การจะควานหาสมบัติจากมหาสมุทรสิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ต้องหาให้เจอว่าแหล่งที่มีปลาอยู่ตรงไหน กลยุทธ์ในแบบจีน “รู้เขารู้เรารบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” จึงเป็นสิ่งที่นักธุรกิจไทยจะต้องจำไว้ให้ขึ้นใจหากจะเข้าไปลงทุนหรือทำการค้ากับจีนให้ประสบผลสำเร็จ

ก่อนมหาอำนาจของโลกจะเปิดประเทศอีกครั้ง ผู้ผ่านร้อนหนาวมาในสังเวียนของธุรกิจกล่องกระดาษ จากชีวิตติดลบกว่า 1,000 ล้านบาท สู่เจ้าของอาณาจักรกล่องกระดาษลูกฟูกในปัจจุบัน นักธุรกิจรุ่นใหญ่วัย 66 ปี วีรชัย มั่นสินธร หรือ “เอี๋ยม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) จึงนำ “องค์ความรู้” ที่หล่อหลอมมาตลอด 60 ปี ส่งไม้ต่อไปยังคนเจเนอเรชั่นใหม่ ด้วยการจัดตั้งโครงการ “เตรียมความพร้อมรับการเปิดตลาดของธุรกิจในปี 2023” โดยผนึกกำลังกับกูรูชื่อดังของเมืองไทย สอนเทคนิคเชิงลึกให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ก่อนบุกแดนมังกร

“เรียกว่าทั้งชีวิตเติบโตมากับธุรกิจกล่องกระดาษ เนื่องจากเป็นธุรกิจของครอบครัว มีโอกาสได้ไปศึกษาที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย และประเทศญี่ปุ่น แต่ต้องไปเป็นพนักงานล้างจาน ช่วยเหลือครอบครัวอีกทาง ระหว่างธุรกิจที่บ้านเริ่มมีปัญหา สุดท้ายต้องกลับมาเมืองไทยก่อนที่จะเรียนจบเพื่อมาดูแลธุรกิจครอบครัวอย่างจริงจัง ค่อย ๆ พัฒนาจนธุรกิจกลับมาดีขึ้น โดยในปี 2523 สามารถเพิ่มยอดขายจาก 10 ล้าน เป็น 800 ล้านบาท จนในปี 2538 จึงได้นำบริษัทฯ เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์” วีรชัย กล่าว

แต่แล้วก็ต้องผ่านบทพิสูจน์อีกครั้ง เมื่อวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ทำให้บริษัทเป็นหนี้มากกว่า 1,000 ล้านบาท ความหมายก็คือ “ล้มละลาย” แต่ฝ่าฟันต่อสู้จนปลดหนี้สำเร็จภายในเวลา 10 ปี โดยระหว่างนั้นยังคงดูแลพนักงานทุกคนดังเดิม แสดงถึงวิสัยทัศน์ของการเป็นผู้นำที่เป็นผู้ให้มาโดยตลอด รวมทั้งวิกฤตินํ้าท่วมใหญ่ในปี 2554 มีโอกาสได้ทำสิ่งที่ตัวเองถนัด สร้าง “ส้วมกระดาษ” มอบให้กับผู้ประสบภัย 10,000 ชิ้น และล่าสุดยังส่งมอบเตียงสนามกระดาษเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

การทำงานที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมาตลอดชีวิตทำให้ เอี๋ยม-วีรชัย มองว่าถึงจุดที่จะต้องคืนอะไรให้กับสังคม จึงจัดตั้งโครงการเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ธุรกิจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ปลดปล่อยศักยภาพและแสดงความสามารถในเชิงธุรกิจ และในฐานะประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน จึงตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้และวิธีการคิด รวมทั้งการต่อยอดในการค้าขายระหว่างไทยกับจีน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับคนรุ่นใหม่ ก่อนก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงานในอนาคต

“4 ปีที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายเป็นประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน ทำให้ได้ประสบการณ์ มีเครือข่าย บทบาทหน้าที่หลักคือเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือนักธุรกิจจีนที่จะมาลงทุนในเมืองไทย หรือนักธุรกิจไทยที่จะไปทำการค้าในจีนคิดว่าประสบการณ์ตรงนี้ พอที่จะเป็นเกตเวย์เชื่อมต่อต่างประเทศกับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่สนใจได้” วีรชัยยํ้า

ทุกวันนี้ประเทศจีน มีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน ชนชั้นกลางมากกว่าไทย 300 ล้านคน เป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูงสุด ขณะที่ประเทศไทยมีสินค้าหลากหลายที่คนจีนนิยม เช่น สินค้าพื้นเมือง ผลไม้อบแห้ง สมุนไพร แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 สงบลง คนจีนจะมองหาสินค้าเปลี่ยนไปจากเดิม หลักสำคัญ คือ 1.ความปลอดภัย 2.ธรรมชาติ 3.ความเป็นไทย ดังนั้นหากคิดจะทำการค้ากับเมืองจีนควรรักษามาตรฐานของสินค้าที่มีคุณสมบัติทั้งสามข้อนี้

“จุดเด่นของจีน คือ ชอบของดี ของถูก แต่ว่าสมัยนี้จีนกำลังซื้อสูงมาก ไม่ได้ชอบของถูกเสียทีเดียว เพียงแต่ว่าสินค้าของคุณต้องทำให้เขาเชื่อถือได้ เขาเชื่อใจว่าสินค้าคุณดีจริง และราคาเหมาะสมด้วย” นักธุรกิจผู้ครํ่าหวอดยํ้า สำหรับช่องทางการค้า แพลตฟอร์มสำคัญที่ต้องยอมรับก็คือ “ออนไลน์” ซึ่งปัจจุบันแอพพลิเคชั่น “Tiktok” กำลังมาแรงแซงโค้ง แต่อย่างไรก็ตามยังไม่อยากให้ทิ้ง “ออฟไลน์”

เทคนิคทำการค้ากับเมืองจีนคีย์เวิร์ดคือ “ป่าล้อมเมือง” เอี๋ยม-วีรชัย พยายามจะบอกว่า อย่าแข่งขันแต่เมืองใหญ่ เพราะจีนยังมี “เมืองรอง” หลายเมืองที่ยังมีโอกาสอีกมาก การแข่งขันก็ไม่รุนแรงเท่ากับเมืองใหญ่ เช่น เมืองเจินโจว อนาคตจะมีประชากรราว 100 กว่าล้านคน ซึ่งสินค้าจากไทยยังไปไม่ถึงตรงนั้นสักเท่าไหร่ ทางเหนือของจีนจึงน่าจะเป็นแลนด์มาร์คเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพียงแต่ต้องศึกษาและรู้จักเขา อยากให้เริ่มจากจุดเล็ก ๆ แล้วค่อยขยายเป็นวงกว้าง

“วัยรุ่นสมัยนี้อยากรวยเร็ว นิยมความมั่งคั่ง ผมอยากเปรียบเทียบว่าเหมือน “เต่า” กับ “กระต่าย” วิ่งแข่งกัน กระต่ายเหมือนวัยรุ่นที่กระโดดไปข้างหน้าเร็วกว่าเต่า บางทีไปเร็ว เวลาล้มมันก็เร็ว ไม่เหมือนเต่าที่ค่อย ๆ ไป แต่สุดท้ายถึงเป้าหมายเหมือนกัน สิ่งที่วัยรุ่นเดี๋ยวนี้ใจร้อน ไม่ได้เป็นความผิด เป็นความเร็วที่ดี แต่ว่าเวลาที่คุณไปเร็ว ๆ ให้ระวังด้วยว่า เผื่อใจว่าวันหนึ่งตกลงมาแล้วเราต้องเตรียมรับมือกับมันยังไง” นักธุรกิจผู้มากประสบการณ์ในตลาดจีนให้แง่คิด

การทำเหมือน “เต่า” ที่ว่าก็คือ ต้องทำซํ้า ๆ ทุกวันไม่หยุด สะสมความสำเร็จเล็ก ๆ ทุกวัน แล้วจะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้

“มันไม่มีวิธีอื่น ไม่มีพระเจ้าอวยพรให้ มีเพียงตัวเองที่ต้องลงมือทำ แต่สำหรับโครงการนี้ เพียงอยากจุดประกายให้ทุกคนนำสิ่งที่ลองผิดลองถูกมาย่นย่อเป็นกลยุทธ์เพื่อลับฝีมือก่อนลงสนามจริง”

