ช่วงนี้เรื่องกระแส เรื่องแย่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรกำลังแรง เพื่อไทยดึงดันจะเอาเก้าอี้นี้ เนื่องจาก “มีเสียงต่างจากพรรคอันดับหนึ่งแค่สิบนิดๆ เมื่อก้าวไกลได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารไปแล้ว เพื่อไทยควรได้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” ขณะที่พรรคก้าวไกลเขาก็ต้องการจะเอา บอกว่า “เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่พรรคอันดับหนึ่งต้องได้ทั้งประมุขฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ” วันที่ 31 พ.ค.นี้ ก็จะเจรจากันอีกรอบ ซึ่งก็ไม่รู้ว่า จบลงด้วยดีหรือไม่ การเมืองมันมีตลบหลังกันได้ตลอดล่ะถ้าผลประโยชน์ไม่ลงตัว

ทำไมเพื่อไทยต้องการเก้าอี้ประธานสภาฯ? ก็มีหลายคนบอกว่า เอาไปก็เท่านั้น เพราะไม่ได้ช่วยในการเร่งรัดกฎหมายอะไรของพรรคก้าวไกลหรอก ประธานสภาฯ ต้องมีความเป็นกลาง บรรจุกฎหมายเข้าตามระเบียบวาระ และมันก็มีเอ็มโอยูเซ็นกำกับอยู่แล้วระดับหนึ่งว่า กฎหมายอะไรที่ “ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล” เห็นชอบ ..แต่สายทฤษฎีสมคบคิดเขาว่า “เพราะตำแหน่งประธานสภาฯ คุมการเลือกนายกฯ ไง”

คือเอาจริง พอมีการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว ก็รอดูว่ามีเสียงรับรองถึง 376 เสียงหรือไม่ ถ้าเสียงรับรองไม่ถึงเสียที ก็เสนอชื่อนายพิธาแล้วประชุมมันอยู่นั่นแหละจนกว่าจะโหวตได้ถึง ..ประธานสภาฯ นี่ขอเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯ ที่โหวตไม่ได้ แต่อาจรับฟังเสียงสมาชิกรัฐสภาที่เสนอได้ ว่า “ถ้ามันไปไม่ได้เสียที ก็ลองเปลี่ยนแคนดิเดตนายกฯ พรรคอื่นหรือไม่”

โอเคว่า เอ็มโอยูที่ลงนามกันไปเนี่ย อาจรัดคอพรรคเพื่อไทยแล้วว่า “อย่างไรก็ต้องสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ” แต่ถ้ามันไปไม่ได้จริงๆ แบบตะบี้ตะบันอย่างไรก็ทำให้นายพิธาได้เสียงถึง 376 เสียงไม่ได้ จะรอให้รัฐบาลบิ๊กตู่อยู่ไปจน ส.ว.ชุดบทเฉพาะกาลหมดวาระ (ส.ว.ที่โหวตนายกฯ ได้มีชุดนี้ชุดเดียว) ก็เห็นจะรอกันเงกข้ามปี ทีนี้ ก็จะมีผู้เสนอให้ประธานสภาฯ เปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯ หรือกระทั่งขอให้ใช้เสียงสมาชิกสองสภา ให้รับรองว่าจะให้เสนอ “นายกฯ คนนอก” คือนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมือง ถ้าสมาชิกสองสภารับรอง คราวนี้ “เฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” เท่านั้นที่เสนอได้ ก็ดูว่าเสนอใคร …แต่ที่ว่ามา ประธานสภาฯ ทำเองโดยพลการไม่ได้ ต้องใช้เสียงสมาชิกเสนอและลงมติ ตอนนั้นก็ขึ้นอยู่กับประธานสภาฯ เดินเกมอย่างไร

คนก็เลยพูดกันไปเรื่อยเรื่อง ดีลลับ ว่าเพื่อไทยหาทางชิ่งโดยไปเจรจากับพรรคอื่นๆ ไว้แล้วถีบก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็มีเสียงค้านว่า “ทำแบบนั้นระวังเลือกตั้งเที่ยวหน้าเพื่อไทยสูญพันธุ์นะ” ก็…ไม่รู้สินะ เผลอๆ เขาอาจไม่แคร์ก็ได้ เอแค่ทำอย่างไรให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ “กลับบ้านแบบเท่ๆ” แล้ว รัฐบาลที่ไม่มีก้าวไกลก็ทำงานไป ทำผลงานดีๆ เปิดศึกด้านแนวรบโซเชียลเน็ตเวิร์กดีๆ สร้างกลุ่มแฟนคลับแข็งแรง ก็ไม่ใช่ว่าเพื่อไทยจะกลับมาไม่ได้..

ตอนนี้ก้าวไกลกำลังเด่น เรื่องกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ยกเลิกทหารรับใช้ สมรสเท่าเทียม กับที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาพูดเรื่องส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก ขณะที่นโยบายด้านเศรษฐกิจนั้น หลังจาก น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ที่ว่ากันว่าจะมาเป็น รมว.คลัง ไปออกสื่อเล่าเรื่องการขึ้นภาษี การเก็บภาษีแบบใหม่เช่น ภาษีความมั่งคั่ง หรือนโยบายด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ก็ถูกนักวิชาการหรือกลุ่มทุนติงว่า “เป็นนโยบายสังคมนิยมเกินไป” คือการเพิ่มภาษีคนรวยเพื่อมาจัดสรรทำรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แต่ปัญหาคือ กลุ่มทุนเหล่านี้เป็นกลไกฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ การเพิ่มค่าใช้จ่ายอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค บริโภคที่สูงขึ้นไปจนถึงการเลิกจ้างงานและเอาระบบคอมพิวเตอร์แทนแรงงานคน

ขณะที่ นายเซีย จำปาทอง ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นปีกแรงงาน ประกาศจะต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาททันที ยิ่งทำนักลงทุนหัวหด เพราะต้นทุนการผลิตจะเพิ่มอย่างมาก และทำนายได้ เมื่อไรเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเข้าสู่วงหารือคณะกรรมการสามฝ่าย ของเตรียมแพงนำไปก่อนแล้วจ้า …แบบว่า คนไทยคงมีกำลังซื้อเยอะขึ้นเนาะ สงสารก็แต่พวกมนุษย์เงินเดือนที่กว่าจะขึ้นเงินเดือนทีแทบรากเลือด เจอของแพงต้อนรับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำเข้าไปอีก…ก็อยากให้พูดให้ชัดว่า มีมาตรการในการตรึงราคาสินค้าหรือไม่ อย่างไร

ที่เขาเสียวๆ กันอยู่ คือเรื่อง VAT ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่มันมีการตรึงไว้ที่ร้อยละ 7 มานาน คราวนี้จะปล่อยเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อหารายได้เข้ารัฐ ในการทำรัฐสวัสดิการ ซึ่งก็ไม่รู้..รอดูว่าพรรคก้าวไกลจะได้ตั้งรัฐบาลตามเอ็มโอยูหรือไม่ ..คือไม่อยากให้ไปยึดติดอะไรกับไอ้เจ้าเอ็มโอยูนี่มาก จำไว้ได้เลยว่า “การเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ถ้าผลประโยชน์ถึง” แม้ว่าที่สุดแล้วเพื่อไทยอาจยอมถอยเรื่องเก้าอี้ประธานรัฐสภา แต่เป็นไปได้กระทั่งถ้ามี “ตัวแปร” บางอย่างเข้ามา ก็ตลบหลังกันกลางสภาได้ สมมุตินะ…ถ้าเพื่อไทยประกาศนโยบายไม่เอานิรโทษกรรม แต่ก้าวไกลขอเสนอในนามพรรค ทีนี้ ก็อาจมีการปล่อยข่าวอะไรบอกว่า “หลังเซ็นเอ็มโอยูไปกันไม่ได้เพราะขัดแย้งเรื่องนิรโทษกรรม”

