พอถึงช่วงปีใหม่ ก็เห็นใครหลายๆ คนมีปณิธานจะเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ถือว่า มันเป็น “ฤกษ์คล้องจอง” ดี ปีใหม่ เริ่มชีวิตใหม่ เปลี่ยนแนวคิดแบบใหม่ คือถ้าทำได้ดี ทำแล้วชีวิตดีขึ้น ทำได้ตลอดรอดฝั่งก็ต้องอนุโมทนาสาธุด้วย แต่ก็เห็นบางคนมี to do list  (รายการที่อยากทำ) หลังปีใหม่ ยาวเป็นหางว่าว เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ทำด้วยเหตุผลต่างๆ ขี้เกียจบ้างล่ะ แก้นิสัยเดิมยังไม่ได้บ้างล่ะ หรือไม่ก็การเงินอะไรไม่ค่อยสะดวก ไปจนถึงตัวแปรที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือเกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในชีวิต ทำให้เป้าหมายมันเป๋ไป

ไม่ว่าอย่างไร ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ เรามี “เวลา” (หมายถึงเฉพาะเวลาไม่นับเงิน) ทำสิ่งที่เราต้องการทำได้เสมอ จะเริ่มเมื่อไร วันไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องปีใหม่ ..ปีใหม่ วันใหม่ มันก็เหมือนกัน ก็คือตอนเช้าพระอาทิตย์ขึ้น แล้วเราก็ดำเนินชีวิตของเราต่อไป .. แต่นอกจากเวลาแล้ว การตั้งปณิธานอะไรๆ สำหรับปีใหม่ “สุขภาพ” ที่อำนวยก็จำเป็น ..ปัจจุบันคนเราป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อที่เกิดจากอาหารกันมาก ความดัน เกาต์ เบาหวาน หัวใจ ไปจนถึงมะเร็ง ก็ต้องระวังอาหารมาก ..ได้ยินสายสุขภาพว่ากันว่า ภัยร้ายอันดับหนึ่งคือน้ำตาล ดังนั้นก็ต้องละๆ เลิกๆ อะไรหวานๆ ลงได้แล้ว

คำถามคือ ใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข? ตอบแบบสามัญสำนึกธรรมดาๆ ความสุขอยู่ที่ความคิด ไม่เอาเรื่องอะไรกวนใจมารกหัวนาน มัวแต่เจ้าคิดเจ้าแค้น มัวแต่ผิดหวัง เสียดาย พร่ำแต่คิด..ถ้ารู้อย่างนี้..แบบนี้มันก็ไม่มีความสุข ดังนั้น อะไรผ่านไปก็ผ่านไปแล้ว move on ออกจากความรู้สึกแย่ๆ ให้เร็วที่สุด ..พิจารณาตัวแปรของเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกแย่ๆ ดู มองทุกปัจจัยรอบด้านอย่างเป็นธรรม เป็นกลาง ว่า ปัญหามันมาจากอะไร ถ้ามันมาจากตัวเราเอง ก็จำเอาไว้เป็นบทเรียน แล้วก็เตือนตัวเองว่าอย่าไปทำอีก เพราะมันไม่คุ้ม

ที่น่าคิดคือ “สิ่งที่ทำให้คนไม่มีความสุขอย่างหนึ่ง คือสิ่งที่ทำให้คนมีความสุขเองนั่นแหละ” พูดอย่างนี้คงจะงงๆ แต่ตั้งใจจะอธิบายเรื่อง “การประมาณตน” บางคนมีความสุขเรื่องวัตถุ โน่นนั่นนี่ก็อยากได้ อยากซื้อไปหมด ให้กู้เงินก็ยอม ..พอเอามาก็กลายเป็นทุกข์ เพราะมันใช้งานไม่คุ้มค่าบ้างล่ะ มันเป็นสินทรัพย์ที่ไม่สามารถทำให้เกิดผลประโยชน์งอกเงยบ้างล่ะ ตัวอย่างเช่น พวกบ้าซื้อหนังสือมาเป็นกองดอง วันหนึ่งมันก็เยอะ อ่านไม่หมด กลายเป็นเดือดร้อนรำคาญใจ ไหนจะที่เก็บ ไหนจะเงินที่เสียไป แต่เหมือนได้ของมาวางเล่นในบ้านชิ้นหนึ่ง ..แล้ววันหนึ่งก็อาจมีความจำเป็นต้องโละมันออกไปบ้าง ทั้งที่ยังไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ แต่พอเป็นมือสอง..ถ้าไม่ใช่แบบ rare item ก็ขายได้แต่ราคาลด

บางคนอยากมีรถสวย พวกนักธุรกิจขายตรงทรงเอ ..ประเภทเอาเงินชาวบ้านมาหมุน แล้วอวดดีชอบนักกับอีรถอิตาลีบางยี่ห้อ ก็กระตุ้นต่อมอยากให้บางคนตกเป็นเหยื่อเพราะความอยากได้ แต่ได้มาแล้ว ก็ลองคิดดูมันมีความสุขหรือไม่ กับการที่ต้องทำตัวเป็นแม่ข่ายหลอกคนมาเข้าธุรกิจทำนาบนหลังคนเยอะๆ ..มันมีความสุขหรือไม่ กับการที่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนเพราะอยากได้ และต้องร้อนเหมือนนรกในใจเมื่อมีข่าววงธุรกิจหรือวงแชร์ที่ไปลงเงินไว้จะล้ม .. มันมีความสุขหรือไม่ ที่มีรถสวยแต่เวลาใช้ต้องระวังไปหมดทุกอย่าง อะไหล่ก็แพง งานสมบุกสมบันก็ไม่กล้าใช้ แมวขึ้นรถก็ตกใจ

ดังนั้น ลองคิดดูว่า “สิ่งที่เราคิดว่าเราได้มาเราจะมีความสุข” เอาจริงถ้าได้มาแล้ว มีความสุขหรือไม่ ..จำไว้ว่า ของที่ไม่จำเป็น มันจะหมดคุณค่ากับเราไปเองตามกาลเวลา และเราไม่ต้องไปไล่ตามเทรนด์ ตามกระแสอะไรก็ได้ เพราะพวกนี้มันคือกระแสทุนนิยมที่กระตุ้นให้เกิดการซื้อขายเท่านั้น การซื้อขายรูปแบบหนึ่งคือการซื้อขายสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตได้ หรือสิ่งที่มันมีราคาเกินกว่ามูลค่าของมัน พอซื้อแล้ว ได้ครอบครองแล้ว วันเดียวเผลอๆ หายเห่อ  ..ที่ต้องเตือนให้ใช้เงินระวังๆ เพราะอนาคตนี่ไม่รู้ว่า จะเกิดวิกฤติอะไรขึ้นมาอีกแบบไหน ..เราไม่ต้องพูดถึงวิกฤติการเมืองหลังการเลือกตั้งหรอก อันนั้นมีหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่บทอะไรมันจะเกิดมันก็ต้องเกิด อย่างเรื่อง โควิด ใครจะคาดคิดว่ามันจะเกิด

ตัวแปรที่ทำให้เรารู้สึกแย่ๆ อีกอย่างคือการเจอคนประเภท “toxic people” ซึ่งเคยถามเพื่อนๆ ว่า จะใช้ภาษาไทยคำนี้ว่าอย่างไรดี? เพราะปัจจุบันคนประเภทนี้ก็ชักเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนบอกให้แปลคำนี้ว่า “คนดีย์” คือไม่เหมือนกับ “คนดี” นะ เวลาพูดเน้นเสียงสระอียาวๆ  เติมหางเสียง ย.ยักษ์ เข้าไปด้วยก็ได้ …คนดีย์นั้นมีความต่างกับคนดี ..อันดับแรกคือ ใครเป็นคนดี คนอื่นเขาจะพูดถึงเป็นเสียงเดียวกันเองว่า นี่คนดี ..แต่พวกคนดีย์จะบอกใครต่อใครว่าตัวเองเป็น “คนดี” และชื่นชมพวกพ้องลักษณะนิสัย วิธีคิดเดียวกันว่าเป็น “คนดี” เหมือนกัน เพราะเป็นพวกศีลเสมอกัน

คนดีย์ จะมีนิสัยชอบจับผิดแบบคิดว่า “ทำเพื่อความสงบเรียบร้อย” (ของอะไรก็ช่างเถอะ)  ชอบชี้หน้าคนอื่นที่คิดต่างจากตัวเองว่าเป็นคนเลว ชอบทำตัวเป็นนักสอนคนอื่น ว่า ต้องยึดชุดความเชื่อแบบเดียวกับฉันสิๆๆๆ แล้วเธอจะได้รับการยอมรับว่าเป็นคนดี  ..พอมีปัญหาอะไรก็ชอบใช้ตรรกะบกพร่องเข้าสู้ เช่น เราเถียงกับคนดีย์ว่า นักการเมืองคนนี้ไม่ดีๆๆ แต่บังเอิญคนดีย์ชอบ ..ไม่ว่าเราจะยกตัวอย่าง “หลักฐานความไม่ดี” ของคนที่เรากล่าวถึงอย่างไร คนดีย์ก็จะไม่สนใจ บอกแค่ว่าเป็น คนซื่อสัตย์ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็พอแล้ว ซึ่งบางทีเถียงไปก็ปวดหัว เขาพูดกันถึงเรื่องปัญหาตัวบุคคลจะเอาสถาบันมาอ้างเพื่อ??  แทนที่จะเอาหลักฐานฝั่งตัวเองมาหักล้างหลักฐานที่เรามี เฉไฉไปโน่น

