หลังจากปลุกกระแสเรื่อง “ลูกชิ้นยืนกิน” จ.บุรีรัมย์ เมื่อปี 64 ของ นักร้องสาวคนดังอย่าง ลิซ่า BLACKPINK หรือ ลลิษา มโนบาล ก็ทำให้กระแส “ซอฟต์พาวเวอร์” หรือ “อำนาจละมุน” ในประเทศไทย เป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก

ไม่ใช่เพียงแค่ลูกชิ้นยืนกิน!! ที่ปลุกเศรษฐกิจ ปลุกความสนุกสนาม ปลุกความมีชีวิตชีวา ความเป็นประเทศไทย คนไทย ให้คนทั่วโลกได้รู้ แต่ยังมีเรื่องของ “รัดเกล้า” เครื่องประดับศรีษะสตรีสูงศักดิ์ในราชสำนัก เรื่องของ “ยาดม

ล่าสุด…ที่กำลังเป็นกระแสฮือฮาอยู่ในขณะนี้คือ การที่ “ลิซ่า” สวมเสื้อผ้าฝ้ายแขนสั้น กับ ผ้าซิ่นมัดหมี่ขิดย้อมคราม ไปเที่ยววัด และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

เรียกได้ว่า “ลิซ่า” กลายเป็น พลังซอฟต์พาวเวอร์ของไทยอย่างแท้จริง !! เพราะสามารถปลุกกระแสคนทั้งโลก ให้มาทำตาม ทั้งเรื่องของการกิน การแต่งตัว การท่องเที่ยว

นั่นหมายความว่า… เป็นการ “เบิกทาง” ให้ประเทศไทย ทั้งรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถหยิบฉวย “พลังลิซ่า” มาสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยได้ไม่น้อยทีเดียว

โดยรัฐบาลของ “ลุงตู่” ได้ประกาศนโยบายอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนซอฟเพาเวอร์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ผ่านทุนทางวัฒนธรรม “5F” คือ อาหาร (Food) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fight) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) และเทศกาลประเพณีไทย (Festival)

เพจเชียร์ 'ลุงตู่' ชี้สื่อต่างชาติยกย่อง นายกฯ ประยุทธ์ บริหารเศรษฐกิจสุดปัง

ที่ผ่านมา เมื่อปี 64 นิตยสาร CEO World magazine ได้จัดอันดับให้ ไทย ให้เป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ทรงอิทธิพลทางด้านมรดกวัฒนธรรมของโลก

ขณะที่ในปี 65 บริษัท Brand Finance Positioning ได้จัดอันดับให้ ไทย เป็นประเทศที่มีซอฟต์พาวเวอร์ทรงพลังที่สุดในโลก ในอันดับ ที่ 35ของโลก จากทั้งหมด 120 ประเทศทั่วโลก ลดลงจากปีก่อนหน้า 2 อันดับ

แม้อันดับลดลงบ้าง แต่ก็ถือว่า…เป็นอันดับที่ดีเมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน หากพัฒนาให้ต่อเนื่องก็สามารถที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้

แม้ว่าพลังละมุนของไทย จะเป็นเรื่องยากที่นำประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ชัดเจน เพราะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหลายสาขา แต่ก็มีการประเมินประมาณการณ์กันว่าได้ช่วยให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูงถึง 1.46 ล้านล้านบาท

โดยสาขาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มาเป็นอันดับแรก ที่สามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 4 แสนล้านบาท รองลงมา คือ อาหารไทย สร้างมูลค่ากว่า 2.67 แสนล้านบาท อันดับสาม คือโฆษณา สร้างมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท อันดับสี่ คือ แฟชั่น สร้างมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท และออกแบบ สร้างมูลค่ากว่า 1.25 แสนล้านบาท

แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากซอฟต์พาวเวอร์จะมีเป็นจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมา การผลักดัน การดำเนินการของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูเหมือนจะออกมาแบบต่างคนต่างทำ

อย่างที่เห็น เมื่อใด? ที่มีคนดัง ทำอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ ก็จะกลายเป็นข่าวคราว เป็นพัก ๆ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ที่สร้างกระแสเป็นพัก ๆ เท่านั้น

ขณะที่ในต่างประเทศได้ดึงเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ เข้ามาสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ซึ่งในแต่ละปีสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามา “ตามรอย” ได้เป็นจำนวนไม่น้อย อย่างญี่ปุ่นก็ตั้งเป้าหมายไว้ถึง 60 ล้านคน ในปี 2573

หันมาดูที่ไทย ที่เพิ่งแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 โดยมี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีรมว.วัฒนธรรม เป็นรองประธาน

โดยแผนระยะสั้น 6-12 เดือน บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ ได้เน้นไปที่การผลักดันคอนเทนต์ 5F ที่เป็นที่นิยมและสอดคล้องกับความต้องการเข้าสู่ตลาดอาเซียนและเอเชียเผย การแพร่ภาพลักษณ์วัฒนธรรมสร้างสรรค์ของประเทศ

นอกจากนี้จะมีการขยายการสนับสนุนธุรกิจคอนเทนต์และดิจิทัลคอนเทนต์ในไทย โดยจัดกิจกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยมีกว่า30 โครงการที่จะขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดขึ้นในปี 2566 และปี 2567 !!

ต้องยอมรับว่า…ปัญหาการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ยังเดินหน้าไม่เต็มที่นัก จะด้วยคิดช้า คิดไม่ถึง ต่างคนต่างทำ หรือปัญหาการเมืองก็ตาม

ก็ได้แต่หวังว่า…เมื่อการเมืองจบ!! เรื่องราวของซอฟท์พาวเวอร์ ควรจะมาอย่าง “เป็นระบบ” โดยภาครัฐต้องเข้ามาดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ใช่มาเพราะ”โชคช่วย” หรือเพียงแค่เกาะกระแสเป็นพัก ๆ แล้วปล่อยให้เงียหาย!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”