เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ คนไทยชอบทำบุญมาเนิ่นนาน

แต่ส่วนใหญ่ทำบุญโดยไม่เข้าใจความหมายที่ถ่องแท้

แน่นอนว่า ทำบุญด้วยหวังว่า จะรวย บ้างก็ทำเพื่อสร้างภาพให้มีหน้ามีตาทางสังคม

จะมีสักกี่คนที่ตั้งใจก้าวไปทำบุญด้วยใจที่บริสุทธิ์ ที่จะรู้ซึ้ง และสัมผัสถึงการทำบุญอย่างแท้จริง

“เสือสมุทร” ขอหยิบยกความหมายของการทำบุญมาอธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายๆ

“ทำบุญ” คือ การทำความดี กรรมดี การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ การกระทำความดีตามหลักคำสอนในศาสนา ซึ่งการทำบุญนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความดี กรรมดี และเพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ได้ออกไปจากใจ การทำบุญนำความสุขมาให้ ทำให้จิตใจของเราเบ่งบานไปด้วยบุญ จิตใจให้ผ่องใส บริสุทธิ์ ชีวิตมีความสงบสุข พบเจอแต่สิ่งดีงาม

ทำบุญ ในคำวัดหมายถึง การทำสิ่งที่เป็นบุญ กล่าวกว้างๆ วิธีทำบุญมี 3 วิธีคือ

“การให้ทาน” ทั้งการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ การถวายสังฆทาน บริจาคทรัพย์หรือสิ่งของให้แก่ผู้อื่น รวมทั้งการให้ทานแก่สัตว์
“การรักษาศีล” ไม่ว่าจะเป็น ศีล 5 หรือศีล 8
“การเจริญภาวนา” เช่น ทำสมาธิอบรมใจ ปฏิบัติกรรมฐาน สวดมนต์

การทำบุญหากปฏิบัติได้ครบ 3 วิธี ถือว่าทำบุญได้สมบูรณ์

เอ่อสัปดาห์นี้ “เสือสมุทร” เกริ่นซะยาวเลย แต่เชื่อว่าอย่างน้อยจะเข้าใจความหมายที่แท้จริงกันแล้ว

ไปต่อกันเลยกับเรื่องราวของ “พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ” กับไอเดีย “อิ่มบุญ-อิ่มใจ” ที่ จ.สุพรรณบุรี

ว่าแต่เอ๊ะ เรื่องราวจะเป็นยังไง ไปติดตามกันเลย..

“เสือสมุทร” เดินทางไปยังวัดไผ่ขาด ตั้งอยู่หมู่ 9 ต.ศรีสำราญ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี พบเห็นชาวบ้าน ซึ่งต่างมีหน้าตายิ้มแย้มสดใส ทั้งวัยกลางคนและสูงวัยมารวมตัวกัน

แล้วเขามาทำอะไรกัน ปรี่เข้าไปถามถึงบางอ้อว่า

ทุกคนต่างมีน้ำใจ ร่วมแรงร่วมใจกันเปิดโรงทานอิ่มบุญละ 1 บาท ทำก๋วยเตี๋ยวขาย ชามละ 1 บาท

ในใจ “เสือสมุทร” แวบขึ้นมาทันที เดี๋ยวนะ! ก๋วยเตี๋ยวชาวละ 1 บาท แบบนี้ขายก็ขาดทุนแย่เลยซิ ที่ไหนเขาขายกัน

แต่ภาพที่ปรากฏว่า ได้รับความนิยม มีกระแสตอบรับจากประชาชน และนักท่องเที่ยว เดินทางมาชิมก๋วยเตี๋ยวรสเด็ดกันอย่างคึกคัก

เอ้าแล้วจะขายขาดทุนแบบนี้ไปทำไมกัน “เสือสมุทร” คิดในใจอีกแล้ว

ก่อนจะร้องอ๋อดังๆ ว่า “ก๋วยเตี๋ยว 1 บาท” นั้น เพื่อช่วยเหลือวัดไผ่ขาด หาเงินสมทบทุนสร้างพระประธาน หลวงพ่อพระพุทธมหามงคลมุนี ขนาดหน้าตักกว้าง 10 เมตร ความสูง 22 เมตร ที่ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 63 หรือเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งเป็นทุนทรัพย์จากญาติโยม และชาวบ้านที่ร่วมกันสร้าง เป็นศูนย์รวมใจของคนในหมู่บ้าน ตั้งประดิษฐานไว้ที่วัดไผ่ขาด

อ้าวแล้วเงินในการจัดสร้างไม่พอเพราะอะไร ทำไมต้องเปิดขายก๋วยเตี๋ยว 1 บาท?

“เสือสมุทร” ช่างสงสัยจริงๆ งั้นไปทราบคำตอบจาก พระอธิการพัฒน์ชาญาศักดิ์ ตปคุโณ หรือ “พระอาจารย์โอด” เจ้าอาวาส ให้ท่านบอกเล่าดีกว่า

“พระอาจารย์โอด” เล่าว่า หลังจากมีการก่อสร้างพระประธานไปบางส่วนแล้ว ได้เกิดการระบาดของโควิด-19 ทุนทรัพย์ที่ใช้ในการก่อสร้างมีไม่เพียงพอ นายสมทรง ชูดี ประธานกรรมการวัดไผ่ขาด พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ และชาวบ้าน ได้ร่วมพูดคุยกัน เพื่อให้การก่อสร้างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จึงได้เสนอให้เปิดโรงทานอิ่มบุญ 1 บาท ให้กับนักท่องเที่ยว และผู้ที่มาร่วมทำบุญกราบไหว้บูชาพระพุทธมหามงคลมุนี องค์ท้าวเวสสุวรรณโณ และพญานาค 9 เศียร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดไผ่ขาด ได้กินก๋วยเตี๋ยว ชามละ 1 บาท หรือตามกำลังศรัทธา จะทำบุญเท่าไหร่ก็ได้ ใส่ตู้รับบริจาคที่ตั้งไว้ในโรงทาน

“เสือสมุทร” ก็ได้ถาม “พระอาจารย์โอด” ไปว่า แล้วต้นทุนมาจากไหนยังไง ท่านบอกว่า ส่วนต้นทุนเรื่องเส้นก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้น หมูสด เครื่องปรุงต่างๆ ก็มี นางฉลวย ชาวสวนกล้วย ร่วมกับพุทธศาสนิกชน และชาวบ้านผู้ใจบุญร่วมกันซื้อ นำมาบริจาคให้เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว และยังมีเส้นต่างๆ ลูกชิ้น เนื้อหมู ผักต่างๆ และถั่วงอกอย่างละ 50 กิโลกรัม โดยมีคณะแม่ครัว และชาวบ้านจิตอาสาฯ มาช่วยกันทำก๋วยเตี๋ยว ไม่มีค่าแรง ทุกคนมาช่วยกันด้วยใจ เพื่อนำรายได้ทุกบาททุกสตางค์ มอบให้วัดไผ่ขาด เพื่อให้สร้างพระประธานให้เสร็จ เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์อีกจำนวนมาก

“ถามว่า ขายราคานี้ทางวัดได้อะไร คำตอบคือ ทางวัดได้กำไรจากคนที่มากินแล้วชื่นชอบ คนที่มีกำลังทรัพย์ แต่กินไม่มาก ก็ยังนำเงินใส่ตู้ร่วมบุญ 100 บาท บ้าง 500 บาท บ้าง ใส่เกินราคาที่กำหนดไว้บ้าง นอกจากเมนูก๋วยเตี๋ยว ทางวัดไผ่ขาด ยังมี ขนมจีน ส้มตำ ขนมเบื้อง ขนมหวาน ไอศกรีมกะทิโบราณ น้ำอัดลม และขนมไทยโบราณอีกหลายเมนู ไว้บริการในราคา 1 บาท และยังมีการเปิดตลาดชุมชนให้ชาวบ้านเอาเสื้อผ้ามือสอง และพืชผลทางการเกษตรมาขายโดยตรง ใครที่มา จะได้สินค้าในราคาไม่แพง ชาวบ้านมีรายได้โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เป็นวิถีชุมชนที่เหมือนย้อนยุคไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว” พระอธิการพัฒน์ชาญาศักดิ์ กล่าว

เมื่อทราบเรื่องราวทั้งหมดจาก “พระอาจารย์โอด” ก็เข้าใจโดยไม่สงสัย แถมรู้สึกซาบซึ้งอิ่มเอม ในความตั้งใจดีไปด้วย

“สุมาลี เกิดโภคา” อายุ 64 ปี แม่ครัวใหญ่วัดไผ่ขาด ก็ได้เล่าอีกว่า นักท่องเที่ยวที่มากินก๋วยเตี๋ยว ชามละ 1 บาท บางราย บางคนก็ให้มากกว่า 1 บาท ตามกำลังศรัทธา บางท่านเดินทางขับรถมาทานชามเดียว ทำบุญ 100 บาท ถึง 1,000 บาท ก็ต้องขออนุโมทนาบุญด้วย ก๋วยเตี๋ยวชามละ 1 บาท ที่โรงทาน เป็นก๋วยเตี๋ยวหมูลูกชิ้นสูตรโบราณ รสชาติอร่อย เป็นฝีมือของชาวบ้าน และผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาช่วยกันทำ ในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ ใครว่างจากการทำนา ทำไร่ ก็มาทำก๋วยเตี๋ยวกันแต่เช้า ไม่มีค่าแรง ไม่มีค่าตอบแทน มาช่วยกันด้วยใจ เปิดโรงทานให้กับประชาชนที่มากินก๋วยเตี๋ยว 1 บาท

ฟากฝั่งนักท่องเที่ยวผู้มีจิตอันเป็นกุศลอย่าง น.ส.ไขแข ศรีเฟื่องฟุ้ง อายุ 54 ปี บอกว่า ได้ทานก๋วยเตี๋ยวบุญชามละ 1 บาท ต้องบอกว่าคุณภาพ และปริมาณเยอะมาก ถ้าทียบเท่ากับชามละ 20-30 บาท ทำให้หลายคนติดใจรสชาติที่อร่อย มากินทุกเสาร์-อาทิตย์ กินก๋วยเตี๋ยวแล้วได้บุญ อิ่มใจ อิ่มท้องอีกด้วย ไม่ต้องปรุงเลย การันตี 100% ว่ามีที่นี่ที่เดียว ชามละ 1 บาท รสชาติเกินราคา ทั้งนี้ต้องขอเชิญชวนนักชิมสายบุญต้องไม่พลาด ก๋วยเตี๋ยวบุญ ชามละ 1 บาท พร้อมขนมหวานอีกหลากเมนูรสชาติ ต้องบอกว่าสุด ใครมาก็ติดใจ ทำบุญแถมได้อิ่มท้อง ได้ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ รองรับนักท่องเที่ยวมาทำบุญ อิ่มบุญอิ่มใจได้ที่วัดไผ่ขาด

เป็นอีกเรื่องราวของความมีน้ำใจของชาวบ้านที่น่าชื่นชม ได้ร่วมแรงร่วมใจทำ “ก๋วยเตี๋ยวบุญ” เพื่อศาสนา.
……………………………………..
คอลัมน์ “คนดีของสังคม”
โดย “เสือสมุทร”
ขอบคุณข้อมูล-ภาพ “ครรชิต กระโห้แก้ว” ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ จ.สุพรรณบุรี
อ่านเรื่องราว “คนดีของสังคม” ได้ที่นี่..