ที่โรงแรมแคนทารี 304 ปราจีนบุรี อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) สมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย ล้านนาด็อกเวลแฟร์ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) และกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมองค์กรเครือข่ายอื่นๆ ร่วมกันจัดสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อเรื่อง 8 ปี การบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดยสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และองค์กรเครือข่าย ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงจัดการสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อรวบรวมสรุปประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ จากองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้ปฏิบัติและผู้มีประสบการณ์ตรงจากการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการบังคับใช้กฎหมาย

บรรยากาศในการสัมมนา เริ่มต้นด้วยการรับชมภาพยนตร์สั้น “รักไม่ปล่อย” และปล่อยนกบุญหรือบาป? เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการปล่อยสัตว์ว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ การกล่าวต้อนรับผู้ร่วมสัมมนา โดย คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย การเปิดงานโดย นายสัตวแพทย์ธีระวุฒิ สุวัธนะเชาว์ ที่ปรึกษากรมปศุสัตว์ พร้อมมีการเสวนาเรื่องแนวทางการสร้างจิตสำนึกรักสัตว์อย่างรับผิดชอบโดย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ที่ปรึกษาอาวุโส IUCN คุณอมร ชุมศรี ผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ดำเนินการโดย คุณพรอัปสร นิลจินดา อดีตผู้อำนวยการส่วนจัดและควบคุมรายการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ (NBT) และมีช่วง ศิลปะยึกยือเพื่อพัฒนาจิตและสร้างสำนึกสวัสดิภาพสัตว์ โดย ดร.พลเดช วรฉัตร อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ศรีลังกาและมัลดีฟส์ นายกสโมสรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ อีกด้วย

สำหรับปัญหาและอุปสรรคระหว่างการบังคับใช้กฎหมาย 8 ปี เช่น ขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการติดตาม การบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้อำนวยความยุติธรรมเท่าที่ควร การร้องทุกข์กล่าวโทษมักไม่ค่อยได้รับความสะดวก หรือขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานก็ยังมีความไม่ชัดเจน ในการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ขาดการบูรณาการแก้ไขปัญหาได้อย่างเต็มศักยภาพ แม้กลไกราชการส่วนกลางจะมีความพยายามกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น แต่อำนาจหน้าที่และกฎหมายบางฉบับยังมีข้อจำกัดในการดำเนินงาน มีความพยายามในการจัดให้ขึ้นทะเบียนสัตว์และองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ตามกฎหมายเพื่อให้การสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์และสัตว์จรจัด แต่การดำเนินการก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร การให้ข้อมูลและความสนใจของสาธารณชน โดยเฉพาะการนำ พ.ร.บ.ฯ และกฎหมายลำดับรอง รวมถึงการตีความและการนำกฎหมายไปใช้ยังขาดความแม่นยำชัดเจน บางครั้งก็สร้างความสับสนให้เกิดขึ้นทางสังคมนอกจากการบังคับใช้กฎหมายแล้วการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากสัตว์ กระแสสังคมมักจะมองผลที่เกิดจากปลายเหตุ และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสัตว์ มักขาดองค์รวมและองค์ประกอบตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากล

โดยที่ประชุมมองว่ากฎหมายฉบับนี้ดีเพราะเป็นบรรทัดฐานทางสังคมในด้านการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ของประเทศไทย สำหรับตัวบทรายมาตราตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ค่อนข้างครอบคลุมและปกป้องการทารุณกรรมและการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี แต่เมื่อการบังคับใช้เป็นระยะเวลากว่า 8 ปี สภาพบริบททางสังคมบางประการก็เปลี่ยนไป การเพิ่มเติมหรือขยายองค์ประกอบบางรายมาตรา จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ ในการอำนวยความสะดวกและสร้างความยุติธรรม ให้เกิดดุลยภาพ สมดั่งเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้มากยิ่งขึ้น.