สัปดาห์นี้ ย้ายโหมดการเดินทางมาที่ “ระบบราง” เพื่อติดตาม “รถไฟโดยสารต้นแบบคันแรกของประเทศไทย” ในโครงการวิจัยรถไฟไทยทำ ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม “ไทยเฟิร์ส” ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน ซึ่ง “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ได้เปิดตัว “รถไฟไทยทำ” ไปเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2565 สร้างปรากฏการณ์ความว้าวว!!….คนไทยก็เจ๋งผลิตรถไฟได้เหมือนกัน

ประเทศไทยมีจุดบอดเรื่องการวิจัยและพัฒนา (Research and Development หรือ R&D) รถไฟไทยมีมา 100 กว่าปี เคยผลิตรถไฟต้นแบบเมื่อ 40-50ปีก่อน ได้ไม่กี่คัน แต่ก็ยกเลิกไป เมืองไทยมีอุตสาหกรรมมากมาย แต่ยืมเทคโนโลยีเค้ามา ต้องคืนเขาไป ไม่มีเทคโนโลยีของเราเอง ภาครัฐกำลังก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากโครงการก่อสร้างทางรถไฟทยอยแล้วเสร็จ

…เราต้องการรถไฟมหาศาล ประมาณ 2,500 ตู้ใน 20 ปี ราคาตู้ละประมาณ 50-100 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับความหรูหรา เม็ดเงินกว่าแสนล้านบาท จะไหลออก ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย จะต้องซื้อเค้าไปตลอดไม่มีวันที่เราจะผลิตเองได้ โครงการวิจัยรถไฟไทยทำ จึงเกิดขึ้น เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ (Local Content) และลดนำเข้าเทคโนโลยี”……ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะรองหัวหน้าโครงการรถไฟไทยทำ Thai Makes Train “Beyond Horizon” บอกเล่าที่มาของ “รถไฟไทยทำ”

ผศ.ดร.รัฐภูมิ อัปเดตความคืบหน้าล่าสุดของโครงการด้วยว่า การพัฒนารถไฟไทยทำ จะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. นี้ โดยอยู่ระหว่างเก็บรายละเอียดอีกเล็กน้อย และภายในเดือน มิ.ย. นี้ สจล. จะประชุมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อเตรียมทดสอบเดินรถ “รถไฟไทยทำ” โดย รฟท. จะเป็นผู้พิจารณาระยะเวลาการทดสอบเดินรถ และเส้นทางที่จะทดสอบเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด รวมทั้งมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทดสอบเดินรถก่อนส่งมอบให้ รฟท. นำไปใช้บริการประชาชนร่วมจัดริ้วขบวนรถไฟของ รฟท. ต่อไป เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มทดสอบเดินรถได้ตั้งแต่เดือน ก.ค. นี้

รถไฟไทยทำต้นแบบมีชื่อรุ่นว่า “สุดขอบฟ้า (Beyond Horizon)” รหัสรุ่นคือ TMT-PC-BH001 ที่มาของชื่อจากไอเดีย 1.ความหรูหรา(Luxury) ของตู้รถไฟที่ตั้งใจจะยกระดับการบริการและทำให้เป็นที่สุดในการให้บริการของ รฟท. 2.ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้พัฒนาด้วยว่า คนไทยก็สามารถทำให้สุดได้

ตู้รถไฟโดยสาร “สุดขอบฟ้า” ใช้งบประมาณการวิจัยเฉพาะการพัฒนารถ รวมแคร่ และงานระบบ ประมาณ 32 ล้านบาท ไม่รวมงบประมาณในการวิจัยและทดสอบ โดยได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับบริษัท กิจการร่วมค้าไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด

โครงสร้างตัวรถ และความปลอดภัยของรถนั้น ได้ออกแบบ และทดสอบภายใต้มาตรฐานยุโรป มีความยาว 24 เมตร กว้าง 2.80 เมตร สมรรถนะและการใช้งานเป็นไปตามข้อกำหนดของ รฟท. มี 25 ที่นั่ง การออกแบบสถาปัตยกรรม และการจัดวางพื้นที่ภายในตู้โดยสาร ได้รับแรงบันดาลใจจากการให้บริการบนเครื่องบิน และรถไฟความเร็วสูงในชั้น First Class และ Business Class ประกอบด้วย Super Luxury Class 8 ที่นั่งแบ่งเป็น 2 แถว แถวละ 1 ที่นั่ง และ Luxury Class 17 ที่นั่ง แบ่งเป็น 2 แถว แบบ 1 เก้าอี้ และ 2 เก้าอี้

เมื่อเดินเข้าไปภายในตัวรถ จะเป็นที่เก็บกระเป๋าสัมภาระ และเป็นที่นั่ง Super Luxury Class ถัดไปเป็นห้องน้ำอยู่ตรงกลาง และเดินทะลุไปจะเป็นที่นั่ง Luxury Class

สำหรับชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 44% ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม ที่กำหนดว่าต้องไม่น้อยกว่า 40% ส่วนที่เหลืออีก 56% เป็นชิ้นส่วนที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และไม่มีผู้ประกอบการในประเทศ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ แคร่ และห้องน้ำระบบสุญญากาศ เป็นต้น เบื้องต้นจากการประเมินค่าใช้จ่ายในการพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ พบว่า มีราคาถูกกว่าการนำเข้าไม่น้อยกว่า 30% ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อ รฟท. และประเทศชาติอย่างแท้จริง ตู้รถไฟโดยสารตู้นี้ ราคาทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท

กับคำถาม??….ที่ว่าทำไมไม่พัฒนารถไฟชั้น 3 เพื่อให้เข้าถึงและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนกลุ่มใหญ่…..ผศ.ดร.รัฐภูมิ อธิบายว่า ทีมวิจัยอยากให้ประชาชนทุกคนเข้าใจ และมองว่า หาก รฟท. มีรายได้มากขึ้นจะสามารถนำรายได้ไปจัดหา หรือพัฒนารถโดยสารชั้น 3 มาให้บริการประชาชนได้มากขึ้น ปัจจุบันค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 ต่ำกว่าต้นทุนมาก เช่น ราคา 2 บาท ขณะที่ต้นทุน 10 บาท

การพัฒนารถไฟโดยสารแบบ Luxury ต้องการทำให้สามารถแข่งขันกับสายการบินที่ให้บริการภายในประเทศ รวมถึงรถยนต์ส่วนตัวได้ เพื่อดึงผู้โดยสารกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่อาจไม่เคยใช้บริการรถไฟมาก่อน ได้หันมาใช้บริการรถไฟของ รฟท. อยากให้มองที่การหารายได้ก่อน ส่วนรถไฟชั้น 3 หรือตู้โดยสารแบบอื่นๆ ก็สามารถทำได้แน่นอนภายใต้องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้

ใกล้แล้วที่คนไทยจะได้ใช้บริการรถไฟไทยทำคันแรก..สุดขอบฟ้า

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…