สายพันธุ์ของพะยูนได้มีวิวัฒนาการลงไปอยู่ในน้ำและไม่กลับขึ้นบกอีกเลยเช่นเดียวกับโลมาและวาฬ พะยูนมีลำตัวรูปกระสวยคล้ายโลมา ลำตัวมีสีเทาอมชมพูหรือน้ำตาลเทา สีของส่วนท้องอ่อนกว่า มีขนสั้น ๆ ประปรายตลอดลำตัวและมีขนเส้นใหญ่อยู่อย่างหนาแน่นบริเวณปาก มีตาและหูเล็กอย่างละคู่ ส่วนของหูเป็นรูปเปิดเล็ก ๆ ไม่มีใบหู รูจมูกอยู่ชิดกัน 1 คู่ มีลิ้นปิด-เปิด พะยูนหายใจทุก 1-2 นาที มีครีบด้านหน้า 1 คู่ อยู่ด้านหน้าของลำตัว และมีติ่งนมอยู่ด้านหลังของฐานครีบ ครีบทั้งสองเปลี่ยนแปลงมาจากขาคู่หน้า

พะยูน มีหลายชื่อเรียกด้วยกัน คือ หมูน้ำ หมูดุด ดุหยง เงือก วัวทะเล และดูกอง อาหารของพะยูนคือหญ้าทะเล ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลอยู่เพียง 14,261 ไร่เท่านั้น แบ่งเป็นกลุ่มประชากรย่อย ที่อาศัยอยู่บริเวณเกาะต่าง ๆ ประกอบด้วย เกาะลิบง เกาะมุก และอ่าวสิเกา จ.ตรัง เกาะศรีบอยา เกาะปู เกาะจำ และอ่าวนาง จ.กระบี่ เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ อ่าวพังงา จ.พังงา อ่าวป่าคลอก จ.ภูเก็ต เกาะลิดี เกาะสาหร่าย จ.สตูล เกาะพระทอง จ.พังงา หมู่เกาะกรูด จ.ตราด อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี ปากน้ำประแส จ.ระยอง อ่าวสัตหีบ จ.ชลบุรี อ่าวทุ่งคาสวี จ.ชุมพร อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี อ่าวปัตตานี จ.ปัตตานี และอ่าวเตล็ด จ.นครศรีธรรมราช

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานภาพในปี พ.ศ. 2565 พบพะยูนประมาณ 273 ตัว โดยพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยพบประมาณ 31 ตัว และพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันพบประมาณ 242 ตัว แม้ว่าจากการสำรวจจะพบว่าประชากรพะยูนมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ยังมีการเกยตื้นหรือการตายของพะยูนอยู่ทุกปี ซึ่งมีการตายจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การเจ็บป่วย ลูกพะยูนพลัดหลงจากแม่ หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่น ถูกกระแทกด้วยของแข็ง เงี่ยงปลากระเบนแทง อุบัติเหตุ และเครื่องมือประมง การเกยตื้นของพะยูนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ต.ค. 2564-ก.ย. 2565) พบพะยูนเกยตื้นรวม 18 ตัว โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่จากการป่วยร้อยละ 73 สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ต.ค.-ธ.ค. 2565) พบพะยูนเกยตื้นรวม 7 ตัว โดยเป็นการเกยตื้นในพื้นที่ จ.ระยอง 1 ตัว ชลบุรี 1 ตัว ตรัง 2 ตัว กระบี่ 1 ตัว สุราษฎร์ธานี 2 ตัว โดยมีสาเหตุจากการป่วย 3 ตัว (ร้อยละ 43) สาเหตุจากการถูกกระแทกด้วยของแข็ง (กระดูกซี่โครงหัก) 2 ตัว ในพื้นที่ จ.ตรัง และชลบุรี (ร้อยละ 29) สาเหตุจากการป่วยร่วมกับการคาดว่าติดเครื่องมือฯ 1 ตัว (ร้อยละ 14) และไม่ทราบสาเหตุจากสภาพซากเน่ามาก 1 ตัว (ร้อยละ 14)

นายอรรถพล กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรฯ ได้กำชับให้ ทช. เร่งบูรณาการร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนชายฝั่ง ผู้ประกอบการ และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูสัตว์ทะเลหายาก ทุกชนิด โดยเฉพาะพะยูนซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ต้องช่วยกันดูแลอย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรฯ ได้ทำงานเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูเพิ่มจำนวนพะยูนรวมถึงสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลไทยมาโดยตลอด ผ่านกระบวนการทำงานภายใต้ มาเรียมโปรเจคท์ ซึ่งผลสำเร็จสามารถเพิ่มจำนวนประชากรพะยูนในธรรมชาติจาก 250 เป็น 273 ตัว และในอนาคตจะเพิ่มขึ้น 280 ตัว

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ขอความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ผู้ประกอบการประมง นักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่ ช่วยกันสอดส่องดูแลทรัพยากรพะยูนในแต่ละพื้นที่ หากพบการลักลอบทำลายทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลน รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก สามารถแจ้งเบาะแสมายังสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร. 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทรัพยากรพะยูนและสัตว์ทะเลหายากจะได้อยู่คู่กับท้องทะเลไทยไปตราบนานเท่านาน.