ประกาศผลไปแล้วสำหรับงานประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2022 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการกองทุน สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในพิธี 

สำหรับรางวัลชนะเลิศระดับชั้นมัธยมศึกษา ได้แก่ผลงาน “ลด ละ เลิก การสูบ บุหรี่ SMD Team”กิจกรรมเสริมสร้างความรู้ และการตระหนักเรื่อง บุหรี่ ด้วยนวัตกรรมบอร์ด เกม Just say No โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) จังหวัดขอนแก่น

ชนะเลิศระดับอาชีวศึกษาได้แก่ ผลงาน “ลดอุบัติเหตุและ สร้างเสริมความ ปลอดภัยทางถนน F two K Wireless helmet signal light” อุปกรณ์เสริมหมวกกันน็อคนิรภัยอัจฉริยะ วิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการ ลานนา จังหวัดเชียงใหม่

ชนะเลิศระดับประชาชนทั่วไป ผลงาน เพิ่มการบริโภคผักผลไม้ และ อาหารที่ถูกต้องตามหลัก โภชนาการ Rambler (Rambler Enterprise Co., Ltd.) GreenSmooth น้ำปั่นผักผลไม้ออร์แกนิคที่คิดค้นร่วมกับ นักโภชนาการและนักกำหนดอาหาร จำหน่ายผ่านตู้ Vending Machine

นายอนุทิน กล่าวว่า สสส. ได้รับความกรุณาจากนายกรัฐมนตรีให้การประกวดนี้เป็นรางวัลระดับชาติเป็นปีที่สอง สร้างนวัตกรสร้างเสริมสุขภาพ จากเยาวชน คนรุ่นใหม่ Startup และคนทำงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศที่เข้าใจแนวทางสร้างเสริมสุขภาพที่เริ่มต้นจากตัวเอง ชุมชน และสังคม 

“รู้สึกภาคภูมิใจกับทุกทีมที่เข้าประกวด เพราะทุกผลงานมาจากความทุ่มเท และความพยายามของทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา กลุ่ม Startup และกลุ่มภาคีเครือข่าย สสส. ที่ร่วมกันคิดริเริ่มอย่างสร้างสรรค์ จนออกมาเป็นผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพหลากหลายประเด็น ที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขอบคุณทุกภาคส่วนที่สนับสนุนการพัฒนาผลงาน ช่วยเติมเต็มความรู้ให้กับทีมที่ผ่านเข้ารอบ และขอบคุณ สสส. ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่และคนทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพได้แสดงผลงาน ความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพ และเชื่ออย่างยิ่งว่าการประกวดครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ที่จะเป็นกำลังสำคัญช่วยดูแล แก้ไข และสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวได้อย่างยอดเยี่ยม ต่อยอดไปสู่ระดับนานาชาติในอนาคต” นายอนุทิน กล่าว

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม คณะกรรมการกองทุน สสส. และประธานคณะกรรมการพิจารณาและกำหนดหลักเกณฑ์การตัดสิน กล่าวว่า ในศตวรรษที่ 21 มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนทั่วโลก การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ จะช่วยหาวิธีการใหม่ ๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว  สสส. จัดประกวดฯ ครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายที่ตอบสนองต่อสถานการณ์มิติสุขภาพ ที่มากกว่าเรื่องเจ็บป่วย และรักษา แต่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อป้องกันการเจ็บไข้ได้ป่วยของตนเอง และคนรอบข้าง ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี ซึ่ง สสส. มีบทบาทส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์และกระบวนการ เชื่อว่านักเรียน นักศึกษา คุณครู อาจารย์ startup และ ภาคีเครือข่าย สสส. ที่ได้เข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ จะเป็นความหวังในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพในอนาคตได้อย่างแน่นอน

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. จุดประกายการพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านโครงการที่หลากหลาย และได้เริ่มโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ชื่อ ‘ThaiHealth Inno Awards’ ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ในปีนี้ได้ขยายกลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่เป็นกลุ่มเด็กเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวช. เพิ่มอีก 2 กลุ่ม คือ บุคคลทั่วไป/Startup และภาคีเครือข่าย สสส. รวมทั้งสิ้น 290 ทีม จากทั่วประเทศ เพื่อร่วมสร้างนวัตกรรมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ที่สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในการลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ และส่งเสริมให้คนมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ที่ผ่านมาผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพได้รับการต่อยอดใช้จริง อาทิ เสาหลักนำทางจากยางพารา มีเป้าหมายแก้อุบัติเหตุทางถนน ผลงานนี้ได้รับการต่อยอดจากระทรวงคมนาคมเมื่อปี 2563 เปลี่ยนเสาหลักนำทางจากคอนกรีตให้เป็นเสาหลักจากยางพาราในถนนหลายเส้น นอกจากนี้ยังมีเครื่องสลัดน้ำมันจากการทอดผลงานชนะเลิศระดับอาชีวศึกษาในปี 2563ช่วยกระตุ้นเตือนให้คนรักษาสุขภาพ

