ขณะที่ “ความเป็นจริง” แรงงาน-คนวัยทำงานในไทยตอนนี้ “ยังมีปัญหา!!” หลายแง่มุม… รวมถึงกรณี…“ช่วงหลังโควิด-19 ระบาดหนัก แรงงานจำนวนมากประสบกับภาวะหมดไฟ (Burnout) ทั้งจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน และจากปัจจัยสุขภาพ-สุขภาวะ (Health & Well-being)” …นี่ก็เป็นแง่มุม “ปัญหาสำคัญ”

จำเป็นต้องหา “มาตรการแก้ปัญหา”…

ทั้ง “สภาพแวดล้อม” รวมถึง “สุขภาวะ”

และก็ “มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้”

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้…ข้อมูลจากโครงการ “การศึกษาบทบาทและการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคไม่ติดต่อในสถานประกอบการของผู้นำองค์กรและผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคล” ที่สนับสนุนโดย สวรส. เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ เพื่อลดปัญหาจากสภาพแวดล้อมการทำงาน ปัญหาสุขภาพและสุขภาวะของคนทำงาน ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “คนทำงานหมดไฟ” โดยเฉพาะกับ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” ซึ่ง… “ภาวะหมดไฟ” นั้น “ส่งผลกระทบต่อผลิตผลของสังคม”

“ภาวะหมดไฟ” หรือ “Burnout” เป็นปัญหาที่กระทบต่อองค์กรทั่วโลกช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากคนทำงานรุ่นใหม่ต้องการ “Work-Life Balance” หรือการ “สร้างสมดุลชีวิตระหว่างงานและความเป็นส่วนตัว” ที่ชัดเจน โดยเรื่องนี้ทางเครือข่ายวิจัย สวรส. ทาง ดร.นพ.เจตน์ รัตนจีนะ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แพทย์เฉพาะทางสาขาโรคจากการทำงาน (อาชีวเวชศาสตร์) และการสร้างเสริมสุขภาพภายในองค์กร ได้มีการระบุไว้ว่า…การทำงานและปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงาน มีความสัมพันธ์และส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ ซึ่ง สุขภาพที่ดีย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ในทางกลับกันหากพนักงาน ลูกจ้าง แรงงาน เจ็บป่วยและต้องเข้ารับการรักษา ก็ย่อมส่งผลเสียต่อการทำงานและผลิตผล

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในระดับโลก เช่น สหภาพยุโรป (EU) ได้มีการดำเนินนโยบายระดับภูมิภาคด้านการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ หรือ องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้มีการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจนั้นต้อง ให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ เพราะนอกจากจะ เป็นจริยธรรมทางธุรกิจ แล้ว เรื่องนี้ยัง มีผลต่อธุรกิจ ด้วยเช่นกัน …นี่เป็น “ความสำคัญ” ในการ “สร้างสุขภาวะที่ดีในการทำงาน”…

เป็น “เรื่องใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ”

ขณะที่ในส่วนของ ประเทศไทย นั้น ทาง ดร.นพ.เจตน์ แพทย์เฉพาะทางสาขาโรคจากการทำงาน ได้มีการเผยผลการศึกษาเรื่องนี้ไว้ว่า… จากการติดตามศึกษาเกี่ยวกับบทบาทและการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคไม่ติดต่อในสถานประกอบการ พบข้อมูลที่น่าสนใจจากองค์กรในระดับต่าง ๆ ดังนี้… องค์กรขนาดใหญ่ ที่มีสภาพคล่องทางการเงิน จะให้ความสำคัญต่อสุขภาพพนักงาน เพราะมีผลทำให้การบริหารงานคล่องตัวขึ้น โดยจะจัดเป็นรูปแบบสวัสดิการรักษาพยาบาล การตรวจคัดกรองสุขภาพ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงกำหนดเรื่องสุขภาพเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จ

สำหรับ องค์กรขนาดกลางถึงขนาดเล็ก ผลศึกษาพบว่า… มักจะมีข้อจำกัด ด้านทรัพยากร เช่น ไม่มีงบประมาณดำเนินการ หรือบางสถานประกอบการมีลักษณะงานหรือนิเวศที่ไม่เอื้อต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น มีที่ตั้งหลายแห่ง ทำให้ยากต่อการทำกิจกรรม หรือมีลักษณะงานไม่เอื้อ เช่น โรงงานต้องเดินสายการผลิตตลอด เป็นต้น และนอกจากนี้ยังพบว่า…ปัญหาบางส่วนที่พบเกิดจากการที่องค์กรไม่ได้สร้างความตระหนักด้านสุขภาพให้พนักงานตั้งแต่แรกเข้า ตลอดจนมีนิเวศที่ไม่เอื้อต่อคนทำงาน ซึ่งเมื่อนำผลศึกษามาสังเคราะห์ ก็ได้จัดทำ “ข้อเสนอเชิงนโยบายเบื้องต้นเพื่อแก้ปัญหา” ดังต่อไปนี้…

“มาตรการที่เป็นตัวเงิน” เช่น ภาครัฐควรต้องมีการสนับสนุนงบประมาณให้สถานประกอบการเพิ่มขึ้น เช่น มีงบสนับสนุนการทำกิจกรรม, ลดหย่อนภาษีให้องค์กรที่มีกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ดี, ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมให้สถานประกอบการที่ดูแลสุขภาพพนักงานได้ดี และ “มาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงิน” อาทิ เร่งจัดทำแนวทางสร้างเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงานให้ชัดเจน มากขึ้น, ให้ความรู้-คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพในที่ทำงาน, ออกกฎหมายให้สถานประกอบการกำหนดเวลาให้พนักงานทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ …นี่เป็นแนวทางเพื่อ “ลดข้อจำกัด-แก้ปัญหา”

ทั้งนี้ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. ก็ได้ระบุไว้ว่า… ขณะนี้ แรงงานต้องเผชิญปัญหามากมายจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน มีอาการออฟฟิศซินโดรม รวมถึงมีความเครียดจากการทำงาน ที่ ส่งผลต่อผลผลิตโดยรวมขององค์กรเอง และส่งผลต่อประเทศ ภายใต้แผนระดับประเทศในประเด็นด้านสาธารณสุขจึงมีการกำหนดเป้าหมายโดยเน้นนโยบายและมาตรการที่ให้มี “นโยบายสุขภาพในที่ทำงาน (Workplace Health Policy)” เพื่อให้ สถานประกอบการเป็นสถานที่ทำงานที่สร้างเสริมสุขภาพ ลดความเจ็บป่วย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน …ซึ่งนี่ก็จะ ดีในภาพรวม ด้วย

สรุป “ก็มีแล้วทั้งแนวทาง-แนวนโยบาย”

ซึ่ง “กลุ่มคนที่จะมีหน้าที่ในรัฐบาลใหม่”

ก็ “ต้องอำนวยการให้ปฏิบัติได้ดีเต็มที่”.