เป็นที่ชัดเจน!! กับการดัดหลังบรรดาเศรษฐีที่ดินเมืองกรุง ที่แปลงร่างที่ดินว่างเปล่า เป็นสวนกล้วย สวนมะนาว สวนมะม่วง และอีกสารพัดพืชเกษตร เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เรียกง่าย ๆ จะทำอย่างไร? ก็ได้ เพื่อให้การเสียภาษีที่ดินฯ ครั้งนี้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้ เราๆ ท่านๆ จะได้เห็นสวนพืชเกษตรเหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างดาษดื่น ทั่วเมืองกรุงและเขตปริมณฑล

ก่อนหน้านี้ กทม.ตั้งข้อสังเกตถึงที่ดินใจกลางเมืองที่ปล่อยทิ้งร้างเป็นที่ว่างเปล่ากันเยอะแยะมากมาย แต่พอมีการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ออกมาบังคับใช้

ปรากฏว่า เจ้าของที่ดินเหล่านั้นก็หันมาทำแปลงปลูกมะนาว หรือกล้วย เพื่อให้ที่ดินของตนเองเข้านิยามที่ดินเพื่อการเกษตร ซึ่งมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่าที่ดินที่ปล่อยรกร้างว่างเปล่า

Lime Trees for Sale - Buying & Growing Guide - Trees.com

หากเป็นที่ดินเพื่อการเกษตร จะมีอัตราภาษีอยู่ที่ระดับ 0.01-01.% และมีเพดานสูงสุดที่ 1.5% ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า กรณีมูลค่าที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียในอัตรา 0.3% หากมากกว่า 50 ล้านบาท ถึง 200 ล้านบาท เก็บในอัตรา 0.4% เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้…กทม.จึงขอหารือมาที่กระทรวงการคลัง ถึงข้อปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ โดยเฉพาะการเพิ่มอัตราภาษีตามเพดานที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้…ทั้งนั้น!! ก็เพื่อความเป็นธรรม ทำให้ถูกต้อง ลดความเหลื่อมล้ำ และยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับ กทม. หรือท้องถิ่นทั่วประเทศ และยังเป็นการลดการจัดสรรเงินงบประมาณให้กับท้องถิ่นอีกต่างหาก

ล่าสุด กระทรวงการคลัง รวมถึงตัว “ขุนคลัง-อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ได้ยืนยันชัดเจนว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ให้เต็มเพดาน ถือเป็นอำนาจหน้าที่ ที่ กทม.สามารถพิจารณาดำเนินการได้เองอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องหารือกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ กทม.ยังสามารถออกข้อบัญญัติเก็บภาษีได้เอง โดยไม่ต้องขอคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด เหมือนกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.อื่น เพราะกฎหมายได้ยกเว้นให้

นั่น!! หมายความว่า ก็ต้องขึ้นอยู่กับ กทม.เอง ว่าจะกำหนดการจัดเก็บภาษีอย่างไร?

อย่างแนวทางก่อนหน้านี้…ที่ กทม.เองต้องการใช้ระบบ “โซนนิ่ง” เข้ามาเป็นแนวทางในการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ก็ยังมีความเห็นรวมถึงความกังวลที่ยังไม่ลงตัว หรือลงเอยที่ชัดเจน

ตามข้อเท็จจริงแล้ว ในพื้นที่ กทม.บางพื้นที่ ก็ยังมีชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตร อย่าง มีนบุรี หนองจอก หรือตลิ่งชัน ที่หากใครขับรถผ่าน หรือมีโอกาสเดินทางผ่านย่านนั้น บริเวณนั้น ก็จะพบแปลงผัก แปลงพืชเกษตร อยู่จำนวนไม่น้อย เช่นกัน

ขณะเดียวกัน!! ในพื้นที่เหล่านั้น ก็จะเห็นบรรดาเจ้าของที่ดินจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่ได้แปลงพื้นที่ว่างเปล่า ให้เป็นสวนกล้วย สวนมะนาว

ในแง่ของคนกำหนดตัวบทกฎหมาย ก็ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่ต้องบังคับใช้เหมือนกันทั่วประเทศ ไม่สามารถออกมาแบบเฉพาะเจาะจงให้ใช้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

อย่างกรณีของ หลักเกณฑ์ที่กำหนดว่าที่ดินแปลงใดเข้านิยามการเป็น “ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” หากเข้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่เท่าเทียมกัน

ต่อให้มีการตั้งคำถามกันจำนวนมากว่า ที่ดินบางแปลงมูลค่าสูง ไม่คุ้มต่อการทำการเกษตร ก็ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าของที่ดิน เพราะบางคนอาจยังไม่มีเงินไปพัฒนา ก็เป็นไปได้

มีกระแสข่าวว่า กทม.ได้ยกร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มอัตราภาษีที่ดินประเภทเกษตรกรรมให้มีการจัดเก็บสูงสุดตามเพดานภาษี อยู่ที่ 0.15% หรือล้านละ 1,500 บาท หากนำที่ดินเปล่าในโซนผังเมือง ที่ไม่ใช่ผังเมืองสีเขียว แต่นำมาใช้ประโยชน์ประกอบการเกษตร

ไม่ว่าจะเป็นผังเมืองสีแดง หรือที่ดินประเภทพาณิชยกรรม ผังเมืองสีม่วง หรือที่ดินประเภทอุตสาหกรรม หรือผังเมืองสีเม็ดมะปราง หรือที่ดินประเภทคลังสินค้า

เอาเป็นว่า ที่บอกชัดเจน ก็คือ… บรรดาเจ้าของที่ดินในเขตผังเมืองสีแดง สีม่วง และสีเม็ดมะปราง ก็ต้องเสียภาษีเต็มอัตราแน่ ๆ

ที่ชัดเจนอีกอย่าง!! ก็คือ… ในเมื่อความชัดเจน!! ยังไม่ชัดเจน สุดท้ายปีนี้เจ้าของที่ดิน ก็ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ เพราะกว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้น เชื่อเถอะกว่าจะได้ใช้ก็ปีหน้าโน่น…

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”