Wireless helmet signal light อุปกรณ์เสริมหมวกกันน็อคนิรภัยอัจฉริยะ

ก้องเกียรติ จิรวัฒนคุณากร,ชสนันท์ เปรมประไพพร,นินาริต้า นิเจ เจ้าของผลงานรางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา ช่วยกันเล่าถึงผลงาน Wireless helmet signal light อุปกรณ์เสริมหมวกกันน็อกนิรภัยอัจฉริยะว่า มาจากโจทย์ที่สำคัญมีคนใกล้ชิดเสียชีวิตด้วยรถจักรยานยนต์ เพราะ คนขับรถยนต์มองไม่เห็นรถจักรยานยนต์เพราะมุมอับ  โดยเฉพาะตำแหน่งของการมองห็นสัญญาณไฟลี้ยวซ้ายและเสี้ยวขวา และสัญญาณไฟเบรก บางตำแหน่งมองเห็นไม่ชัดเจน ดังนั้นคณะผู้จัดทำจึงสร้างนวัตกรรม Wireless helmet  signal light โดยจะแสดงสัญญาณไฟ เสี้ยวซ้ายและเลี้ยวขวาและสัญญาณไฟเบรก ให้เห็นได้ชัดเจนและแจ้งเตือนในกรณีที่ขับรถกระชั้นชิด และมีสัญญาณไฟฉุกเฉิน โดยใช้สัญญาณ Wireless เชื่อมต่อกับหมวกกันน็อก ทำให้คนขับรถยนต์เห็นสัญญาณไฟทำให้การขับขี่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ส่วนผลงานชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาเป็นผลงานของโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) โดย นราธิป อยู่พงศ์,รับขวัญ ไชยทองศรี,วรินยุพา งามเจริญวงศ์ สร้างสรรค์กิจกรรมเสริมสร้างความรู้เรื่องบุหรี่ ด้วยนวัตกรรมบอร์ดเกม Just say No

นวัตกรรมบอร์ดเกม Just say No

นวัตกรรมบอร์ดเกม Just say No เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจเรื่องบุหรี่ ให้กับเยาวชน และนำบอร์ดเกมไปให้กับเครือข่ายการงดไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อขยายผลการเรียนรู้ โดยใช้ผู้เล่น 2-3 คน เวลา 15-30 นาที อายุ 12-18 ปี Just say No เป็นบอร์ดเกมที่ผู้เล่นได้รับบทบาทเหมือนกับเด็กคนหนึ่งที่ต้องพบเจอกับปัญหาและพิษภัยของบุหรี่รอบๆ ตัวเขา ทั้งจากครอบครัว ทั้งนี้บอร์ดเกมเป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหาเพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองด้วยการลงมือปฏิบัติจริงทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

GreenSmooth

สำหรับผลงานประเภทประชาชนทั่วไปเป็นของ นิพิฐพนธ์ ทองพันธุ์ และเสถียรพงษ์ สุขสาคร จากทีม Rambler กับผลงาน GreenSmooth เกิดจากการอยากช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้นควบคู่ไปกับการสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นและรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน โดยจุดเริ่มต้น มาจากความสนใจด้านความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพ เรามองเห็นปัญหาต่างๆ ทั้งจากฝั่งเกษตรกร ฝั่งผู้บริโภค รวมถึงสิ่งแวดล้อมจึงแบ่ง Stakeholder ออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ผู้บริโภค (ลูกค้า) ผู้ผลิต (เกษตรกร) และ สิ่งแวดล้อม (โลก)ผู้บริโภค (ลูกค้า) อยากให้ผู้คนบริโภคผักและผสไม้ให้มากขึ้น เนื่องจากองค์การอนามัยโลก รายงานว่าผู้คน 9 ใน 10บริโภคผักและผลไม้ไม่เพียงพอ (น้อยกว่า 400 กรัมต่อวัน) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็น

GreenSmooth

GreenSmooth คือน้ำผักผลไม้ปั่นจากผักผลไม้ออร์แกนิคซึ่งจำหน่ายผ่านตู้ Vending Machine 24 ชั่วโมง/7วัน โดย GreenSmooth ทุกขวดมีปริมาณผักผลไม้รวมกันมากถึง 200 กรัม หรือเทียบเท่าร้อยละ 50ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ให้บริโภคต่อวัน ซึ่งทุกสูตรของ GreenSmooth ถูกคิดค้นโดยนักโภชนาการและนักกำหนดอาหาร โดยใช้ ผักผลไม้ออร์แกนิคส่งตรงจากเกษตรกรท้องถิ่น  นอกจากนั้น ยังมีการนำเทคโนโลยี HPP(High Pressure Processing) เข้ามาใช้ในการะบวนการผลิตเพื่อรักษาความสดใหม่รวมถึงวิตามินและสารอาหารต่างๆเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับคุณค่าสูงสุดในทุกๆ ขวด และยังเป็นการยืดอายุของผลิตภัณฑ์เพื่อลดขยะอาหาร (Food Waste)อีกด้วย โดย GreenSmooth ทุกขวดที่เหลือจากการขายจะถูกนำไปส่งคืนให้เกษตรกรเพื่อนำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และใช้ในการเพาะปลูกต่อไป (Circular Economy) กลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มคน Gen Y แล: Gen Z ที่ใช้ชีวิตเร่งรีบในเมือง แต่ก็อยากดูแลสุขภาพจึงต้องการสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและสะดวกรวดเร็วในราคาที่ข้าถึงได้ โดยจะจำหน่ายราคาขวดละ 89 บาท ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าจริงที่ดื่ม GreenSmooth ซึ่งได้ทดลองจำหน่ายไปแล้วมากกว่า 2,500 ตัวอย่าง โดยลูกค้ามากกว่าร้อยละ90 ชื่นชอบรสชาติและรสสัมผัส

GreenSmooth

งานประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2022  เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงออก ทำให้เข้าใจการสร้างเสริมสุขภาพที่ต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง ชุมชน และสังคม