ถามกันเข้ามาเยอะสำหรับปัญหากวนใจ ในยามที่ต้องขับรถยามค่ำคืน เมื่อไฟหน้ารถยนต์ที่สวนทางหรือขับตามหลังมา แยงตาทำให้รำคาญและปั่นทอนทัศนะวิสัยการขับขี่จนบางครั้งถึงขั้นเกิดอุบัติเหตุแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าไฟหน้ารถยนต์ของเราสูงจนเกินไป จุดสังเกตง่าย ๆ หากเมื่อใดที่ขับรถสวนทางกับผู้อื่นแล้วถูกยกไฟสูงใส่ อยู่เสมอ ๆ นั้นถือเป็นคำเตือนว่าไฟหน้ารถของท่านสูงจนแยงตาเพื่อนร่วมทาง ทั้งนี้ “รู้ก่อนเหยียบ” จึงขอนำเสนอวิธี การปรับตั้งไฟหน้ารถยนต์ให้ได้มาตรฐาน มาฝากกัน
 

วิธีการปรับตั้งไฟส่องสว่างหน้ารถยนต์
 -จอดรถในพื้นที่ราบหันหน้ารถเข้าหากำแพง หรือฝาบ้าน แล้วเข็นรถเข้าหากำแพงให้ใกล้ที่สุด
 -วาดเส้นแนวตั้งบนกำแพงตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างไฟหน้าด้านซ้าย และขวา ซึ่งอาจใช้เทปกาวแทนติดก็ได้
 -เลื่อนรถถอยหลังไป 25 ฟุตหรือ7.62 เมตร-ใช้ตลับเมตรวัดระยะความสูงระหว่างพื้นถึงกึ่งกลางโคมไฟหน้า (แทนค่าระยะด้วย A)
 -วัดระยะกึ่งกลางระหว่างไฟหน้าไปยังตำแหน่งกึ่งกลางโคมไฟหน้า (แทนค่าระยะด้วย B)
-วาดเส้นยาวแนวนอนตัดกับเส้นกึ่งกลางระหว่างไฟหน้าหรือใช้เทปกาวแทนติดแทนบนกำแพง โดยที่เส้นดังกล่าวต้องมีระดับต่ำกว่าระยะ A 2 นิ้ว
-วาดเส้นแนวตั้งหรือใช้เทปกาวแทนติดบนกำแพงให้ตัดกับเส้นแนวนอนตามระยะ B
-เปิดไฟหน้า ปรับตั้งทีละข้างโดยใช้กระดาษทึบแสงหรือผ้าห่มคลุมโคมไฟหน้าอีกข้างไว้
-ใช้ไขควงปรับตั้งให้จุดรวมแสงสว่างตรงกับจุดตัดบนกำแพง
 

เหตุใดต้องปรับตั้งไฟหน้ารถยนต์ใหม่

-เมื่อโหลดเตี้ยหรือยกสูง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับไฟหน้ารถผิดเพี้ยนไปจากเดิม
-เมื่อเปลี่ยนโคมไฟหน้าใหม่
-นอกจากนี้ควรตรวจสอบทุกครั้งที่เปลี่ยนหลอดไฟหน้าใหม่
 
สำหรับหลอดไฟหน้าหรือไฟใหญ่ (Head Lamp) นั้นมีหน้าที่ให้แสงสว่างด้านหน้ารถยนต์ โดยหลอดไฟที่มีใช้อยู่ทั่วไปในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามลักษณะการทำงาน ได้แก่
 
1.หลอดความร้อน (Incandescent Bulb) ทำงานโดยปล่อยให้กระแสไฟไปยังไส้หลอด ซึ่งทำจากลวดทังสเตน โดยปกติ ภายในหลอดชนิดนี้จะเป็นสูญญากาศ เพื่อป้องกันการเผาไหม้จนเกิดความร้อนสูงเกินควบคุมหรืออาจบรรจุก๊าชเฉื่อย เช่น ก๊าซอาร์กอน ไว้เพื่อช่วยลดคราบเขม่าที่เกิดจากโลหะทังสเตนมาจับผิวด้านใน
 
2.หลอดฮาโลเจน (Halogen Bulb) คือ หลอดที่ไฟถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้มีความสามารถในการรักษาความสว่างเอาไว้ได้ จนหมดอายุการใช้งาน ภายในบรรจุด้วยก๊าซฮาโลเจนเพื่อให้เกิดวงจรฮาโลเจน (Halogen Cycle) แต่อนุภาคไฟฟ้าที่รวมตัวกันนี้ เป็นสารกึ่งโปร่งแสงจึงสว่างน้อยมาก การทำให้เกิดวงจรฮาโลเจนนี้จะต้องรักษาอุณหภูมิของหลอดแก้วให้คงที่ประมาณ 250 องศาเซลเซียส จึงจำเป็นต้องใช้แก้วชนิดพิเศษในการผลิตหลอดแบบนี้
 
3.หลอด HID หรือที่รู้จักกันในนามของหลอด “ซีนอน” (Xenon) ภายในบรรจุก๊าซนีออน ทำให้เกิดแสงสว่างได้ด้วยการผ่านกระแสไฟแรงสูง จากอุปกรณ์ช่วยในการเพิ่มกระแสไฟ 12 โวลท์ให้สูงขึ้นไป ถึง 20,000-25,000 โวลท์ ไปยังขั้วของตัวนำที่ทำจากโลหะทังสเตน ซึ่งจะทำให้เกิดการกระโดดของอิเล็คตรอนระหว่างขั้วของตัวนำคล้ายๆ กับการสปาร์คไฟที่เขี้ยวหัวเทียน อิเล็คตรอนนี้จะทำปฏิกิริยากับก๊าซซีนอนที่ถูกบรรจุอยู่ภายในหลอดแก้วทำให้เกิดแสง

4.หลอด LED  หรือไดโอดชนิดเปล่งแสง มีจุดเด่นคือสามารถกำเนิดแสงในรูปแบบให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านสารกึ่งตัวนำ ต่างจากหลอดไส้ที่ใช้การกำเนิดความร้อนเพื่อกระตุ้นก๊าซในหลอด หรืการเผาไหม้ไส้ทังสเตนเพื่อให้เกิดแสงสว่าง ดังนั้น หลอดLEDจึงมีขนาดที่เล็กกว่าหลอดไฟชนิดอื่นแต่สามารถให้ความสว่างที่มากกว่า แถมอายุการใช้งานยาวนานกว่าเนื่องจากความร้อนต่ำ

…………………………………..
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ
โดย “ช่างเอก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]
 
ขอบคุณข้อมูลจาก -บริษัท มาสเตอร์ มอเตอร์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด / www.mmsboschcarservice.com