เรื่องราวชีวิตของหนุ่มลูกน้ำเค็มเมืองตรัง นายประสิทธิ์ เบ็ญสะอาด หรือ บังหยัด อายุ 51 ปี เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งมังกรรายแรก และรายเดียวในพื้นที่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง โดยทำมานานกว่า 20 ปี ทุกวันนี้เขาประสบความสำเร็จ และยืนหยัดเป็นหนึ่งเดียว เพราะความที่เชื่อมั่นมาตลอดว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น แม้จะต้องผ่านความยากลำบาก หรือเจอปัญหาอุปสรรคมากมายแค่ไหนก็ตาม ช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่า ความสำเร็จที่ได้มามันคุ้มค่ากับแรงกายแรงใจที่ทุ่มเทไปจริงๆ

บรรยากาศการท่องเที่ยวที่เกาะลิบง เป็นไปอย่างคึกคัก หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่านพ้นไป ผู้ประกอบการที่พัก ร้านอาหาร เรือนำเที่ยว รวมถึงชาวบ้านต่างยิ้มออก เพราะมีงานทำและมีรายได้กันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่กระชังเพาะเลี้ยงกุ้งมังกร บริเวณท่าเรือบ้านพร้าว ของ “บังหยัด” มีนักท่องเที่ยวแวะมาเลือกซื้อกุ้งมังกรกันอย่างคึกคัก และตื่นตาตื่นใจกับกุ้งตัวใหญ่ ๆ หลากสีสัน สรรหาไปทำเป็นเมนูบนโต๊ะอาหารฉลองปีใหม่กับครอบครัวกันจำนวนมาก

โดยส่วนใหญ่จะทำเป็นเมนู ต้มยำ ซาชิมิ กุ้งเผา อบเกลือ ราดซอสมะขาม และอื่น ๆ ซึ่งกุ้งมังกร 1 ตัว สามารถแบ่งทำได้ 2-3 เมนู แล้วแต่ลูกค้า โดยมีร้านอาหารบนเกาะลิบง รับทำอาหารให้ได้กินกันสด ๆ ใหม่ ๆ จึงได้เนื้อกุ้งที่หวาน แน่น อร่อยสมราคา แม้กุ้งมังกรจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 2,500-3,000 บาท “บังหยัด” ก็ขายดีแทบเกลี้ยงกระชังเลยทีเดียว

“บังหยัด” เล่าเรื่องราวชีวิตกว่าจะมาถึงวันนี้ว่า เมื่ออดีตพ่อและตนยึดอาชีพตกปลาในทะเลเพื่อนำไปขาย ตอนนั้นพ่อต้องทำงานตกปลาส่งลูก ๆ 4 คน เรียนระดับชั้นมหาวิทยาลัย แต่ปรากฏว่าการตกปลายากขึ้น เพราะมีการจับแบบใช้อวนและเครื่องมืออื่น ๆ เข้ามา ทำให้ปลามีน้อยลง พ่อเลยตัดสินใจว่า จะต้องหาอาชีพอื่นแทน หากตกปลาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถส่งลูกเรียนต่อได้ เลยตัดสินใจมาเลี้ยงปลากระชังยาวนานกว่า 30 ปี จนสามารถส่งลูกทั้ง 4 คน จาก 10 คน เรียนจบมหาวิทยาลัย โดยมีตนทำคู่กับพ่อมาตลอด

“20 ปีที่ผ่านมา ได้ริเริ่มเลี้ยงกุ้งต่อจากปลากระชัง โดยมีการนำลูกพันธุ์มาจากประเทศเมียนมา การเลี้ยงลูกพันธุ์ระยะเวลา 1 ปี จะได้น้ำหนัก 4 ขีด ถึงจะขายได้ ซึ่งการเลี้ยงจะนำมาเลี้ยงในกระชัง อุปสรรคคือปัญหาเรื่องน้ำ จะต้องเลือกที่หรือลำคลองที่น้ำจืดมาไม่ถึง หากมีน้ำจืดประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ กุ้งจะตายในทันที และช่วงปีไหนหากฝนตกมีน้ำจืดลงมาก ก็จะเป็นปัญหาใหญ่ หากผ่านพ้นไปได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ และปัญหาอีกอย่างคือ ต้องให้เหยื่อหรืออาหารเลี้ยงให้ถึง ไม่เช่นนั้นกุ้งจะกินกันเองและตายยกกระชัง ส่วนปัญหาที่ประสบอยู่ขณะนี้ ลูกพันธุ์จะไม่ค่อยมี บางทีก็มีน้อย จะต้องไปหามาจากประเทศเพื่อนบ้าน”

สำหรับกุ้งมังกร ต้องใช้เวลาเลี้ยงตั้งแต่ 6 เดือน-1 ปี จึงจะได้กุ้งมังกรน้ำหนัก 6 ขีดขึ้นไป ซึ่งลูกกุ้งมังกรได้หาซื้อจากเรือประมงพาณิชย์ที่ออกไปลากอวน แล้วติดลูกกุ้งมังกร นำมาขายในราคาตัวละ 100-200 บาท แล้วแต่ขนาด จากนั้นเกษตรกรจึงนำมาเลี้ยงต่อด้วยการให้กินหอย 2 ฝา สลับกับเนื้อปลาหลังเขียว วันละ 2 มื้อ

“ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ถือว่าประสบปัญหาเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีคนลงมาเที่ยว ประกอบกับมีการปิดเกาะ ไม่มีลูกค้าเลย จนถึงขั้นต้องไปกู้เงินจากธนาคารมาใช้จ่ายหมุนเวียน แต่ก็ถือว่าผ่านพ้นมาได้ เมื่อผ่านพ้นช่วงโควิดมา ก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นจนถึงปัจจุบันนี้ โดยในปีนี้ ก็เริ่มลงทุนไปแล้ว 3-4 หมื่นบาท ในการซื้อลูกพันธุ์มาเลี้ยง”

ส่วนราคาขาย กุ้งมังกร 7 สี หรือ กุ้งล็อบสเตอร์ ราคากิโลกรัมละ 2,500-3,000 บาท ขณะที่ กุ้งมังกรเขียว หรือ กุ้งเลน ราคากิโลกรัมละ 2,500 บาท ซึ่งราคาเท่ากับ 3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการปรับขึ้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อและความนิยมของลูกค้า บางรายหากตั้งใจมาซื้อกุ้งมังกร 7 สี ก็จะไม่ต่อรองเรื่องราคาแม้แต่บาทเดียว ตลอด 5 วันช่วงปีใหม่ ได้ขายกุ้งมังกรไปแล้วถึง 20 ตัว สร้างรายได้กว่า 30,000 บาท ล่าสุดมีออร์เดอร์ใหญ่สั่งซื้อเข้ามานับหมื่นกิโลกรัม แต่มีกุ้งไม่พอขาย..

คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย
เรื่องและภาพโดย : ทรงวุฒิ นาคพล จ.ตรัง
แนะนำเรื่องราวชีวิตดั่งนิยาย หรือสอบถามได้ที่ [email protected]
[[คลิก]] อ่านเรื่องราว “นิยายชีวิต” เพิ่มเติมได้ที่นี่..