ในการพบปะกันเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียเริ่มต้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ปีนี้ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย กล่าวต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียว่า “ยุคปัจจุบันไม่ใช่ยุคแห่งสงคราม” นับเป็นจุดยืนชัดเจนที่สุดของรัฐบาลนิวเดลี ต่อความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ

ขณะที่ นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า การเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลนิวเดลี ที่แม้ว่าจะแตกต่างเพียงเล็กน้อย สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของความขัดแย้งและผลกระทบที่มีต่ออินเดีย รวมถึงความกังวลที่ว่า สงครามกำลังผลักดันรัสเซียให้ใกล้ชิดจีนมากขึ้น นอกจากนี้ อินเดียยังหวังว่า การแสดงจุดยืนอย่างมั่นคงยิ่งขึ้นจะเป็นตัวช่วยในการเผชิญกับการวิจารณ์จากพันธมิตรชาติตะวันตกที่กล่าวว่า รัฐบาลนิวเดลีใกล้ชิดกับรัฐบาลมอสโกมากเกินไป

India Today

ด้าน นายพี เอส รักฆาวาน ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติอินเดีย (เอ็นเอสเอบี) และอดีตเอกอัครราชทูตประจำรัสเซีย กล่าวว่า แม้จะมีการพยายามหาทางยุติการสู้รบในยูเครนมาโดยตลอด แต่ตอนนี้อินเดียแสดงจุดยืนสาธารณะที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการตอบโต้คำกล่าวที่ว่า อินเดียและจีนกำลังสนับสนุนรัสเซียเหมือนกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น บรรดานักวิเคราะห์กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า จุดยืนที่ชัดเจนขึ้นของอินเดียจะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์กับรัสเซีย แต่อาจลดลง เนื่องจากแรงขับเคลื่อนของอินเดียในการกระจายการนำเข้าทางทหาร และส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการพบกันระหว่าง นายสุพรหมณยัม ชัยศังกร รมว.การต่างประเทศอินเดีย กับนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.การต่างประเทศรัสเซีย ที่นครนิวยอร์ก ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ( ยูเอ็นจีเอ ) เมื่อเดือนที่แล้ว รัสเซีย กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเน้นย้ำถึง “ความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ทวิภาคี ในประเด็นทั้งหมดที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน”

ขณะที่ ชัยศังกร กล่าวว่า รัฐบาลนิวเดลีมีความมุ่งมั่นต่อการทูตและการเจรจา พร้อมกล่าวว่า อินเดียจะอยู่ฝั่งเดียวกับ “สันติภาพ” อย่างมั่นคง

อนึ่ง นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ถ้อยแถลงล่าสุดของอินเดียเป็นเรื่องที่ทำให้สหรัฐรู้สึกยินดี และไม่สร้างปฏิกิริยาเชิงลบใด ๆ จากรัสเซียด้วย นับเป็นความสมดุลทางการทูตที่ไม่ง่ายต่อการปะทะเสมอไป สำหรับรัฐบาลนิวเดลีที่มีความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์กับทั้งสองประเทศ

นายนันดาน อุนนิกฤษณัน จากคลังสมอง “ออบเซิร์ฟเวอร์ รีเสิร์ช ฟาวน์เดชั่น” ในกรุงนิวเดลี ให้ความเห็นว่า “ดูเหมือนกลุ่มเป้าหมายของอินเดียจะรับข้อความในเชิงบวก นั่นคือ รัฐบาลของชาติตะวันตก เช่นเดียวกับสาธารณชนทั่วไป สิ่งที่เรียกว่าเป้าหมายที่ชัดเจนของการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งก็คือรัสเซีย ยังเป็นอีกสิ่งที่ต้องจัดการอย่างใจเย็นเช่นกัน”

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์อีกจำนวนไม่น้อยแสดงทรรศนะด้วยว่า ความกังวลสำหรับรัฐบาลนิวเดลีคือ ถ้าปูตินถูกต้อนให้จนมุมมากขึ้น ขณะที่สงครามยังคงดำเนินต่อไป รัสเซียอาจจะขยับเข้าใกล้จีนยิ่งกว่าเดิม.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS