กว่า 8 ปี ที่ประกาศใช้ นอกจากตัวพระราชบัญญัติซึ่งเป็นตัวบทหลัก ยังมีการออกกฎหมายลำดับรองต่อเนื่องอย่างน้อยกว่า 14 ฉบับ และที่กำลังดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อจะออกเป็นกฎหมายลำดับรอง เช่น เรื่องสถานสงเคราะห์สัตว์ และเรื่องสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ โดยสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และองค์กรเครือข่าย ได้เสนอเพิ่มเติมสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติให้ได้รับการคุ้มครอง เช่น นกกระติ๊ด นกกระจาบ เต่า ช้าง ลิง วาฬ โลมา เป็นต้น และได้มีการเสนอให้มีการจัดระเบียบควบคุมพิเศษกรณีสุนัขดุร้ายมีประวัติทำร้ายคนหรือพยายามทำร้ายคน เช่น สุนัขพันธุ์พิตบูลเทอเรีย บูลเทอร์เรีย สเตฟฟอร์ดเชอร์บูลเทอเรีย ร็อตไวเลอร์ และ ฟิล่าบราซิลเรียโร เป็นต้น โดยเสนอให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ควรมีการศึกษาและออกระเบียบหรือประกาศที่เกี่ยวกับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ สำหรับสุนัขดุร้ายโดยเฉพาะ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขให้เกิดความเหมาะสมต่อไป

ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้จัดตั้งกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ เพื่อบริการช่วยเหลือรับข้อร้องเรียนตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมายฉบับนี้ อีกทั้งมีการจัดตั้งสถานพยาบาลสัตว์ ประจำอำเภอและจังหวัด กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อให้บริการด้านสุขภาพ สัตว์ป่วย สัตว์พิการ สัตว์ตั้งท้องหรือลูกอ่อน สัตว์ในสถานสงเคราะห์รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของที่อาศัยอยู่ในวัด โรงเรียน โดยสถานพยาบาลประจำอำเภอทุกแห่งของกรมปศุสัตว์จะมีสัตวแพทย์ประจำ ในการดูแลสัตว์ในภาวะฉุกเฉิน ก่อนส่งต่อในการทำหมัน ฉีดวัคซีน ซึ่งการบริการเหล่านี้ไม่เสียค่าใช้จ่าย นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เกิดขึ้นหลังการประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ นอกจากการบังคับใช้กฎหมาย ประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องก็นับว่ามีส่วนสำคัญ เช่น ปัญหาสุนัขจรจัดก็ควรมีการหยิบยกขึ้นมานำเสนออย่างต่อเนื่อง

สำหรับการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามหาแนวทางร่วมกันในการบูรณาการ การแก้ไขปัญหาในหลากหลายวิธี เช่น การผ่าตัดทำหมัน การจัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ การจัดโครงการสุนัขชุมชน เป็นต้น แต่ยังอาจไม่เพียงพอหรือรองรับกับการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดได้อย่างเต็มศักยภาพทั้งหมด การขึ้นทะเบียนและลงทะเบียนประวัติสุนัขทุกตัวนั้นมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด แต่วิธีการดำเนินการและมาตรการต่างๆ ควรต้องมีการศึกษาให้รอบคอบให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด โดยสัตว์เลี้ยงทุกตัว ควรมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน

สำหรับมาตรการอื่นนอกจากการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงแล้ว การทำเครื่องหมาย การฝังไมโครชิพหรือทำสัญลักษณ์อื่น ๆ การใช้ปลอกคอที่สามารถระบุพฤติกรรมได้ การผ่าตัดทำหมันสัตว์จรจัดอย่างรวดเร็วครบทั้งวงจรทั่วประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญควบคู่กับการจัดการสุนัขชุมชน การบังคับใช้กฎหมายที่เด็ดขาดจริงจังต้องดำเนินการควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้ทางสังคม การเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะ การรักเมตตาสัตว์อย่างรับผิดชอบ

ดังนั้นตลอด 8 ปีที่ผ่านมา พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ นับว่าเป็นกฎหมายที่สำคัญ สร้างการตื่นรู้ของคนในสังคมไทย ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรมมากยิ่งขึ้น วัดได้จากสถิติการร้องเรียนการดำเนินคดีต่างๆ และการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน ซึ่งมีทิศทางในทางบวกและประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยในโอกาสครบรอบ 8 ปี พระราชบัญญัตินี้ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ในฐานะผู้นำภาคประชาชนในการผลักดันเสนอกฎหมายฉบับนี้ จะร่วมกับองค์กรเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อสรุปผลการดำเนินงานและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมา เพื่อจะเสนอแนวทางในการพัฒนากฎหมาย การแก้ปัญหาสังคม และประเทศชาติสืบไป.

ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล