เทศกาลแห่งความสุข…ความสนุกสนาน จาก เทศกาลสงกรานต์ ปี 66 กำลังจะหมดลงแล้ว!! ประชาชนคนไทยต้องเดินหน้าหันกลับมาเผชิญกับความเป็นจริง ทั้งการทำมาหากิน ทั้งการใช้ชีวิตให้ผ่านพ้นไปแต่ละวัน…แต่ละวัน

ต่อให้บรรดาพรรคการเมือง ต่างประกวดประกัน นำเสนอนโยบาย “ประชานิยม” แข่งขันกัน “แจกเงิน”  สร้างความฝันให้ประชาชนคนมีสิทธิ์ถ้าเลือกคนที่ใช่ พรรคที่ชอบ เข้ามาแล้ว คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ต้องปรากฏให้เห็นอย่างน้อย ก็มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น แม้ไม่ใช่จำนวนมากมายมหาศาล แต่ยังดีกว่าไม่ได้!! ทั้งที่นโยบายแจกเงินเหล่านั้น ก็เป็นเงินที่มาจากเงินคนไทยทั้งนั้น!! ใช่ว่า…บรรดานักการเมืองจะควักเงินตัวเองให้สักหน่อย

ที่สำคัญ!! เรื่องของการแจกเงิน ยังเป็นความฝัน เพราะยังไม่เกิดขึ้น แต่!! สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นอยู่ และจะเกิดขึ้นต่อไป คงหนีไม่พ้น เรื่องของดอกเบี้ย ที่แพงขึ้นทุกวัน

Free photo hand holding growth arrow with coins

ล่าสุด…บรรดานายแบงก์ ทั้งแบงก์รัฐและแบงก์เอกชน ต่างพาเหรด ปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝาก ต้อนรับเทศกาลสงกรานต์กันไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็น 1.75% ต่อปี เมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา แม้นายแบงก์ทิ้งช่วงมานานเกือบครึ่งเดือน แต่สุดท้ายก็ต้องปรับขึ้น และยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอีกไปจนถึงระดับ 2% ก่อนหยุดคงที่ไว้อย่างน้อยอีกครึ่งปีเพื่อดูทิศทางของเงินเฟ้อ

ต่อให้…นายแบงก์ปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้ง 2 ขา คือ ทั้งขาเงินฝาก และขาเงินกู้ แถมยังให้ดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่า โดยสูงสุดอยู่ที่ 0.35% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ปรับขึ้นสูงสุดแค่ 0.25% ก็ตามทีเถอะแต่ที่เดือดร้อนกันสุด ๆ น่ะ คงหนีไม่พ้นเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ที่แพงขึ้น เพิ่มขึ้น เพราะทำให้ต้นทุนการใช้ชีวิต เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างกรณีของการ “กู้บ้าน”

ประเด็นนี้!! ย่อมเป็น ข่าวร้ายสำหรับทุกคนที่อยู่ระหว่างผ่อนบ้าน หรือกำลังมีแผนซื้อบ้านด้วยสินเชื่อของธนาคาร เพราะ ดอกเบี้ยนโยบายทุก ๆ 1% ที่ปรับขึ้น ย่อมทำให้ ภาระการผ่อนสินเชื่อบ้านทั้งหมดปรับขึ้นอีกราว ๆ 7% สุดท้ายหนีไม่พ้น ที่บรรดาผู้ซื้อบ้าน ผ่อนบ้านทั้งหลาย ต้องส่งเงินงวดสูงขึ้นกว่าเดิม หรือไม่ก็ต้องใช้เวลาผ่อนชำระ มากขึ้น นานขึ้น 

Free photo small house figurine and coins at laptop

เพราะเงินงวดที่ส่งไปในแต่ละเดือน ทางแบงก์ ต้องไปคำนวณตัดเป็นดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เงินต้นที่เคยลดลงฮวบ ๆ ก็จะลดลง กลายเป็นส่งดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นในอีกทาง เมื่อดอกเบี้ยแพงขึ้น หากยังส่งเงินค่างวดเท่าเดิม นั่นหมายความว่าเงินต้น เราจะลดลงน้อยกว่าที่เคยเป็น ทำให้ต้องผ่อนชำระนานขึ้นกว่าเดิม ต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าเดิม จากที่เคยทำสัญญาไว้ แต่หากใครที่พอมีพละกำลัง เพิ่มวงเงินค่างวดโดยโปะเงินต้นให้มากขึ้น ก็อาจทำได้ โดยต้องเจรจากับแบงก์เจ้าหนี้ ก็จะทำให้ระยะเวลาการส่งค่างวดเป็นไปตามที่เคยวางแผนไว้

ส่วนหนทางที่ดีที่สุดในเวลานี้ ต้องเจรจากับแบงก์เจ้าหนี้ว่าจะขอ “รีเทนชั่น” ซึ่งเป็นการติดต่อขอดอกเบี้ย หลังผ่อนชำระค่างวดครบแล้ว 3 ปี หรือไปขอ “รีไฟแนนซ์” โดย นำบ้านที่กำลังผ่อนชำระอยู่มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อขอสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงกับแบงก์เดิม หรือแบงก์ใหม่  แล้วทำการปิดหนี้ที่มีอยู่กับแบงก์เดิม

ส่วนจะเลือกวิธีไหน แบบไหน อาจต้องชั่งใจคิดคำนวณให้ดีว่าแบบไหนที่รับได้ โดยวิธี รีเทนชั่น อาจไม่ยุ่งยากเพราะแบงก์มีข้อมูลอยู่แล้ว และอาจใช้เวลาไม่นานนัก หรือประมาณ 1 สัปดาห์ เสียค่าธรรมเนียมไม่มากราว ๆ 1-2% ของยอดเงินกู้ แต่วิธีนี้…ก็ต้องเสี่ยง!! กับเรื่องของการขอลดดอกเบี้ย ที่อาจได้เป็นจำนวนไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่แล้วอยู่ที่ประมาณ 0.25-0.50%

Free photo mortgage house loan website login graphic concept

แต่ถ้าหากจะ รีไฟแนนซ์... ก็ต้องเลือกโปรแกรม โปรโมชั่นต่าง ๆ ของแต่ละแบงก์ เพื่อนำมาเปรียบเทียบเลือกอัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุด แต่ก็ต้องยอมที่ต้องเตรียมเอกสารใหม่หมด รออนุมัตินาน มีค่าธรรมเนียมหลายรายการ

มีกูรูแนะนำว่า หากยังมียอดผ่อนชำระเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป หรืออยากกู้เงินรีโนเวทบ้าน ก็อาจเหมาะกับ การรีไฟแนนซ์ ที่ต้องเตรียมเอกสารมาก มีค่าใช้จ่ายเยอะ ส่วนใครที่เหลือยอดเงินกู้ต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือผ่อนมานานหลายปีจนใกล้ครบวงเงินแล้ว อาจเลือกใช้วิธีรีเทนชั่น ก็น่าจะดีกว่า แม้ลดดอกเบี้ยลงไม่ได้มากนักก็ตาม

สุดท้ายแล้ว!! จะเลือกแบบใด? คงต้องชั่งน้ำหนักกันให้ดีว่า…อะไร? คุ้มกว่ากัน โดยเฉพาะในยุคที่ดอกเบี้ยแพงและอยู่ในช่วงขาขึ้น ก็ต้องเปรียบเทียบให้ดี

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”