โครงการเตรียมความพร้อมรับการเปิดตลาดของธุรกิจในปี 2023 ที่จัดขึ้นได้รับความสนใจอย่างล้นหลามแต่สิ่งที่ต้องการนั้นไม่ใช่แค่ปริมาณ แต่เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ด้านการช่วยเหลือสังคมที่ทำมาตลอดทั้งชีวิต

“เพียง 1 ใน 30 คนที่ก้าวออกจากโครงการไปแล้วสามารถต่อยอดทำธุรกิจ จนประสบความสำเร็จ ถือว่าตอบโจทย์แล้ว นี่คือเจตนารมณ์ของผม อยากให้คนรุ่นใหม่มีแนวคิดแบบนี้ว่า วันหนึ่งที่คุณสำเร็จแล้ว ควรที่จะส่งความรู้ให้กับผู้อื่น หลักการเช่นนี้มันจะทำให้สังคมไทยแข็งแรงขึ้น”

เอี๋ยม-วีรชัย คิดว่า การให้ไม่ว่าจะเป็น กิริยาวาจา การให้ด้วยนํ้าใจ หรือทรัพย์สินเงินทอง เชื่อว่าทุกการให้ผลตอบแทนกลับมายิ่งใหญ่เสมอ นอกจากที่โรงงานพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีโครงการทำร่วมกับคนงานและชุมชนใกล้เคียงแล้ว การให้ของเขายังขยายเป็นวงกว้าง ไม่ต่างจากแนวคิด “ป่าล้อมเมือง” ล่าสุดนักธุรกิจวัย 66 ปีคนนี้ ลุยนํ้าท่วมเพื่อนำถุงยังชีพแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชน และเดินทางไปมอบเครื่องกรองนํ้าให้กับโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร พร้อมส่งต่อกระเป๋ายาให้กับ อสม. 139 หมู่บ้าน จ.ลำปาง ด้วย เพราะมองว่า “คุณภาพชีวิตในการเรียนที่ดี” เป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ

ชีวิตเริ่มต้นที่อายุ 66

วีรชัย มั่นสินธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ด้วยปณิธาน “ชีวิตเริ่มต้นที่อายุ 66” และในฐานะประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน จึงร่วมมือกับผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา เปิดโครงการ “เตรียมความพร้อมรับการเปิดตลาดของธุรกิจในปี 2023” โดยตั้งใจที่จะให้ความรู้และวิธีการคิด รวมทั้งต่อยอดการค้าขายระหว่างไทยกับจีน พร้อมเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์การทำงานจริง เพื่อเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่ ก่อนก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงานในอนาคต

ตลอดชีวิตไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้ หลังเข้าศึกษาที่ HIGH SCHOOL HAN CHIENG HIGH SCHOOL ปีนัง ประเทศมาเลเซีย และ HIGHER VOCATIONAL CERTIFICATE NAKANIHON JIDOSHA TANKI DAIGAKU ประเทศญี่ปุ่น แล้วกลับมาศึกษาต่อระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด ระหว่างนั้นเพิ่มเติมศักยภาพด้วยการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เช่น หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารงานพัฒนาเมือง (มหานคร รุ่นที่ 1), หลักสูตรประกาศนียบัตรไทยกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รุ่นที่ 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า, หลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ สถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) รุ่นที่ 8 และ Business Revolution and Innovation Network (BRAIN) รุ่นที่ 1

รวมทั้งอุทิศตนเพื่อสังคมและธุรกิจ อาทิ อุปนายกโครงการ สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย, กรรมการที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการ สมาคมกรุงเทพกรีฑา, ที่ปรึกษาสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย, ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน, กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กส.) ปัจจุบันก้าวขึ้นสู่การเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ ติดอาวุธธุรกิจให้กับคนรุ่นใหม่ และอุทิศตนช่วยเหลือสังคมยามเกิดภัยพิบัติ การศึกษาของเด็กและเยาวชน.

ช้องมาศ พุ่มสวัสดิ์