สองสามีภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากสู้ชีวิต หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 แต่ไม่ท้อ มุ่งหน้ากลับบ้านเกิด ทำไร่มันสำปะหลัง ปลูกพืชผลการเกษตรอยู่อย่างพอเพียง เมื่อมองรอบตัวหวังหารายได้เสริม เห็นไผ่กิมซุง หรือ ไผ่ตรงลืมแล้ง ที่พ่อแม่ปลูกไว้ในสวน ต้นสูงใหญ่ตระหง่าน เกิดปิ๊งไอเดีย นำต้นไผ่มาทำเฟอร์นิเจอร์ ตั้งใจจะทำในยามว่าง แต่ยอดขายสุดปัง ออร์เดอร์สั่งออนไลน์มาไม่ขาดสาย จนทำแทบไม่ทัน

นายธิมา เสนแก้ว อายุ 47 ปี เดิมทีเป็นชาว จ.ลำปาง และนางสาวอรวรรณ เสนแก้ว อายุ 45 ปี เป็นสาวโคราช ลูกหลานย่าโม เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ทั้งสองได้พบรักกันระหว่างไปทำงานที่โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ กระทั่งตัดสินใจแต่งงานเป็นสามีภรรยา อยู่กินกันในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ และมีพยานรักเป็นลูกสาว 1 คน

“อรวรรณ” ลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูก โดย “ธิมา” เป็นเสาหลักของครอบครัว ทำงานเลี้ยงดูภรรยาและลูกน้อย กระทั่งลูกสาวเติบโตเข้าโรงเรียน อรวรรณได้ไปเรียนเสริมสวย ก่อนจะเปิดร้านทำผมเล็กๆ เพื่อหารายได้ช่วยสามี และจะได้มีเวลาดูแลครอบครัวไปด้วย ชีวิตครอบครัว “เสนแก้ว” เป็นไปอย่างราบรื่นและมีความสุข

กระทั่งปี 2563 ช่วงที่โควิด-19 เกิดการระบาดหนักในไทย รัฐบาลสั่งปิดร้านค้าและสถานบริการหลายอย่าง รวมถึงร้านตัดผม ร้านเสริมสวยด้วย อรวรรณได้รับผลกระทบขาดรายได้ และสถานการณ์ช่วงนั้น ไม่มีใครรู้เลยว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จึงได้ปรึกษาสามี ก่อนตัดสินใจพาลูกกลับมาอยู่ บ้านเกิดที่บ้านหนองมะค่า ต.แชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เพื่อลดค่าครองชีพ และทำไร่มันสำปะหลัง ปลูกพืชผักสวนครัว พืชผลการเกษตร อยู่อย่างพอเพียง

ขณะที่ “ธิมา” ยังคงทำงานที่โรงงานเช่นเดิม และจะกลับมาหาภรรยาและลูกในช่วงวันหยุด ด้วยความที่สองสามีภรรยาคู่นี้เป็นคนขยัน ไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไป นอกจากหน้าที่หลักแล้ว ต้องการหารายได้เสริม จึงเกิดปิ๊งไอเดีย! เมื่อหันไปเห็นสวนไผ่กิมซุง หรือ ไผ่ตรงลืมแล้ง ที่พ่อแม่ได้ปลูกเอาไว้ 2 ไร่ เพื่อเก็บหน่อไม้ขาย แต่ตอนนี้ราคาก็ตกต่ำ จึงคิดว่าต้นไผ่น่าจะทำประโยชน์ได้มากกว่านี้ เลยลองเอามาแปรรูปเป็นชุดโต๊ะ เก้าอี้ บันได แคร่ เพื่อจำหน่าย

“ธิมา” เล่าว่า ตนไม่เคยมีความรู้ในเรื่องทำเฟอร์นิเจอร์มาก่อน จึงศึกษาจากยูทูบและถามจากผู้รู้ เชื่อว่าไม่ยาก ถ้าตั้งใจแล้วต้องทำให้ได้ ลองผิดลองถูกหลายอย่าง แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะวัสดุเราไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องลงทุน ต้นไผ่เรามีมากมายในสวน ข้อดีของไผ่กิมซุง โคนต้นจะมีความแข็งแรงกว่าไผ่ทั่วไป ปลวกและมอดจะเจาะเนื้อไม้ไม่ได้ จึงนำมาทำเป็นขาโต๊ะ เก้าอี้ เวลาวางกับพื้นจะทนทานมาก และที่สำคัญต้นไผ่ของเราอายุหลายปี ยิ่งแก่ยิ่งดี

ตนคิดว่างานแต่ละชิ้นต้องใช้ความละเอียด ถ้าทำไม่ดีจะไม่ส่งให้ลูกค้าเด็ดขาด ทุกวันนี้ทำคนเดียว ไม่ได้จ้างลูกน้อง ทำตามกำลังของเราที่มี ส่วนเรื่องการขาย ภรรยาจะเป็นคนดูแลทำหน้าที่ถ่ายรูปสินค้าแต่ละชิ้น โพสต์ลงในโซเชียลช่องทางต่างๆ แรกๆ ก็ขายไม่ค่อยได้ พอมีคนเห็นลองซื้อไปใช้และบอกต่อ ทำให้มีออร์เดอร์เข้ามาเยอะจนทำไม่ทัน จึงตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำประจำ มาอยู่กับครอบครัว ทำอาชีพเกษตรกรไปด้วย และทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ไปด้วย

จากที่เคยคิดว่าการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่เป็นอาชีพเสริม ตอนนี้เริ่มกลายมาเป็นอาชีพหลักแล้ว ผ่านมาไม่ถึง 1 ปี มีออร์เดอร์เข้ามาจนทำไม่ทันขาย เดือนๆ หนึ่งจะมีออร์เดอร์เข้ามากว่า 20 ชิ้น ส่วนใหญ่จะสั่งเป็นแคร่ ชุดโต๊ะ เก้าอี้ เป็นหลัก สร้างรายได้ให้เดือนละหลายหมื่นบาท ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ไม่ผิดหวังเลย และจากนี้ ตนก็จะคิดค้นออกแบบและศึกษาดัดแปลงสินค้าใหม่ๆ ให้มีความหลากหลายได้คุณภาพขึ้นไปอีก เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าต่อไป

“ตนเชื่อว่า การที่เราจะทำอะไรให้สำเร็จนั้น ต้องมีความตั้งใจ ใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ นำมาปรับใช้อยู่เสมอ และกำลังใจจากครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากใครที่กำลังประสบปัญหา ตนขอเป็นกำลังใจให้ลุกขึ้นสู้ อย่ายอมแพ้อะไรง่ายๆ ถ้าเราทำทุกอย่างให้เต็มที่ เชื่อว่าอุปสรรคใดๆ ก็จะผ่านพ้นไปได้อย่างแน่นอน”

คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย
เรื่องและภาพโดย : รณฤทธิ์ นวนครบุรี จ.นครราชสีมา
แนะนำเรื่องราวชีวิตดั่งนิยาย หรือสอบถามได้ที่ [email protected]
[[คลิก]] อ่านเรื่องราว “นิยายชีวิต” เพิ่มเติมได้ที่นี่…