รายได้ประธาน-รองประธานสภาเกินแสนบาท
ผ่านไปแล้วสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 ในวันที่ 4 ก.ค. 66 เพื่อเลือกประธานสภา และรองประธานสภา อีก 2 คน ผลปรากฏว่านายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานสภา โดยไม่มี ส.ส. คนใดเสนอชื่ออื่นเข้าแข่งขัน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อายุ 79 ปี เกิดเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2487 ที่ จ.ยะลา จบมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง อ.เมือง จ.ยะลา และจบมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกวิทยาศาสตร์ จากโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท ครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สมาชิกรัฐสภาชอบเรียกว่า “อาจารย์วันนอร์” เนื่องจากเป็นนักการเมืองมุสลิม แกนนำกลุ่มวาดะห์ที่เก๋าเกมทางการเมือง เพราะเคยเป็นอดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เป็นชาวไทยมุสลิม ถือเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเป็น ส.ส.ยะลา สมัยแรกพรรคกิจสังคมในปี 2522 เป็นอดีต ส.ส. 9 สมัย เคยสังกัดในพรรคการเมืองคือ พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ และพรรคไทยรักไทย อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น รองนายกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย รมว.คมนาคม (2สมัย) และรมว.เกษตรและสหกรณ์
ส่วนประธานสภาฯ คนที่ 1 คือ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล อายุ 42 ปี เกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2524 สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ปริญญาตรีจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยศาสนศาสตร์ทรีนีตี้ ประเทศสิงคโปร์ น.สพ.ปดิพัทธ์ ทำงานเป็นนายสัตวแพทย์ปฏิบัติการเป็นระยะเวลา 2 ปี และทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนและแก้ไขปัญหาสังคมกับสมาคมนักศึกษาคริสเตียนไทย ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2561
ต่อมานายปดิพัทธ์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี 2562 สังกัดพรรคอนาคตใหม่ เขต 1 พิษณุโลก โดยได้รับคะแนนเสียง 35,579 คะแนน ชนะนายเศรษฐา กิตติจารุรักษ์ จากพรรคพลังประชารัฐ และชนะนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. 3 สมัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมานายปดิพัทธ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 2 ในปี 2566 สังกัดพรรคก้าวไกล เขต 1 พิษณุโลก ได้คะแนนเสียง 40,842 คะแนน มากเป็นอันดับ 1 ทำให้นายปดิพัทธ์ได้เป็นส.ส.สมัยที่ 2
ขณะที่ รองประธานสภาฯคนที่ 2 คือ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส. 5 สมัย จากพรรคเพื่อไทย อายุ 60 ปี เกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2506 สำเร็จการศึกษาเทคโนโลยีการเกษตรบัณฑิต สาขาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจอุตสาหกรรม วิทยาลัยบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
นายพิเชษฐ์เคยดำรงตำแหน่ง นายกองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยภาคเหนือ และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจ.เชียงราย เขต 5 ในปี 2546 สังกัดพรรคไทยรักไทย หลังจากนั้นได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2550 จ.เชียงราย สังกัดพรรคพลังประชาชน ปี 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย ปี 2562 สังกัดพรรคเพื่อไทย และครั้งล่าสุดปี 2566 เป็นส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย
สำหรับรายได้ของประธานสภาฯ แบ่งเป็นเงินเดือน 75,590 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวม 125,590 บาท ส่วนรองประธานสภาฯ ได้รับเงินเดือน 73,240 บาท เงินประจำแหน่ง 42,500 บาท รวม 115,740 บาท
สวัสดิการต่างๆของสมาชิกรัฐสภา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรไทยประกอบไปด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน สามารถเบิกค่าเดินทางได้เป็น 2 กรณี คือ 1.การเดินทางมาประชุมรัฐสภา กรณีที่ส.ส. พักอาศัยอยู่นอกจังหวัดที่ตั้งรัฐสภา ส.ส. จะได้รับค่าพาหนะในการเดินทางจากจังหวัดที่อาศัยอยู่เพื่อเข้าประชุมที่รัฐสภาได้ แต่มีข้อแม้ว่า จะสามารถเบิกค่าเดินทางในการเข้ามาประชุมได้เพียงครั้งแรกที่เดินทางเข้ารัฐสภาเพื่อมารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะคำนวณตามระยะทางของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเท่านั้น และสามารถรับค่าพาหนะในการเดินทางจากรัฐสภากลับไปจังหวัดที่อาศัยอยู่ได้ก็ต่อเมื่อสิ้นสุดสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วเท่านั้น
โดยส.ส. ที่เข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแล้ว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะต้องจัดใบเบิกค่าเดินทางให้แก่ ส.ส. เพื่อใช้สำหรับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ค่าโดยสารรถไฟ : มีผู้ติดตามได้ 1 คนในชั้นเดียวกัน รถยนต์ประจำทาง : มีผู้ติดตามได้ 1 คนในชั้นเดียวกัน และเครื่องบิน สำหรับการเดินทางกลับเมื่อประชุมสภาเสร็จแล้ว ส.ส. หรือคณะกรรมาธิการ ที่เดินทางโดยรถยนต์หรือพาหนะส่วนตัว สามารถขอรับสิทธิเงินชดเชยค่าพาหนะในการเดินทางได้ตามประกาศกำหนดสำหรับราชการของกระทรวงการคลัง
กรณี ส.ส.ต้องเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว ส.ส. สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ต่อเมื่อมีหนังสืออนุมัติจากประธานรัฐสภา หรือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เท่านั้นโดยกฎหมายกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับนายกรัฐมนตรี คือ สามารถเบิกค่าเดินทางไปราชการต่างประเทศได้ตามที่จ่ายจริง รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับรองนายกรัฐมนตรี คือ สามารถเบิกค่าเดินทางไปราชการต่างประเทศได้ตามที่จ่ายจริง
ส่วนส.ส.ให้ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับข้าราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง
โดยสามารถเบิกค่าเดินทางไปราชการต่างประเทศได้ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปราชการเป็นหมู่คณะ หรือเดินทางไปราชการคนเดียว แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไข กรณีเดินทางไม่เกิน 15 วัน เบิกจ่ายค่าเดินทางได้ไม่เกิน 67,000 บาท กรณีเดินทางเกิน 15 วัน สามารถเบิกจ่ายค่าเดินทางได้ไม่เกิน 100,000 บาท (อ้างอิงระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2550)
ทางด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลของสมาชิกรัฐสภา จะได้รับเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ ได้แก่ เงินชดเชยค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการตรวจสุขภาพประจำปี การรักษาพยาบาลกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล และสามารถนำหลักฐานการขอเบิกเงิน หรือหลักฐานการจ่ายเงิน ให้นำใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลมาเบิกได้ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ออกใบเสร็จรับเงิน
ส่วนในกรณีที่หลักฐานการจ่ายค่ารักษาพยาบาลหายก็สามารถเบิกได้ตามปกติ ตามระเบียบของทางราชการ คือ การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของราชการและเอกชน กรณีรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) 4,000 รวมค่าบริการการพยาบาล ค่าห้อง ไอ.ซี.ยู./ซี.ซี.ยู./วัน (สูงสุด 7 วัน/ครั้ง) 10,000 ไม่รวมค่าผ่าตัด ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง 100,000 บาท ค่ารถพยาบาล 1,000 บาท
ค่าแพทย์ผ่าตัด/ครั้ง 120,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในห้องผ่าตัด เช่น ค่าแพทย์ผ่าตัด ค่าวิสัญญีแพทย์ ค่าใช้อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในห้องผ่าตัด ค่าเครื่องมือดมยา ค่าผ่าตัดด้วยกล้อง ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) 1,000 บาท ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค/ครั้ง 4,000 บาท การคลอดบุตรธรรมชาติ 20,000 บาท คลอดโดยการผ่าตัด 40,000 บาท การรักษาทันตกรรม/ปี 5,000 บาท
กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก เป็นค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ปี 90,000 บาท รวมการรักษาภายใน และอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน/ครั้ง 20,000 บาท 15 วัน ไม่รวมกับค่าใช้จ่ายทั่วไป และการตรวจสุขภาพประจำปี 7,000 บาท
ทีมงาน ส.ส.-ประธานสภา-รองประธานสภา
โดยปกติผู้ที่เป็น ส.ส. จะมีผู้เชี่ยวชาญประจำตัวจำนวน 1 อัตรา ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 24,000 บาท ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 อัตรา ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท และผู้ช่วย ส.ส. 5 อัตรา ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท
ขณะที่ประธานสภา และรองประธานสภา สามารถแต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภา คณะทำงานทางการเมืองของรองประธานสภา คือ ที่ปรึกษาได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 20,000 บาท นักวิชาการได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 18,000 บาท และเลขานุการได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 15,000 บาท