Free photo land plot with nature landscape and location pin

กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์กันอีกครั้ง…กับเรื่องราวของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2566 ที่ ผู้ว่าฯ กทม. ออกตัวแรง ขอให้รัฐบาลชุดใหม่ทบทวนการจัดเก็บภาษีนี้

ที่สำคัญ!! ยังเปรย ๆ พร้อมส่งสัญญาณให้ยกเลิก และหันกลับไปใช้ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่เหมือนเดิม โดยระบุว่าภาษีที่ดินฯ ได้ทำให้การจัดเก็บภาษีของ กทม.ลดลง

โดยเฉพาะห้างดังในย่านเขตพญาไท ที่เสียภาษีลดลงไปถึง 10 เท่า จากเดิมที่ต้องเสียภาษีประมาณ 10.7 ล้านบาท โดยคำนวณจากยอดขายและค่าเช่า ที่นำมาเรียกเก็บภาษีในอัตรา 12.5%

แต่…กลับกลายเป็นว่า เมื่อเปลี่ยนมาคิดภาษีตามมูลค่าที่ดิน ห้างดังแห่งนี้จะเสียภาษีที่ดินฯ เพียง 1.08 ล้านบาทเท่านั้น นั่นหมายความว่าภาษีใหม่ไม่ได้ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะผู้มีรายได้มากกลับเสียภาษีน้อยลง

ด้าน “กระทรวงการคลัง” เองก็ออกเอกสารชี้แจงถึงปัญหาที่ กทม.ยังจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ได้น้อย เป็นเพราะ…ในช่วง 3 ปีแรก (63-65) ของการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ได้มีมาตรการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ประชาชน

Free photo winding road through a city park

ขณะเดียวกันในช่วงปี 63-64 ที่ประเทศไทย ประชาชนคนไทย ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด รัฐบาลจึงออกมาตรการลดภาษีให้มากถึง 90% เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน

นอกจากนี้ ครม.เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ยังมีมติให้ปรับลดภาษีที่ดิน ในปี 66 ลงอีก 15% ของภาษีที่คำนวณได้ เพราะคาดว่าประชาชนคนไทยต้องเสียภาษีเพิ่ม เนื่องจากราคาประเมินที่ดินใหม่ทั้งประเทศรอบปี 66-69 นั้นได้ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8%

ดังนั้น!! เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาในช่วงนี้ไปแล้ว เมื่อกฎหมายภาษีที่ดินฯสามารถบังคับใช้ได้ตามปกติ ก็น่าจะทำให้การจัดเก็บภาษีมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นการจัดเก็บภาษีที่อิงจากมูลค่าราคาที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ที่ตามปกติแล้วจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว

ที่สำคัญ… หาก กทม.ทำการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายในเขต กทม. และมีฐานข้อมูลที่สมบูรณ์แล้ว เชื่อได้เลยว่าการจัดเก็บภาษีที่ดินจะเพิ่มขึ้นตามที่ควรจะเป็นแน่นอน

นอกจากนี้กฎหมายภาษีที่ดินฯ ยังให้อำนาจผู้ว่ากทม.สามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ให้สูงขึ้นกว่าที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 ได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้

ด้วยเหตุผล ด้วยข้อมูลเช่นนี้…กระทรวงการคลัง จึงชี้ชัดว่า ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องมานั่งทบทวนกฎหมายฉบับนี้กันอีก เพราะกว่าจะผลักดันกันออกมาได้ ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีทีเดียว

กระทรวงการคลังยังมั่นใจด้วยว่า เป็นกฎหมายที่ทันสมัย เป็นปัจจุบัน เป็นสากล และยังเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นให้มีรายได้โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน

ณ เวลานี้ แม้จะยืนกราน!!กับการใช้กฎหมายภาษีที่ดินฯ แต่ทั้งหมด… ต้องมาดูด้วยว่า เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามา แล้วจะหยิบยกเรื่องนี้มาทบทวนหรือไม่

หาก!! ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เดินหน้าไปได้ฉลุย โดยมี ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ที่ชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และมี ว่าที่ รมว.คลังหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ 148 ปี กระทรวงการคลัง ที่ชื่อ “ศิริกัญญา ตันสกุล” ก็น่าเชื่อได้ว่า กฎหมายฉบับนี้คงไม่ย้อนกลับไปเป็นเหมือนเดิม

แต่อาจกระเทือนบรรดาเศรษฐีที่ดินมากขึ้น เพราะพรรคก้าวไกล นั้นมีนโยบายปรับปรุงการจัดเก็บภาษีที่ดิน โดยเสนอพัฒนาระบบภาษีที่ดินแบบ “รวมแปลง”

หรือพูดง่าย ๆ ก็นำมูลค่าที่ดินทั้งหมดที่ถือยู่ทั้งในนามบุคคล ในนามนิติบุคคล มารวมกันทั้งหมด แล้วจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า โดยคิดจากมูลค่าที่ดินที่เกิน 300 ล้านบาท และลดหย่อนหรือให้ส่วนลดภาษีที่ดินสำหรับพื้นที่ที่ถูกใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ อย่างพื้นที่สีเขียว พื้นที่อนุรักษ์ระบบนิเวศ พื้นที่สาธารณะ ตามระยะเวลาที่ตกลงกันประมาณ 3-10 ปี เป็นต้น

แต่!! ถ้าไม่ใช่ กลายเป็น “พรรคเพื่อไทย” ที่เข้ามาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ก็มีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน ว่าพรรคเพื่อไทยจะหันมาใช้ภาษีเดิม เพราะก่อนหน้านี้ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เคยบอกไว้ว่า…กฎหมายภาษีที่ดินฯ กำลังสร้างปัญหา

Photo land plot in aerial view top view land green field agriculture plant with pins pin location icon for housing subdivision residential development owned sale rent buy or investment countryside suburbs

เพราะ….หลักการทางภาษีของไทย คือ ความสามารถในการจ่าย ขณะที่การใช้อัตราภาษีใส่ไปในมูลค่าทรัพย์ ทำให้หน่วยงานที่มีความสามารถในการจ่ายภาษีโรงเรือนที่ดี ภาษีกลับลดลงไปมาก ส่วนคนที่ไม่เคยต้องจ่าย กลับต้องจ่ายมากขึ้น ไม่ช่วยลดการเหลื่อมล้ำอะไร

ทั้งหมด!! ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วอะไรจะเกิดขึ้น แต่ที่แน่ ๆ ภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ บรรดาเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็ต้องไปเสียภาษีกันให้ถูกต้องซะก่อน ไม่เช่นนั้น… อาจเจอทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ก่อนมาลุ้นกันต่อไปว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเอาอย่างไรกับภาษีตัวนี้!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”