คุณแหม่ม สะพานใหม่ สอบถามผ่านมาทางอีเมล์ สรุปใจความได้ว่าใช้รถโตโยต้า วีออส ปี 2007 ติดแก๊ส แอลพีจี เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา รถเริ่มมีอาการสั่นเวลาเหยียบเบรคในเกียร์ D แต่ก็ยังใช้รถปกติ ผ่านไป1 อาทิตย์ จากสั่นเบา ๆ นาน ๆ ที เริ่มถี่และแรงขึ้น จึงนำรถเข้าอู่ ช่างก็ทำการเปลี่ยนกรองแก๊ส-หัวเทียน อาการดีขึ้นแต่ยังมีสั่นอยู่บ้างจึงรับรถมาใช้ก่อน ผ่านไป 3 วัน อาการสั่นเริ่มมาเยือนหนักขึ้นจึงนำรถกลับไปอู่เดิม ช่างบอกว่าอาการน่าจะมาจากวาล์วยัน ต้องทิ้งรถไว้เพื่อปรับตั้งระยะใหม่ เมื่อไปรับรถอาการดีขึ้นแต่ก็ยังมีสั่นนิดหน่อย ผ่านไปอีก 2 วันอาการสั่นกับมาสาหัสอีกครั้ง รีบขับรถเข้าอู่ ช่างบอกว่าน่าจะเป็นที่คอยล์จุดระเบิด ราคาตัวละ 2 พันกว่าบาท จึงอยากสอบถามว่าอาการดังกล่าวเกิดจากคอยล์ เสียจริงหรือไม่เพราะเริ่มไม่มั่นใจในการวินิจฉัยอาการและซ่อมของช่าง

จากข้อมูลข้างต้นหากตรวจสอบระบบการจ่ายเชื้อเพลิงทั้งน้ำมัน-แก๊สแล้ว ปรับตั้งระยะห่างวาล์วแล้ว ก็เป็นไปได้สูงว่าอาการสั่นจะมาจากคอยล์จุดระเบิดเสีย แต่ก่อนจะฟันธงให้ลองตรวจเช็คด้วยวิธีง่าย ๆ ด้วยตัวเอง โดยการสตาร์ทเครื่อง แล้วดึงคอยล์ ขึ้นทีละตัว ตัวไหนดึงขึ้นแล้วยังเหมือนเดิมแสดงว่าเสีย แต่ตัวไหนดึงขึ้นแล้วสะดุดมากกว่าเดิมแสดงว่ายังปกติ ทั้งนี้ “รู้ก่อนเหยียบ”เคยนำเสนอเรื่องราวของคอยล์จุดระเบิดไว้แล้วครั้งหนึ่ง แต่เพื่อเป็นการทบทวนความจำจึงขอนำมาเสนอกันอีกครั้ง

คอยล์จุดระเบิด (ignition coil) ทำหน้าที่สร้างไฟแรงสูง โดยใช้หลักการเดียวกันกับหม้อแปลงไฟฟ้า โดยจะเพิ่มแรงเคลื่อนจาก 12 โวลต์ เป็นไฟแรงสูงถึง 18,000 – 40,000 โวลต์ ซึ่งแตกต่างกันไปในเครื่องยนต์เบนซินแต่ละรุ่น วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการกระโดดของกระแสไฟที่เขี้ยวหัวเทียน เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ให้เกิดการเผาไหม้

ภายในคอยล์จุดระเบิด ประกอบด้วย ขดลวด”ปฐมภูมิ”และ ขดลวด”ทุติยภูมิ” พันอยู่บนแกนเหล็กอ่อนเดียวกัน โดย ขดลวดปฐมภูมิ เป็นลวดทองแดงขนาดใหญ่ประมาณ 150-300 รอบ รับไฟแรงดันต่ำที่จ่ายมาจากแบตเตอรี่ ขณะที่ส่วนขดลวดทุติยภูมิ เป็นขดลวดไฟแรงสูง เพื่อที่จะจ่ายให้กับหัวเทียน พันด้วยลวดทองแดงขนาดเล็ก ประมาณ 20,000 รอบ

ประเภทของคอยล์จุดระเบิด
คอยล์จุดระเบิดแบบใช้จานจ่าย คอยล์ประเภทนี้จะอยู่ในเครื่องเบนซินในยุคเก่า ตัวคอยล์จะอยู่นอกจานจ่าย แต่ในยุคต่อมาผู้ผลิตได้นำคอยล์มาไว้ในตัวจานจ่าย การจ่ายไฟของคอยล์จะสัมพันธ์กับจังหวะการทำงานของเครื่องยนต์ โดยใช้สายหัวเทียนเป็นทางเดินกระแสไฟไปยังหัวเทียน

คอยล์จุดระเบิด แบบไดเร็ก เครื่องยนต์เบนซินเกือบทั้งหมดในปัจจุบันใช้คอยล์จุดระเบิดประเภทนี้ โดยจะมีเซนเซอร์ เช่นเดียวกับ คอยล์จุดระเบิด แบบกึ่งไดเร็ก ส่งสัญญาณไปยังกล่อง ECU ประมวลผลแล้วส่งสัญญาณมาควบคุมการจุดระเบิด ตัวคอยล์ยึดอยู่บนฝาวาวล์ต่อตรงไปยังหัวเทียนโดยไม่ต้องใช้สายหัวเทียน

เทคนิคควรรู้
คอยล์เสีย จะส่งผลให้ไฟไม่ออก เครื่องยนต์สะดุดเดินไม่เต็มสูบ ในเครื่องยนต์แบบ แบบไดเร็กคอยล์ ตรวจสอบได้โดยติดเครื่องยนต์แล้วใช้วิธี ยก คอยล์ ไล่ไปทีละสูบ ให้สังเกตว่ากำลังเครื่องจะตกลงไป หากสูบไหนกำลังไม่ตกแสดงว่าคอยล์จุดระเบิดสูบนั้นเสีย แต่หากเป็นเครื่องยนต์ แบบใช้จานจ่าย หากคอยล์เสีย ในลักษณะที่ไฟไม่ออกเลยจะไม่สามารถ ติดเครื่องยนต์ได้

คอยล์เสื่อม มีได้ 2 อย่าง
1.เนื้อพลาสติกที่ห่อหุ้มภายนอกหมดอายุ-เสื่อมสภาพ เบื้องต้นให้สังเกตุว่าคอยล์มีรอยแตกร้อยร้าวหรือไม่ จากนั้นใช้เทปพันสายไฟพันที่ ก้านของคอยล์แล้วขับทดสอบ ถ้าอาการดีขึ้นรถสะดุดน้อยลงแสดงว่าคอยล์รั่ว

2.อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในเสื่อม-เสียหาย ทั้งนี้การเสื่อมสภาพดังกล่าว ส่วนใหญ่ มากจากความร้อนของเครื่องยนต์ สามารถทดสอบได้จากระยะการกระโดดของกระแสไฟที่จะสั้นกว่าปกติ หรือในรถบางรุ่นกล่อง ECU สามารถตรวจสอบข้อผิดพบพลาดได้

อายุการใช้งานของคอยล์ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แม้คอยล์ยี่ห้อ รุ่น เดียวกันแต่อยู่ในรถคนละคัน อายุการใช้งานยังอาจไม่เท่ากัน โดยเหตุผลหลักที่เป็นตัวแปรที่ชัดเจนที่สุด คือความร้อนของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะรถที่ติสแก๊ส คอยล์จะเสื่อมเร็วเพราะ เครื่องร้อนกว่ารถที่ใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตามหากสามารถถ่ายเทความร้อนได้ในระดับปกติ อายุการใช้งานคอยล์ ก็จะยืนยาวขึ้นด้วย .

…………………………..
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ
โดย “ช่างเอก”

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://china-autopart.blogspot.com
-บริษัท มาสเตอร์ มอเตอร์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด / www.mmsboschcarservice.com