บางคนก็งงว่า จะขัดแย้งกันทำไมเรื่องนิรโทษกรรมคดีการเมือง? คือมันจะเป็น การนิรโทษกรรมให้ผู้ต้องหาคดีอาญา ม.112 ไงทางเพื่อไทยเขาประกาศจุดยืนที่จะไม่ยุ่งเรื่องนี้ หลายพรรคก็ประกาศจุดยืนนี้ ส.ว.ก็ไม่เอาด้วย เผลอๆ ตั้งรัฐบาลไปแล้ว เสนอเป็นกฎหมายโดยก้าวไกลมาโดนตีตก แล้วก็กลายเป็นชนวนให้ทุบกันเอง สุดท้ายไปกันไม่รอด เพื่อไทยถอนตัวทำให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย กฎหมายอะไรเพื่อไทยไม่หนุนให้ก็แย่ กฎหมายไม่ผ่าน

หรือไม่แน่…บางคนก็คงกำลังรอส้มหล่น ศาลรัฐธรรมนูญสอย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เหตุ ขาดคุณสมบัติเนื่องจากถือหุ้นสื่อ ..คำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไรก็ได้อย่าไปคิดทำนายเลย ทีนี้ ถ้านายพิธา เป็นนายกฯ แล้ว ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้ง ครม. มาเลือกนายกฯ ใหม่ กลายเป็นว่า ไม่มีคนจากก้าวไกลเพราะดันเสนอแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว ส้มก็หล่นไปเพื่อไทย  

อย่างไรก็ตาม เรื่องการโหวตเลือกนายกฯ มีคนพยายามเสนอเป็นข้อเท่ๆ ว่า “แต่ละพรรคที่มุ่งปิดสวิตช์ ส.ว. ควรมาโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ เพื่อแสดงสปิริต อุดมการณ์ทางการเมือง แล้วจากนั้นก็ไปเป็นฝ่ายค้านอย่างมีเกียรติ” ซึ่งข้อเสนอนี้ อุดมคติไปหน่อย ..แนวๆ ให้ฉันโหวตไม่ได้อะไร แล้วฉันจะโหวตให้ทำไม… ส่วนเสียง ส.ว. ที่หวังจะได้ถึง 70 กว่าเสียง ตอนนี้ก็ไม่ทราบทาบทามได้กี่เสียง…ที่น่าสนใจคือ ส.ว.เนี่ย ทหารแก่เยอะ ไปพูดเรื่อง ปฏิรูปกองทัพ ลดขนาดกองทัพ ลดจำนวนนายพลที่เฟ้อจนไม่มีที่ลงต้องไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ยกเลิกทหารรับใช้ หรือตัดงบซื้ออาวุธ ฯลฯ อะไรที่ กระเทือนทหาร พวก ส.ว.ทหารแก่ไม่น่าปลื้ม เพราะสถาบันทหารนี่แช่แข็งตัวเองกับวัฒนธรรมเดิมๆ มานาน

ขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ ผลการเจรจาเรื่องเก้าอี้ประธานสภาฯ ยังไม่ออก จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เพื่อไทยจะถอยหรือไม่ หรือยักแย่ยักยันพูดกันอีกหลายนัดก็แล้วแต่ ประชาชนก็ขอให้มันทำเร็วๆ หน่อย ตกลงกันให้ได้ ผ่านด่านประธานสภาฯ ที่เข้าใจกันแล้ว ก็ต้องไปถึงด่านหาเสียงสนับสนุนให้ถึง 376 เสียงอีก ยังไม่รู้ว่าจะได้รัฐบาลใหม่เมื่อไรด้วยซ้ำถ้าโหวตกันไม่ได้สักที...ภาพตอนนี้เชื่อเถอะ เพื่อไทยต่อรองมาก ยิ่งเสียเปรียบ

รีบทำๆ ให้เสร็จ รีบตั้งรัฐบาลเสียที คนรอดูความเปลี่ยนแปลงอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการปรับรัฐสวัสดิการเท่าเทียมถ้วนหน้า สิทธิมนุษยชน ที่เป็นจุดขายของก้าวไกล

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”