เกี่ยวเนื่องจากเหตุกราดยิง 37 ศพ ใน จ.หนองบัวลำภู ด้วยปมปัญหามาจากเรื่องยาเสพติด ในห้วงเวลา 8 ปี ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้มเหลวเรื่องการสกัดกั้น ล้มเหลวในการปราบปรามจับกุม ทำให้ยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและไอซ์แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ หาซื้อง่ายและราคาถูก

จากเม็ดละ 200-300 บาท ในช่วงก่อนรัฐประหารปี 57 ค่อย ๆ ขยับลงเหลือเม็ดละ 100 บาท แล้วก็มาเม็ดละ 50 บาท พัฒนาเป็น 3 เม็ด 100 บาท แต่หลังสุดที่จับได้เหลือเม็ดละ 7 บาท ระบาดในประเทศไทยไม่พอ! แต่เล็ดลอดไปถูกจับกุมลอตใหญ่ ๆ ในไต้หวัน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

ปราบปรามยาบ้า-ไอซ์ยังไม่หมดเลย! แต่ดัน “กัญชา” ออกจากยาเสพติดไปเรียบร้อยแล้ว! ทั้งที่หลายฝ่ายท้วงติงว่า “กัญชา” คือสารตั้งต้นของยาเสพติดชนิดอื่นที่แรงขึ้น

“อัยการ” คนหนึ่งที่ทำคดียาเสพติด เล่าว่า ปัจจุบันอัยการและตำรวจทำงานลำบาก! หลังจากมีการ “ลดโทษ” ลงมาระหว่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กับประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (เก่า) 1.มีบทสันนิษฐานว่าจำนวนยาเสพติด 15 เม็ดขึ้นไป ถือว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย 2.มีบทเพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำกึ่งหนึ่ง 3.ข้อหาเสพ โทษจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี และ 4.ไม่มีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ

แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 (ใหม่) ยกเลิกบทสันนิษฐานการมียาเสพติดไว้เพื่อจำหน่าย (ต้องอาศัยพฤติการณ์ว่าเป็นการกระทำเพื่อการค้าหรือไม่ เช่น ตำรวจได้รับแจ้งจากสายลับ) เพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำ 1 ใน 3 เท่านั้น ข้อหาเสพโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี เพิ่มความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ

กฎหมายใหม่มุ่งแต่แก้ปัญหานักโทษล้นคุก แต่ไม่คำนึงถึงปัญหาทางสังคมและผลกระทบในการบังคับใช้กฎหมาย โดยกฎหมายใหม่มีอัตราโทษเบาลง ทำให้ผู้กระทำความผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย และกระทำความผิดซ้ำซาก ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมในสังคมมากยิ่งขึ้น

กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ทำผิดคดียาเสพติด ต้องอาศัยทรัพยากรไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรในกระบวนการยุติธรรม-สาธารณสุข-ชุมชน จึงต้องจับตาว่าจะมีทรัพยากรที่นำมาใช้ส่วนนี้เพียงพอหรือไม่ อีกทั้งยังมีข้อสังเกตด้วยว่าการใช้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการบำบัด จะเห็นผลได้จริงหรือไม่ เพราะทัศนคติและการเปิดรับของคนในชุมชนถือเป็นส่วนสำคัญ หากไม่เปิดรับ กระบวนการบำบัดในส่วนที่เกี่ยวกับชุมชนคงเกิดขึ้นได้ยากในทางปฏิบัติ

แม้ตัวบทกฎหมายจะปรับเปลี่ยนหลักคิดในการมองประเด็นยาเสพติดหลายอย่าง เช่น การมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย การแบ่งแยกผู้ทำผิดไม่ร้ายแรงออกจากผู้ทำผิดร้ายแรง แต่เพียงตัวบทกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะทัศนคติและความรู้ความเข้าใจของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติใช้กฎหมายต้องสอดคล้องกัน จึงต้องจับตากันต่อไปว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านกฎหมายดังกล่าว การนำกฎหมายไปปฏิบัติจริงจะเกิดปัญหาในเรื่องทัศนคติและความเข้าใจของผู้นำไปใช้หรือไม่

ที่สำคัญหากกฎหมายไม่ได้ถูกนำไปบังคับใช้อย่างถูกต้องตรงไปตรงมา กฎหมายที่ออกมาใหม่ก็ไม่อาจนำไปสู่ประโยชน์ได้เต็มที่ แม้เนื้อหากฎหมายจะดีขนาดไหนก็ตาม!!.

—————————-
ดาวประกายพรึก