ซึ่ง “พญ.กรองอร ภิญโญลักษณา” อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ อธิบายว่า ภาวะที่เกิดกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือ วัยทอง จะสังเกตจากการที่ไม่มีประจำเดือนติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี มักพบในผู้หญิงอายุ 45-55 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. หมดประจำเดือนตามธรรมชาติจากการที่รังไข่หยุดทำงาน คือ อายุมากกว่า 40 ปี 2.จากการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง ซึ่งสามารถเกิดได้ในคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปี

โดยปกติรังไข่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงอย่างฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีผลต่ออวัยวะทั่วร่างกาย เมื่อรังไข่หยุดทำงาน ทำให้สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง นำไปสู่อาการต่าง ๆ ได้แก่ รู้สึกร้อนวูบวาบ มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย อารมณ์แปรปรวน บางคนมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย ซึ่งอาการมักเกิดในช่วง3-4 ปีก่อนและหลังหมดประจำเดือน โดยช่วงเวลาและความรุนแรงอาจแตกต่างกันในแต่ละคน บางคนอาจไม่มีอาการเลย นอกจากนี้ยังอาจพบโรคที่เกิดจากภาวะการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ เช่น โรคกระดูกพรุน ช่องคลอดแห้ง ปัสสาวะลำบาก เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น เพราะโดยปกติฮอร์โมนเพศหญิงจะช่วยลดไขมันไม่ดีและเพิ่มไขมันที่ดีในเลือด ป้องกันไม่ให้ไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายยืดหยุ่น แต่เมื่อขาดฮอร์โมนนี้ไป จึงส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวหรืออุดตันทั่วร่างกายได้ รวมถึงหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง

อย่างไรก็ตามอาการที่เกิดจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของหลอดเลือดที่ตีบในอวัยวะนั้น ๆ เช่น หลอดเลือดหัวใจ จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกตรงกลางร้าวไปแขนซ้าย กรามหรือไหล่ รู้สึกเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก ถ้าเกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง จะมีอาการ
แขนขาอ่อนแรงเป็นซีก มุมปากตก พูดไม่ชัดหรือถ้าเกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขา จะมีอาการปวดขาเวลาเดิน

พญ.กรองอร ระบุว่า การป้องกันหลอดเลือดตีบคือควรตรวจเช็กร่างกาย สุขภาพหัวใจเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายสมํ่าเสมอ และเพื่อให้เป็นผลดีกับหัวใจ แนะนำให้ออกกำลังกายที่มีความหนักปานกลางอย่างน้อย
150 นาทีต่อสัปดาห์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ควบคุมนํ้าหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ งดสูบบุหรี่ หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์

ทั้งนี้ การตรวจเช็กหลอดเลือดตีบ สามารถตรวจภาวะหลอดเลือดแข็งตัวหรืออุดตันในอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ หลอดเลือดหัวใจ ตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ใช้การตรวจหลอดเลือดใหญ่ ที่คอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงส่วนปลายอย่างขา แขน ใช้การตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย ถ้าอาการไม่รุนแรงมากจะรักษาด้วยการ ให้ทานยาลดไขมันเพื่อลดหรือป้องกันไม่ให้ตีบเพิ่มขึ้นหรือ สำหรับหลอดเลือดหัวใจ ยาลดไขมันสามารถป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ รวมถึงการกินยาต้านเกล็ดเลือด และยาตัวอื่น ๆ ถ้าหากมีอาการที่รุนแรง สำหรับหัวใจต้องรักษาด้วยการทำบอลลูนใส่ขดลวด หรือผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุพพลภาพและเสียชีวิต ช่วยลดอาการและเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยการรักษาผู้ป่วยจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจพิจารณา

เมื่อคุณผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง ควรพึงระวังภาวะที่อาจจะเกิดขึ้นตามข้อมูลข้างต้น หมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ตรวจเช็กสุขภาพเพื่อป้องกันและดูแลโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ รวมไปถึงโรคหัวใจหากมีได้อย่างถูกวิธี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ รพ.หัวใจกรุงเทพ โทร.0-2310-3000 โทร.1719 หรือ Heart Care LINE Official :
@hearthospital.

อภิวรรณ เสาเวียง