คนดีย์ จะมีลักษณะอีกอย่างคือ ถ้าเถียงไม่ได้ ไม่เอาพวกมารุมก็กราดเกรี้ยวกลบเกลื่อน ยกระบบอาวุโส ยกความวิเศษวิโสของตัวเองมาสู้ เหมือนวัวควายที่ดันจะเอาชนะให้ได้… คนดีย์บางคนก็ชอบอ้างความเคร่งศาสนา ชอบไปวัดไปวาทำบุญของตัวเอง แต่ปัญหาคือออกนอกวัดแล้วระรานคนอื่นเขาไปทั่ว แบบเห็นใครมีความสุขไม่ได้ ชอบวิจารณ์คนอื่นที่มีวิธีคิดต่างจากตัวเองในทางร้ายๆ ..คนดีย์จะเป็นพวกชอบออกหน้ารับความชอบ แต่พอความผิดสามารถ “หาคนผิด” ได้เร็วมาก ชนิดที่ “คนผิด” เอง ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองผิดตรงไหน โดนด่าโดนลงโทษแล้ว ..ก็มี  

ความเป็น “คนดีย์” มีหลายรูปแบบ แต่สรุปง่ายนิดเดียวคือ “เป็นพวกตัวแสบที่มั่นหน้าแบบผิดๆ ว่าตัวเองเป็นคนดี และต้องการให้คนอื่นรับรู้ว่าตัวเองเป็นคนดี” ทั้งที่เป็นพวกประเภทเข้าไปที่ไหนที่นั่นป่วนหมด .. คนดีย์หรือ toxic people นี่แหละคือ ตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เราใช้ชีวิตได้ไม่มีความสุข โดยเฉพาะคนพวกนี้มักจะอยู่รอบๆ ตัวเรา อย่างในออฟฟิศที่ทำงาน ต้องมีมนุษย์ลุงมนุษย์ป้าที่ทำตัวเป็นคนดีย์มาสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้บ้าง ..หรือไม่ก็ในครอบครัว ต้องมีวงศาคณาญาติบางคนที่ไม่มีความสุขในชีวิต เลยมายุ่งชีวิตคนอื่นโดยอ้างความหวังดี

เมื่อเป็นคนใกล้ชิดเราก็หลีกเลี่ยงคนพวกนี้ยาก เพราะจะมีคนรอบๆ ตัวเราไม่อยากให้ “มีเรื่อง” เนื่องจากมีอะไรขึ้นมาที “คนดีย์”ไม่ค่อยจบง่าย สามารถหยิบเรื่องเก่าๆ ขึ้นมารื้อฟื้นได้ตลอดถ้าจะเอาชนะ หรือเอาเรื่องเราไปใส่ไฟกับคนที่มีอำนาจให้คุณให้โทษกับเรา ซึ่งคนดีย์นี่บางทีก็เหมือนแมงวันตอมหน้า คือทำให้รำคาญ แต่ไม่ได้ร้ายแรง หรือไม่ก็สร้างความวายป่วงหนักมือไปเลย ..ซึ่งก็คิดไม่ตกอยู่ว่า จะจัดการกับ “คนดีย์” อย่างไร คือเลือกระหว่างไม่ยุ่งด้วยเลย, เออๆ ค่ะๆ ไปเวลาคนพวกนี้มาคุยด้วยแต่ไม่ต้องไปสนใจ หรือไม่ก็ตอบโต้คนดีย์ด้วยวิธีที่คนดีย์ใช้กับคนอื่นนั่นแหละ โต้หนักๆ ถึงจุดหนึ่งอาจหายบ้าเองได้ อย่างเช่น ปล่อยให้คนดีย์ด่าด้อยค่าเราไป แล้วฟ้องหมิ่นประมาททีเดียวจบ คราวนี้คนดีย์จะได้มีดวงตาเห็นธรรม ว่าความดีที่แท้จริงคือไม่ระรานคนอื่น

การอยู่ให้มีความสุขหลังปีใหม่ คือการหลีกเลี่ยง หรือจัดการกับพวกคนดีย์ได้นี่แหละ แต่ละคนก็คงมีวิธีไม่เหมือนกัน แต่ขอให้ต่างคนต่างไม่ต้องเจอคนประเภทนี้ในชีวิตดีกว่า. 

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”