ในยุคปัจจุบัน คงต้องยอมรับว่าด้วยวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป ทำให้มีความจำเป็นต้องมีการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลมาก และเป็นระยะเวลาที่เพิ่มสูงมากขึ้น เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ มือถือ ไปจนถึงแท็บเล็ต จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและการทำงาน แต่เคยทราบไหมว่า จากการที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลมากขึ้นนี้เอง ทำให้เกิดอาการ Computer Vision Syndrome (CVS) กันมากยิ่งขึ้น

โดย นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้เผยผ่าน Healthy Clean ว่า ในยุคปัจจุบันสังคมออนไลน์มีการใช้สมาร์ตโฟนในการอัปเดตข่าวสาร ข้อมูลตลอดเวลา ให้กับทันเหตุการณ์ ทำให้ต้องใช้สายตาในการจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน อาจจะใช้เวลาเกือบทั้งวันจ้องแต่หน้าจอสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงแท็บเล็ต แต่ถ้าไม่แบ่งเวลาให้เหมาะสมอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะดวงตาที่ต้องรับภาระจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงาน หรือการประชุมผ่านอินเทอร์เน็ต จึงอาจเป็นปัญหาต่อดวงตาที่พบจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้

นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่ม ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เชื่อว่าหลายคนอาจเคยประสบปัญหาในอาการเหล่านี้ เช่น ทำให้ปวดเมื่อยตา ตาแห้ง ตาล้า แสบตา เคืองตา ตาพร่ามัว โฟกัสได้ช้าลง ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ หรือบางครั้งมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ หรือปวดต้นคอร่วมด้วย และอาจส่งผลต่อการนอนหลับได้

หากมีอาการที่กล่าวข้างต้น ร่วมกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานในแต่ละวัน อาจบ่งบอกว่าอาจอยู่ในกลุ่มอาการที่เรียกว่า computer vision syndrome แม้ว่ากลุ่มอาการนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อดวงตาหรือการมองเห็น แต่มักก่อให้เกิดความไม่สบายตา และอาจเป็นปัญหารบกวนการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันได้

แพทย์หญิงกนกทิพย์  มันตโชติ นายแพทย์ชำนาญการ เสริมข้อมูลเพิ่มอีกว่า ภาวะ computer vision syndrome คือกลุ่มอาการทางตา ที่เกิดจากการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยจะมีอาการดังกล่าวข้างต้น

“มีการศึกษาพบว่าประมาณ 90% ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มักเคยประสบกับกลุ่มอาการนี้”

ทั้งนี้ อาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่นการกะพริบตาลดลงขณะใช้คอมพิวเตอร์ทำให้ตาแห้ง แสงสว่างภายในห้องไม่เหมาะสม รวมทั้งการมีแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ และการที่ตัวอักษรบนจอคอมพิวเตอร์ไม่คมชัด จึงทำให้ต้องใช้ความพยายามในการโฟกัสมากขึ้น จึงก่อให้เกิดอาการตาเมื่อยล้าได้ และระยะห่างจากหน้าจอที่ไม่เหมาะสม รวมถึงระดับสายตาในการมองจอคอมพิวเตอร์ และท่าทางในการนั่งที่ไม่เหมาะสม

สำหรับวิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยป้องกันหรือหลีกเลี่ยงภาวะ computer vision syndrome ได้แก่
1.กะพริบตาให้บ่อยขึ้น การนั่งจ้องหน้าจอนาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน จะทำให้อัตราการกะพริบตาลดลงจาก 20-22 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 6-8 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ตาแห้งได้ ดังนั้นจึงควรกะพริบตาให้บ่อยขึ้น หรืออาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาก็ได้เช่นกัน
2.ปรับความสว่างในห้องทำงาน และหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยลดแสงสว่างจากภายนอก หรือแสงจากในห้องทำงานที่สว่างมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดแสงสะท้อนที่จอคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่สบายตาได้ และปรับเพิ่มความแตกต่างของสีระหว่างตัวอักษรกับพื้นจอภาพเพื่อให้อ่านง่าย และปรับความสว่างของหน้าจอให้สบายตา
3.พักสายตาทุก ๆ ชั่วโมง โดยยึดหลัก “20-20-20” คือการละสายตาจากหน้าจอ และมองออกไปไกลระยะ 20 ฟุต ทุก ๆ 20 นาที เป็นเวลา 20 วินาทีต่อครั้ง จะช่วยลดอาการตาล้าได้
4.ปรับระดับการมองจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยจุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ควรห่างจากตาประมาณ 20-28 นิ้ว และต่ำลงจากระดับสายตาประมาณ 4-5นิ้ว
5.ใส่แว่นแก้ไขสายตาที่เหมาะสม เนื่องจากการมีสายตาที่ผิดปกติ แล้วต้องเพ่งหน้าจอนาน ๆ อาจทำให้ปวดกระบอกตาได้ ดังนั้นในสถานการณ์ที่ต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน ประชุมออนไลน์จนดึกดื่น และไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ที่บ้านไปอีกนานเท่าไหร่

ขอแนะนำดูแลสุขภาพตัวเอง จัดตารางการทำงาน และชีวิตส่วนตัวให้เหมาะสม หากรู้สึกว่าดวงตามีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาจักษุแพทย์ ตรวจเช็กดวงตา เพื่อที่จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที.

………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”