อิหร่านมีประธานาธิบดีคนใหม่ซึ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนนี้ นายอีบราฮิม ไรซี อดีตประธานศาลฎีกา วัย 60 ปี มีชื่ออยู่ในบัญชีดำการคว่ำบาตรของสหรัฐ และได้รับความสนับสนุนอย่างเปิดเผยจากอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน
แม้ไรซีแทบไม่มีคู่แข่งอย่างจริงจังและสมน้ำสมเนื้อ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา แต่การดำรงตำแหน่งตลอดระยะเวลา 4 ปีนับจากนี้ คงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้ามาของไรซีบ่งชี้ว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมโดยเฉพาะ “ฝ่ายสายแข็ง” สามารถกุมอำนาจได้แทบทุกแขนงของอำนาจการปกครองในอิหร่าน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับฐานอำนาจของอยาตอลเลาะห์
แต่ตอนนี้ อิหร่านกำลังเผชิญกับวิกฤติรอบด้าน ทั้งปัญหาเรื้อรังทางเศรษฐกิจ ความวุ่นวายทางสังคมที่เกิดขึ้นเป็นระยะ และวิกฤติครั้งล่าสุด คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเวลาเดียวกัน อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี มีอายุมากขึ้นทุกวัน ปัจจุบันอยู่ในวัย 82 ปีแล้ว และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีข่าวคราวปรากฏเกี่ยวกับการเฟ้นหาผู้สืบทอดตำแหน่ง ไหนจะยังมีเรื่องการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านฉบับปี 2558 ซึ่งยังคงค้างคา และยังไม่มีวี่แววว่าจะได้ข้อสรุป นับตั้งแต่สหรัฐถอนตัวออกไปเมื่อปี 2561 และยังไม่ส่งสัญญาณว่า จะกลับเข้ามาร่วมหรือไม่
การเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านครั้งนี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ต่ำที่สุดในรอบหลายปี และยังมีบัตรเสียมากกว่าปกติด้วย ซึ่งหากจำแนกตามกลุ่มอายุจะพบว่า คนหนุ่มสาวออกมาใช้สิทธิ์น้อยกว่าปกติ และเป็นเจ้าของสัดส่วนบัตรเสียมากที่สุด สะท้อนมุมมองของชาวอิหร่านรุ่นใหม่ที่มีต่อชนชั้นปกครองได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้นำสูงสุดของอิหร่านและฝ่ายความมั่นคงที่เป็นศูนย์กลาง คือกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน ( ไออาร์จีซี ) มีความต้องการจากรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร โดยพื้นฐานคือ “รัฐบาลที่มีความคิดเหมือนกัน” เท่านั้น เพื่อให้การบริหารเป็นไปด้วยความราบรื่นที่สุด นัยว่าเพื่อการใช้เวลานี้เฟ้นหาผู้เหมาะสมรับตำแหน่งอยาตอลเลาะห์คนต่อไปด้วย
นอกเหนือจากข้อตกลงนิวเคลียร์และพื้นฐานโครงสร้างทางการเมืองภายในของอิหร่านแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะสร้างความท้าทายต่อไรซีไม่น้อย นั่นคือการต้องเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเผชิญกับสภาวะบีบคั้นอย่างหนัก ทั้งจากมาตการคว่ำบาตรของสหรัฐและพันธมิตร แม้เงื่อนไขบางส่วนของข้อตกลงนิวเคลียร์ช่วยให้อิหร่านได้ลืมตาอ้าปากบ้าง เนื่องจากภาคีที่เหลืออยู่ในข้อตกลงป่อนคลายมาตรการควบคุมบางส่วนให้ แต่ไรซีและรัฐบาลอิหร่านจะคาดหวังเรื่องนี้เฉพาะจากข้อตกลงนิวเคลียร์ไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจของอิหร่านจะไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างแท้จริงและมีความยั่งยืน ตราบใดที่ไม่มีการปฏิรูป “ด้วยความจริงจัง”
ธนาคารโลก ( เวิลด์แบงก์ ) เคยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของอิหร่านมีแนวโน้มกลับมาเติบโต หลังผ่านพ้นช่วงเวลาหดตัวอย่างรุนแรง ระหว่างปี 2561-2562 แต่วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งเป็นการเปิดรอยแผลของการบริหารจัดการเศรษฐกิจภายในประเทศที่ผิดที่ผิดทางมานาน ปัจจุบัน เกือบ 25% ของกลุ่มคนหนุ่มสาวในอิหร่านยังมีสถานะเป็นผู้ว่างงาน ส่วนเงินเรียลอิหร่านเสื่อมค่ามากกว่า 40% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
สถานการณ์บีบคั้นที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้อิหร่านสุ่มเสี่ยงเผชิญกับการประท้วงแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา และความรุนแรงอาจมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากแรงกดดันหลายด้านที่ชาวอิหร่านเผชิญไม่ได้มีแนวโน้มคลี่คลายโดยง่าย ซึ่งเรื่องนี้น่าจะยิ่งเพิ่มความท้าทายให้กับเสถียรภาพของรัฐบาลไรซีในอนาคต แต่การที่รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลชุดนี้ เป็นอดีตสมาชิกไออาร์จีซีมาก่อน หนึ่งในนั้นคือกระทรวงมหาดไทย น่าจะเป็นสัญญาณเบื้องต้นว่า หากเกิดเหตุโกลาหลวุ่นวายบนท้องถนนอีก เจ้าหน้าที่น่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของอิหร่านไม่ได้เกี่ยวพันเฉพาะเพียงในประเทศเท่านั้น.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES