนมีกำลังซื้อน้อย ดังนั้นจึงเหลือเครื่องยนต์ตัวที่ 3 คือการท่องเที่ยว ปัจจุบันที่จ.เชียงใหม่ มีนักท่องเที่ยวจากยุโรป อินเดีย ตะวันออกกลาง และชาวจีนบ้างแต่ยังไม่มาก แต่รวมๆกันแล้วนักท่องเที่ยวกลับมาประมาณ 60-70% ถ้าเดือนก.ค.66 เริ่มมีกรุ๊ปทัวร์จีนเข้ามา สถานการณ์ของธุรกิจโรมแรม ร้านอาหาร นวดสปา ร้านขายของที่ระลึก และเอสเอ็มอีในเซกเตอร์ต่างๆจะได้ลืมตาอ้าปาก และกล้ากลับมาลงทุนใหม่ หลังจากลำบากกันมา 2 ปีครึ่ง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในภาคเหนือ ต้องล้มหายตายจากไปถึง 50%”
วอนช่วยธุรกิจคนตัวเล็ก “ติดเครดิตบูโร” จบเลย!
นายอาคมกล่าวต่อไปว่าเอสเอ็มอีทั้งประเทศมีประมาณ 3.1 ล้านราย มีการจ้างงานหลายล้านคน มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศเกือบ 35% (เกือบ35%ของจีดีพีทั้งประเทศ) ในขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัฐบาลของเขาสนับสนุนผลักดันอย่างจริงจัง ทำให้เอสเอ็มอีเข้มแข็งมาก และมีเม็ดเงินหมุนเวียนสูงกว่า 40% ดังนั้นถ้ามีบริษัทใหญ่ๆล้ม หรือมีปัญา จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน เนื่องจากมีเอสเอ็มอีเข้มแข็งกระจายอยู่ทั่วประเทศ
ส่วนเอสเอ็มอีไทย เราพยายามมองไปที่จุดนั้นคือ 40% ของจีดีพี แต่ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี เนื่องจากปัจจุบันยังมีเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นจำนวนมาก เรียกว่าหนักหนาสาหัส ต้องพักหนี้ ติดหนี้ และเสียเครดิต เรียกว่าเป็นเอสเอ็มอีที่มีปัญหาเรื่องสินเชื่อ จะกลับมาลงทุนใหม่ก็ไม่มีเครดิต
ถ้ารายไหนติด “เครดิตบูโร” จบเลย! จะขอกู้ใหม่ก็ลำบาก แม้ในอดีตจะมีกระแสเงินหมุนเวียนดีก็ตาม ถือเป็นการซ้ำเติมธุรกิจของคนตัวเล็กไม่มีทางไป สุดท้ายก็ต้องใช้บริการนอมินี และใช้เงินนอกระบบที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง
ฝากรัฐบาลใหม่ 4 เรื่อง-การเมืองสงบนักท่องเที่ยวมาแน่!
ดังนั้นจึงต้องฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาลใหม่ตามลำดับของความเร่งด่วน คือ 1.ควรรีบเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจของคนตัวเล็ก ให้เข้าถึงแหล่งทุนที่ง่ายกว่านี้ ในอัตราดอกเบี้ยไม่สูงมาก รายไหนยังสามารถจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟได้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปดูแล และให้โอกาสกลับมาทำธุรกิจ
2.ต้องรีบตั้ง “กองทุนเอสเอ็มอี” และใส่เงินเข้ากองทุนให้มากพอ! ไม่ใช่ใส่มาแค่หมื่นล้านบาท ก้อนนิดเดียว แค่นี้ไม่พอ ทำไม?เรือดำน้ำลำละกว่าหมื่นล้านบาทยังซื้อได้ แต่หมื่นล้านบาทสำหรับเอสเอ็มอีทั่วประเทศคือเงินก้อนนิดเดียว เมื่อเทียบกับข้อมูลของภาครัฐที่บอกว่ามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 3.1 ล้านราย โดยปี 64 สร้างมูลค่า “จีดีพี” ถึง 5.60 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.6 ของ “จีดีดี” รวมทั้งประเทศ
3.ควรให้แต้มต่อสำหรับคนตัวเล็ก 10% ถ้ามีการประมูลแข่งขันงานในภูมิภาค หรือประกวดราคาแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ และ 4.ให้ภาครัฐช่วยผลักดัน “สภาเอสเอ็มอี” โดยมีพระราชบัญญัติรองรับ เหมือนกับ “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย-สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” เนื่องจากตอนนี้เอสเอ็มอียังอยู่กันแบบกระจัดกระจาย ภายใต้ปีกตรงโน้นตรงนี้
“ถ้าภาครัฐพยายามช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างเต็มที่ คือใส่เงินเข้ามาในกองทุน เพื่อฉุดให้คนตัวเล็กที่ล้มแล้วมีโอกาสฟื้นขึ้นมา เม็ดเงินหมุนเวียนที่จะขยับขึ้นไปสู่ร้อยละ 40 ของจีดีพี ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าสภาพการเมืองนิ่ง มีรัฐบาลใหม่เร็วๆ นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาแน่นอน โดยเฉพาะที่เชียงใหม่เคยมีนักท่องเที่ยวมากถึงเดือนละ 1 ล้านคน สร้างจีดีพีเดือนละ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการทุกคนอยากเห็นบรรยากาศแบบนั้นอีก” นายอาคม กล่าว