ในช่วง 4-5 ปีมานี้ ขณะที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งเดินเครื่องอภิมหาโครงการระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหรือ “อีอีซี.” เพื่อนบ้านเราหลายๆ ประเทศในแถบอาเซียนก็กำลังเดินหน้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่เช่นกันทำให้ประเทศตัวเองดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนหนึ่งในนั้นก็มีประเทศพม่าที่เร่งปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่และเร่งด่วน

รัฐบาลพม่า ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ด้วยการเปิดทางนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนใน 80 โครงการขนาดใหญ่ตั้งแต่แผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่เพิ่มขึ้นอีก 11แห่ง หากเป็นไปตามแผนเท่ากับเมียนมาจะมีนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเป็น 40 แห่ง และเตรียมขยายสนามบินอีก2แห่ง

นอกจากนี้ยังมีแผนปฏิรูประบบโลจิสติก ด้วยการพัฒนาท่าเรือ 2แห่ง โครงการสร้างทางด่วนเชื่อมเมืองชั้นในรองรับการขยายตัวในอีก 10 ปีข้างหน้า แผนทั้งหมดนี้เรียกว่า แผนพัฒนายั่งยืนแห่งเมียนมา เริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปี 2573 หรืออีก 11 ปีข้างหน้า

เดิมทีแผนนี้จะเป็นแผนแห่งชาติ แต่ไม่คืบหน้ากระทั่งล่าสุดรัฐบาลท้องถิ่นของย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่านำไปประกาศเป็นแผนการลงทุนเรียกว่า “ย่างกุ้งโปรเจ็กต์” เพื่อสานต่อ ประกอบกับย่างกุ้งเป็นศูนย์กลางสำคัญด้านเศรษฐกิจอยู่แล้วอยากรู้ในแผนมีอะไรบ้างแบบละเอียดยิบก็ลองไปหาซื้อมาอ่านดู

หากเมียนมาสามารถ “ทรานฟอร์ม” ได้ตามแผนที่วางไว้ เมืองหลวงอย่างย่างกุ้งก็จะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ และจะกลายเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียนทันที จุดแข็งของเมียนมาคือจำนวนประชากรและทรัพยากรมีมากพอในการพัฒนาประเทศประสบความสำเร็จได้

ความจริงเมียนมาถูกคาดหมายว่าจะเป็น “อรุณรุ่ง” ตั้งแต่รัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศมานานยอมปล่อยให้มีการเลือกตั้งหวังเปิดประตูประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่พอเอาเข้าจริงทหารกลับไม่ยอมปล่อยมือ ส่งผลให้การพัฒนาประเทศต้องล่าช้าออกไป

อย่างที่บอกเมียนมามีแรงงานคนหนุ่มคนสาวจำนวนมากและทรัพยากรที่ยังไม่นำมาใช้ยังมีอีกมากมาย หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลพม่าวางไว้ ประเทศไทยเองคงเป็นเสือลำบากเพราะมีคู่แข่งที่เป็นหอกข้างแคร่อยู่ใกล้ๆ บ้านที่จะคอยแย่งนักลงทุนต่างประเทศไปจากบ้านเรา

แต่ที่น่าห่วงจริงๆ ถ้าไม่เตรียมรับมือไว้เนิ่นๆ หากโครงการนี้ใกล้เป็นจริงเมื่อไหร่ประเทศไทยอาจจะเจอวิกฤติแรงงานในการพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ เพราะแรงงานเมียนมาที่มาขายแรงงานอยู่ในบ้านเราปัจจุบันหลายล้านคนจะหอบผ้าหอบผ่อนกลับไปพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของเขาหลังจากมาขายแรงงานบ้านเราได้ประสบการณ์ ได้องค์ความรู้ต่างๆ ไปมากมายก็จะไปพัฒนาบ้านเกิด

ถึงตอนนั้นหากจะมีคนเหลืออยู่บ้างก็จะเป็น “พวกชนกลุ่มน้อย” ที่อยู่ตามตะเข็บแนวชายแดนไทยเมียนมาเท่านั้น ยิ่งถ้าเศรษฐกิจบ้านเราซบเซานานๆ ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานเมียนมาไม่ได้อยู่แบบสะดวกสบายรายได้ดีเหมือนเมื่อก่อนที่เข้ามาทำงานในบ้านเราใหม่ๆ เมื่ออยู่ไปก็ไม่เห็นอนาคต แรงงานเหล่านี้อาจจะตัดสินใจกลับไปเสี่ยงดวงไปพัฒนาประเทศตัวเองดีกว่า

อย่าลืมว่าเศรษฐกิจบ้านเราที่เติบโตในรอบกว่ายี่สิบปีที่ผ่านมาก็เพราะแรงงานจากเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะแรงงานจากเมียนมาเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อน ถ้าไม่มีแรงงานเหล่านี้เศรษฐกิจไทยไม่รู้จะเป็นยังไงอาจจะแย่กว่านี้ก็เป็นได้

ลองคิดดูหากวันนั้นไม่มีแรงงานเมียนมาช่วยทำงานใน ร้านอาหารแล้วจะมีใครเป็นพ่อครัวทำกับข้าวให้ลูกค้าคนไทยทานหากไม่มีแรงงานหนุ่มสาวเมียนมาคอยบริการเหมือนก่อนใครจะมาบริการ ปั๊มน้ำมันต่างๆทั่วไประเทศหลายแห่งอาจต้องทิ้งร้างเพราะไม่มีแรงงานพม่าคอยเติมน้ำมันให้ โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจากเมียนมาอาจจะต้องลดกำลังการผลิตรายเล็กๆ ต้องปิดกิจการ เรือประมง แพปลาคงร้างไม่มีคนออกเรือ สาวๆ ที่ทำงานตามบ้านไม่มีอีกแล้ว เจ้าของบ้านต้องทำเอง

ไม่อยากนึกภาพถึงตอนนั้นเศรษฐกิจไทยคงปั่นป่วนวุ่นวายน่าดู กรุงเทพและเมืองใหญ่ๆ คงเงียบสนิท ทุกวันนี้ลำพังแค่แรงงานพม่ากลับบ้านยามเทศกาลสำคัญๆ กรุงเทพและเมืองเศรษฐกิจยังวังเวงอย่างบอกไม่ถูก อย่าได้ประมาทเชียวควรต้องเตรียมรับมือไว้เนิ่นๆ
…………………………………………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”