ถ้าพูดถึงศัตรูพืชตัวฉกาจอันดับต้นๆ ก็คงหนีไม่พ้น “ตั๊กแตน” ที่มาทำลายพืชผลการเกษตร ทำให้บรรดาเหล่าเกษตรกรต้องปวดหัวไปตามๆ กัน สุดท้ายจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงจัดการกับมัน ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบตามมาก็คือผู้บริโภค ผลผลิตเหล่านั้นอาจจะเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีจากยาฆ่าแมลงเข้าสู่ร่างกาย แต่ปัจจุบันนี้ การเพาะเลี้ยงตั๊กแตนกลับกลายมาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้งามอีกทางเลือกหนึ่ง

นายสมพงษ์ เชื้อทอง อายุ 53 ปี และนางมณีวรรณ เชื้อทอง อายุ 51 ปี สองสามีภรรยา อาชีพครูประชาบาล อยู่บ้านเลขที่ 9 หมู่ 10 บ้านพรหมสะอาด ต.พระแก้ว อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ซึ่งบ้านอยู่ติดถนนหลัก สาย 24 สีคิ้ว-เดชอุดม อุบลราชธานี ช่วง อ.สังขะ จ.สุรินทร์ กับ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ได้ใช้บริเวณหน้าบ้านเปิดเป็นร้านกาแฟเล็กๆ และหลังร้านทำเป็นสวนองุ่น ต่อมาได้ทดลองเลี้ยงตั๊กแตนปาทังกา เพื่อหวังสร้างอาชีพใหม่ ทำรายได้ให้กับครอบครัวอีกหนึ่งช่องทาง

“มณีวรรณ” กล่าวว่า ตนกับสามีนั้นมีอาชีพรับราชการครู มีลูกสาว 2 คน ได้คิดหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง และฝึกให้ลูกหารายได้ จึงทดลองเลี้ยงอะไรใหม่ๆ ซึ่งปกติก็เปิดร้านกาแฟ และเลี้ยงวัว 13 ตัว พร้อมกับทำสวนองุ่น ซึ่งใช้เวลานอกราชการมาทำอาชีพนี้ จากนั้นก็ได้เริ่มทำการศึกษาหาความรู้ผ่านทางโลกโซเชียล จนมาพบวิธีการเพาะเลี้ยงตั๊กแตน ก่อนจะทดลองสั่งซื้อหามาเลี้ยง โดยซื้อไข่ตั๊กแตนมา 1 ขีด ราคาขีดละ 1,000 บาท เพาะได้ 500 ตัว จากนั้นก็ให้ตั๊กแตนที่เพาะได้ผสมกันเอง แล้วออกไข่รุ่นใหม่มา แล้วก็ขยายพันธุ์ต่อ

“แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องระวังก็คือ “มด” พวกมดจะมากินซากตั๊กแตน เพราะถ้ากินก็จะตายยกครอก ซึ่งทีแรกเราก็เริ่มต้นจากการเลี้ยงเพื่อเอาไว้กินเองก่อน แต่ล่าสุดมีคนสนใจสั่งซื้อตั๊กแตนทางออนไลน์ และสั่งซื้อมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ตอนนี้ ก็เริ่มที่จะได้ส่งขายอย่างต่อเนื่องแล้ว”

สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงตั๊กแตนปาทังกา หรือ ตั๊กแตน ซึ่งภาษาพื้นถิ่นสุรินทร์ ภาษาเขมรนั้นจะเรียกว่า “กะโน้บ” ก็เริ่มจากการเตรียมสถานที่เลี้ยง ซึ่งต้องเลี้ยงในระบบปิด โดยใช้มุ้งตาข่ายขนาดเล็กมาทำเป็นโรงเรือนเพาะเลี้ยงรูปทรงสี่เหลี่ยม ขนาดประมาณกว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 2 เมตร ปูพื้นด้วยทรายผสมกากมะพร้าว จากนั้นก็นำไข่ตั๊กแตนมาเพาะไว้ เมื่อตั๊กแตนฟักออกมาแล้ว ก็เริ่มให้อาหารโดยการใช้ใบไม้อย่างใบกล้วย หรือหญ้า จากนั้นก็ฉีดพรมน้ำเช้าเย็น แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

จากนั้นก็รอให้ตั๊กแตนมีอายุ 45 วัน ก็จะเริ่มผสมพันธุ์และออกไข่มาให้ได้เก็บ โดยจะใช้วิธีการนำกระบะทรายมาวางไว้เพื่อให้ตั๊กแตนมาวางไข่แล้วทยอยเขี่ยเก็บ ซึ่งการเก็บก็จะเริ่มทยอยเก็บครั้งหนึ่ง แล้วเว้นไว้อีก 2-3 วัน ก็ค่อยมาเก็บใหม่ และเมื่อตั๊กแตนอายุได้ 45 วัน ก็จะเริ่มทยอยจับตัวส่งขาย ก่อนจะนำชุดใหม่มาเลี้ยงแทน ซึ่งแต่และโรงเรือน ถ้าโรงเรือนขนาดนี้จะสามารถเลี้ยงตั๊กแตนได้เป็นหมื่นๆ ตัว ตอนนี้ตนเพาะตั๊กแตนอยู่ 3 โรง

ขณะที่ราคาซื้อขายตั๊กแตนในตอนนี้ จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ขายแบบเป็นตัว ขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 450 บาท แต่หากขายเป็นไข่ ราคาจะสูงถึงกิโลกรัมละ 10,000 บาท หรือขีดละ 1,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้ดีมากๆ ตลาดมีความต้องการสูง เพราะตั๊กแตนถือเป็นอาหารโปรตีนชั้นดีที่คนนิยมรับประทานกัน อีกทั้งขั้นตอนการเลี้ยงก็ง่าย และลงทุนต่ำ

ในส่วนของ “สมพงษ์” กล่าวว่า ครอบครัวของเราจะคิดหาอะไรใหม่ๆ ทำอยู่ตลอดไม่หยุดนิ่ง เพื่อเป็นการหารายได้เสริม แต่ก่อนที่จะลงมือทำ ต้องศึกษาให้ดีก่อน ตอนนี้อาชีพเพาะตั๊กแตนขายถือว่าประสบความสำเร็จมาก มีลูกค้าทั้งขาประจำและขาจรติดต่อมาขอซื้อกันไม่ขาดสาย มีเท่าไหร่ก็ไม่พอส่งขาย หากท่านใดสนใจจะลองเพาะเลี้ยงตั๊กแตน หรืออยากมาศึกษาก็ยินดี ตนพร้อมที่จะให้คำแนะนำ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ 09-5745-0005

คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย
เรื่องและภาพโดย : วรกิตติ์ เครือศรี จ.สุรินทร์
[[คลิก]] อ่านเรื่องราว “นิยายชีวิต” ได้ที่นี่..