ทุกวันนี้!! ประเทศไทยยัง “เคลิบเคลิ้ม” อยู่กับการปั้นแต่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่หมายมั่นปั้นมือไว้ว่าอย่างน้อย ๆ ในสิ้นปี 65 นี้ จะสามารถคว้ามือให้เข้ามาเที่ยวเมืองไทยให้ได้ 10 ล้านคน

ที่สำคัญ…ยังตั้งความหวังกันไว้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย จะสามารถกลับไป “ยืนหนึ่ง” ได้เช่นเดียวกับช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2567 แม้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเวลานี้ กลายเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ ก็จริง…

แต่ขณะเดียวกันก็อย่าลืมว่า บรรดาสำนักวิจัยทั้งในและต่างชาติ ต่างออกมาเตือนถึง “มหาพายุ” ที่กำลังคืบคลานเข้ามาในอนาคตอันใกล้

ไอเอ็มเอฟ หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกอีกครั้ง พร้อมส่งคำเตือนดัง ๆ ว่า… สิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง และภาวะถดถอยของเศรษฐกิจจะปรากฏขึ้นในปีหน้า

ขณะเดียวกันยังหั่นจีดีพีเศรษฐกิจโลกเหลือเพียง 2.7% และยังมีความเป็นไปได้ในอัตรา 25% ที่จะเติบโตเพียง 2% เมื่อเทียบกับครั้งก่อนที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.2%

IMF to consider $1.3 billion in emergency funding for Ukraine on Friday |  Reuters

และที่สะเทือนใจ! คนทั่วโลก คงหนีไม่พ้นมุมมองของ ไอเอ็มเอฟ ที่มองว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะ “อ่อนแอ” ที่สุด นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา

สาเหตุ… ก็หนีไม่พ้นเรื่องราวของสงครามรัสเซียและยูเครน ที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น และยังยืดเยื้อไม่มีวี่แววว่าจะยุติในเร็ววัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงเพื่อกดเงินเฟ้อให้ลดลด รวมถึงปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน สหรัฐ และยุโรป

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟ ยังเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก จะพุ่งสูงที่สุดในช่วงปลายปีนี้ โดยทั้งปีพุ่งไปถึง 8.8% และจะปรับลดลงเหลือ 6.5% ในปีหน้า และในปี 2567 จะลดลงเหลือ 4.1%

ขณะที่ “เฟด” ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 2% ซึ่งเท่ากับว่า… ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้นอีก เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ที่คาดหมายกันว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปจนแตะที่ระดับ 4.6% ในปีหน้า

ผลพวงของดอกเบี้ยแพงครั้งนี้ กลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงกับเศรษฐกิจ เพราะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป อาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกรุนแรงขึ้น

Aerial view of cargo ship and cargo container in harbor

ในเมื่อเศรษฐกิจโลกยังยักแย่ยักยัน… ถามว่า? ผลพวงที่ประเทศไทยจะได้รับ ก็คงหนีไม่พ้น เรื่องของการส่งออกสินค้า ที่อาจต้องเผชิญความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย

ซึ่งเวลานี้ ก็มีการส่งสัญญาณกันมาบ้างแล้วว่า ยอดคำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์เริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดกันทีเดียว

เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยว…ที่อาจต้องกระเทือนไปด้วยเช่นกัน ในเมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ดีก็ต้องส่งผลต่ออำนาจซื้อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนคนทั่วโลกอยู่แล้ว ความคาดหวังที่จะจับมือให้ชาวต่างชาติมาเยี่ยมเยือนเมืองไทย อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็ได้

ความคาดหวังที่จะได้รับข่าวดีจาก ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ในช่วงที่จะเข้ามาร่วมประชุมเอเปคในไทยในกลางเดือน พ.ย. นี้ ก็ยังไม่มีความแน่นอน เพราะยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่า นายสี จิ้นผิง จะเดินทางมาไทยแน่นอนหรือไม่?

Chinese Communist Party Congress in Beijing

การหวังพึ่งรายได้จากต่างประเทศ ทั้งการส่งออก ทั้งรายได้จากการท่องเที่ยว ยังคงมีความเสี่ยง ขณะเดียวกันปัจจัยในประเทศไทยเอง…อย่างเรื่องของ การเมือง ก็บั่นทอน บรรดานักลงทุนไม่น้อยเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการขับเคลื่อนโครงการโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ อีอีซี ที่หมายมั้นปั้นมือกันมานานหลายปี จนเป็นรูปเป็นร่างในหลายโครงการ กลับหยุดชะงัก

ทั้งที่เป็นโอกาสสำคัญ ที่จะนำโครงการนี้มาเป็น “แม็กเน็ต” เพื่อประกาศให้ชาวโลกรับรู้ ในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในวันที่ 18-19 พ.ย. นี้

เพราะเพียงแค่ 1 โครงการ ที่นำมาประกาศในเวทีนี้ ก็เชื่อได้เลยว่า ความมั่นใจ ความเชื่อมั่น ในการที่จะเข้ามาลงทุนในไทย จะกลับคืนมาให้เห็นแน่นอน ต่อให้เศรษฐกิจโลกกำลังเดินทางเข้าสู่ภาวะถดถอยก็ตาม

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะหยุดลงทุน อย่าลืมว่า คำพูดที่ว่า…ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส!! นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธกันได้ ยิ่งในภาวะเช่นนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทุกทางก่อนที่เงินลงทุนจะหลั่งไหลไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

ณ เวลานี้ เชื่อได้ว่าทุกฝ่าย…กำลังเฝ้ารอทิศทางการรับมือเศรษฐกิจของผู้บริหารประเทศ แบบชัด ๆ แบบที่สร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับคนไทยทั้งประเทศ เพราะอย่าลืมว่าปีหน้า คือปีแห่งการ “เผาจริง”

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู