จัดว่าเป็นคนรุ่นใหม่ เลือดใหม่ไฟแรง (Young Blood) ที่ก้าวเข้าสู่ถนนทางการเมือง โดยมีโปรไฟล์เลิศ! อย่าง “อาจารย์อู๋” น.ส.จุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตบางรัก ในฐานะคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ผู้มีดีกรีเรียนจบระดับไฮสคูลในต่างประเทศ แถมยังเรียนจบจาก 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก คือ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย โดยมีประสบการณ์ทำงานที่แบงก์ชาติ 3 ปี เป็นอาจารย์ในคณะสังคมวิทยาลัยและมานุษย์วิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีก 3 ปี ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว!
คนรุ่นใหม่เห็นปัญหาไม่เท่าเทียม-เหลื่อมล้ำ!
น.ส.จุฑาพรบอกกับทีมข่าว “Special Report” ว่ามีลูกศิษย์ถามบ่อยๆ ว่า อาจารย์กลับมาเมืองไทยทำไม เมื่อมีโอกาสไปเรียนต่างประเทศ มีประสบการณ์ในต่างประเทศกว่า 10 ปี น่าจะใช้ชีวิตอยู่ที่โน่นไปเลย มาเดินหาเสียงตามชุมชนไปทำไม คือนักศึกษาหลายคนที่คุ้นๆ กันเขาไม่อยากอยู่เมืองไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เขาคิดแบบนี้ เพราะเพื่อนๆ ที่ไปเรียนต่างประเทศด้วยกัน จำนวนครึ่งหนึ่งก็ไม่กลับ เรียนจบแล้วใช้ชีวิตทำงาน มีครอบครัวในต่างประเทศ แต่อู๋บอกว่า อยากกลับมามีส่วนร่วมเพื่อทำให้ประเทศไทยดีขึ้น ประเทศนี้ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะปัจจุบันไม่ใช่แค่ย่ำอยู่กับที่ แต่มันถอยหลังด้วยซ้ำไป
คือคนรุ่นใหม่อายุ 18-28 ปี เขามองว่าปัญหาสังคมไทยปัจจุบันคือความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำทางฐานะ เขามองว่าผู้ใหญ่ไม่รับฟังเด็ก ขนาดครูยังเดินถือกรรไกรตัดผมนักเรียนที่ไว้ผมยาวอยู่เลย นี่คือการละเมิดสิทธิเด็กหรือเปล่า และไม่มีงานวิจัยที่ไหนบอกว่าเด็กไว้ผมสั้นแล้วจะเรียนดี จบออกไปแล้วหางานทำง่าย แต่ครูควรเอาเวลาถือกรรไกร หรือเอาเวลาที่ต้องเดินดูเล็บมือนักเรียน ไปพัฒนาตัวเองหรือเตรียมการเรียนการสอนให้มีคุณภาพไม่ดีกว่าหรือ อย่ามัวสอนแต่ทฤษฎี อย่าสอนแต่ให้เด็กท่องจำ แต่พอเจอข้อสอบแนววิเคราะห์เด็กไทยไปไม่เป็นเลย แถมยังอ่อนภาษาอังกฤษ ในภาพรวมอาจดีขึ้นบ้าง แต่ถือว่าเด็กไทยยังอ่อนภาษาอังกฤษอยู่
ส่วนระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย (TCAS) ยังสร้างปัญหาความวุ่ยวายให้เด็กมาก คือยิ่งปฏิรูปยิ่งเละ เพราะคนทำนโยบายไม่ได้ตอบโจทย์ให้พวกเขา เมื่อเรียนจบออกมาก็ตกงาน ตอนนี้บัณฑิตตกงานปีละกว่าแสนคน สะสมมากขึ้นทุกปี แต่ไปขาดแคลนแรงงานพวกช่าง รัฐบาลอ้างว่าคนไม่มีงานทำเพราะเรียนมาไม่ตรงกับสายงาน ทั้งที่จริงๆ แล้วรัฐบาลไม่ได้สร้างโอกาสและสร้างงานให้พวกเขา ทางออกของคนรุ่นใหม่จึงอยากไปแสวงหาโอกาส หาทำงานในต่างประเทศ แต่ไม่ได้ไปกันง่ายๆ ทุกคนหรอก
กลางเมืองกรุงยังแย่-ระบบการศึกษาไม่เท่าเทียม
น.ส.จุฑาพร กล่าวต่อไปว่าวันนี้ “ความเหลื่อมล้ำ” กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ผู้บริหารหลายคนไปดูงานต่างประเทศแล้วกลับมาบอกว่า จะทำนโยบาย “เรียนฟรี” คือพูดโดยไม่ได้ดูเลยว่าต่างประเทศเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เขาเก็บภาษีประชากรในอัตราเท่าไหร่ จึงมีงบประมาณให้คนเรียนฟรีได้ แต่เรียนฟรีของประเทศไทยไม่มีจริง เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองยังต้องเสียค่าใช้จ่ายหยุมหยิมไปหมด บางครอบครัวที่ไปเจอในชุมชนยังขาดแคลนชุดนักเรียน-รองเท้า ตามที่เราเห็นว่ามีความพยายามร้องขอว่าไม่ต้องใส่เครื่องแบบชุดนักเรียนทุกวันได้หรือไม่ ใส่เป็นบางวันไม่ได้หรือ โดยใส่ชุดนอกสลับกันบ้าง เพื่อไม่ให้สิ้นเปลือง ไม่เป็นภาระผู้ปกครองมากเหมือนในปัจจุบัน
ขนาดอยู่กลางเมืองหลวง ศูนย์กลางความเจริญของประเทศไทยแท้ๆ แต่ครูหลายโรงเรียนในเขตปทุมวัน ยังบ่นว่างบไม่พอ ตรงโน้นขาดแคลน ตรงนี้ยังไม่มี จึงทำให้ระบบการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน คนที่มีเงินจึงเอาลูกไปเรียนพิเศษ เอาลูกไปเข้าโรงเรียนนานาชาติ ในขณะที่คนจนตามชุมชน แค่ชุดนักเรียน ชุดลูกเสือยังไม่มีเลย เด็กบางคนเป็นนักกรีฑา เป็นนักบาสฯ เก่งๆ แต่ไม่มีรองเท้า ยิ่งมาเจอปัญหาโควิด-19 แพร่ระบาดช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เด็กต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน ต้องมาเรียนทางออนไลน์อยู่ที่บ้าน สุดท้ายต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก บ้างก็ติดยาเสพติด เด็กที่อยู่บ้านโดยไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่โรงเรียน จึงมีโอกาสมั่วสุมติดยาเสพติดได้ง่ายกว่าตอนไปโรงเรียน หรือบางกรณีได้รับฟังแล้วรู้สึกอึ้ง! ว่าเด็กเรียนจบแค่ ม.2 ก็เป็นเภสัชฯ แล้ว คือขายยาเสพติดอยู่ในชุมชนนั่นแหละ
ตีโจทย์ให้แตก! ทำไมคนไม่อยากมีลูก!
นอกเหนือจากปัญหาทางการศึกษา บัณฑิตตกงานเป็นจำนวนมาก และปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ยังมีอีก 1 ปัญหาที่คนในพรรคเพื่อไทยกำลังพูดถึงกัน คือปัญหาการลดจำนวนประชากรในประเทศ เพราะอัตราการเกิดน้อย คนไม่อยากแต่งงาน แต่งงานแล้วไม่ต้องการมีลูก ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจแบบนี้คนหนุ่มสาวไม่อยากมีลูกเพราะคิดว่าเป็นภาระใหญ่ ลำพังอยู่กันแค่สามีภรรยาก็เอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว เพราะรายได้ลด เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ถ้ามีลูกเพิ่มขึ้นมาอีก 1 คน ถือเป็นภาระใหญ่มาก
“โดยส่วนตัวมองว่า มาตรการสร้างแรงจูงใจอะไรต่างๆ เพื่อให้คนมีลูก หรือนโยบายเกลี้ยกล่อมให้มีลูกเพื่อชาติ ด้วยการให้สิทธิพิเศษต่างๆ มันจะไม่ได้ผลเลย ถ้ารัฐบาลหรือผู้นำประเทศไม่สามารถทำให้เขามั่นใจได้ว่า จะมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เขาเลี้ยงลุกได้ นั่นคิอการทำเศรษฐกิจให้ดี ให้คนมีงานทำ มีรายได้สูงขึ้นกว่าค่าครองชีพที่แพงขึ้นทุกอย่าง และสำคัญมากคือต้องทำให้สังคมนี้น่าอยู่ คุณภาพชีวิตต้องดีกว่านี้ แล้วเขาจะมีลูกกันเอง”
แต่เราต้องยอมรับความจริงว่าในอนาคตประชากรจะลดลงอยู่แล้ว เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำแค่ 1% กว่าๆ นั่นคือ 1% นั่นแหละ อีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยอาจจะเหลือประชากร 50 ล้านคน เราจะรับมือหรือเตรียมตัวอย่างไร สุดท้ายต้องใช้ AI ใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย จากที่เคยเกษียณการทำงานอายุ 60 ปี ก็ขยายเป็นเกษียณอายุ 65-70 ปี ต่อไปต้องห้ามพูดว่าคนแก่ หรือผู้สูงอายุ เพราะได้ยินแล้วไม่เพราะหู
แก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน!แล้วเรื่องอื่นจะง่าย!
เมื่อถามว่าปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา ถ้ามีโอกาสเสนอแนะ หรือมีอำนาจในการบริหารจะทำเรื่องไหนก่อน น.ส.จุฑาพร ตอบว่ารัฐบาลหน้าต้องแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจก่อนเป็นอันดับแรก คือทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีเงินเข้ามาในกระเป๋าตัวเองอย่างรวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ ไม่ต้องไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ต้องจ่ายดอกเบี้ยรายวันร้อยละ 10-20 เมื่อคนมีเงินในกระเป๋ามีกำลังซื้อ ก็จะไปซื้อชุดนักเรียน ซื้อรองเท้าให้ลูกได้
ส่วนคนระดับกลางขึ้นไปและนักธุรกิจ รัฐบาลต้องเร่งช่วยเหลือ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและบริการ ช่วงหลังจากโควิด-19 มาเยือนประเทศไทย พวกโรงแรมและธุรกิจบริการเจ๊งกันมาก รัฐควรรีบยื่นมือเข้าไปดูแลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินและแหล่งทุนให้เขา ไม่ใช่ปล่อยให้ล้ม ให้เจ๊งกันไปหมด แล้วค่อยมาตามแก้ปัญหาหนี้เสียกันในภายหลัง
“เมื่อเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น จำนวนบัณฑิตตกงานจะน้อยลงโดยอัตโนมัติ ความคิดที่อยากไปอยู่ต่างประเทศจะเบาบางลง (หัวเราะ) เมื่อเศรษฐกิจดี ประชาชนมีเงินในกระเป๋า รัฐบาลมีงบประมาณมากขึ้น ก็ไปแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา อันดับแรกต้องทำให้ครูมีคุณภาพก่อน แล้วไม่ใช่ประเภทจ้างครูแค่เงินเดือน 5,000-7,000 บาท เราจะเอาคุณภาพครูมาจากตรงไหน ถ้าให้ค่าตอบแทนเขาแค่นี้ น้อยกว่าค่าจ้างแรงงานต่างด้าวเสียอีก”
นอกจากนี้ควรปฏิรูปเรื่องการเรียนการสอน ภาษาอังกฤษเด็กไทยยังสู้เขาไม่ได้เราจะทำอย่างไร ต้องลดการเรียนในระบบท่องจำ แล้วไปเน้นการวิเคราะห์ให้มากขึ้น บางวิชาเช่นคณิตสาสตร์-ภาษาไทย-สังคม อาจเรียนแค่พื้นฐานก็พอ แต่ไปเน้นในเรื่อง “เฉพาะทาง” ที่แต่ละคนชอบ หรือการเรียนในสาขาอาชีพที่แต่ละคนถนัด ใครชอบวาดรูป-ดนตรี-ทำอาหาร-กีฬา ก็มุ่งในทางนั้นไปเลย เหมือนในอเมริกา
หลายคนบอกว่าการปฏิรูปการศึกษาต้องใช้เวลาหลายปี ถ้าเอาเรื่องการปฏิรูปการศึกษามาใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง อาจจะไม่โดนใจประชาชน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง ไม่เหมือนกับนโยบายเศรษฐกิจปากท้องจับต้องได้ง่ายและเร็วกว่า แต่ส่วนตัวมองว่าการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการศึกษาเพื่อให้ดีขึ้น ในบางจุดไม่ต้องใช้เวลา และสามารถเปลี่ยนแปลงได้เลยทันทีถ้าคิดจะทำ.