สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านนะคะ ช่วงก่อนหน้านี้คุณยาย OK มีภาระกิจหลายอย่างจนคิวแน่นมาก ๆ ซึ่งทำให้ห่างหายผู้อ่านราว ๆ 2 สัปดาห์เห็นจะได้ ครั้งนี้ก็ไม่พลาดที่จะสรรหาข้อมูลดี ๆ มาฝากกันด้วย เพื่อเตรียมรับมือกับการวางแผนชีวิตก่อนวัยเกษียณ อย่างน้อยเราก็จะได้อุ่นใจและพร้อมที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

วันนี้คุณยายจะพาไปรู้จัก “นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ” ที่งานจัดแสดงสินค้า “Intercare Asia 2019” ณ ไบเทคบางนา กรุงเทพฯ ซึ่งจัดขึ้นไปแล้วในระหว่างวันที่ 11-13 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเท่าที่คุณยายไปเดินสำรวจนั้นบอกเลยว่าข้าวของเครื่องใช้น่าสนใจหลายอย่าง ทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เครื่องฟื้นฟูสุขภาพ รวมไปจนถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

แต่ก่อนที่จะทราบว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง รู้หรือไม่ว่า ??? โครงสร้างประชากรของไทยเราจะเปลี่ยนแปลงไปมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คาดว่าในปี 2574 ไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด คือ มีผู้สูงอายุมากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ นับเป็นความท้าทายอย่างมากของรัฐบาลที่จะบริหารประเทศในห่วงเวลานั้น เอาล่ะเราไปรู้จักเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุกันดีกว่า

1.เครื่องช่วยพยุงตัวนั่งชักโครก สำหรับโถสุขภัณฑ์

ต้องบอกว่านี่เป็นนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ห้องน้ำ มันคืออุปกรณ์ช่วยพยุงสำหรับนั่งชักโครก ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อช่วยผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง หรือผู้ที่ลุกนั่งลำบาก ตัวอุปกรณ์จะนำไปติดตั้งกับชักโครกที่ใช้กันทั่วไปในห้องน้ำตามบ้านโดยไม่ต้องขุดเจาะอะไรเลย โดยเจ้าเครื่องนี้จะช่วยดันสะโพกผู้ป่วยขึ้นลงทั้งก่อนและหลังใช้ชักโครก ทำให้ลดแรงในการลุกนั่งได้ ปรับองศาการเอียงของฝารองนั่งได้ รองรับน้ำหนักมากถึง 150 กก. และยังสามารถลดงานของผู้ดูแลได้อีกด้วย

2.อุปกรณ์ช่วยเดิน รถเข็นหัดเดิน

อุปกรณ์นี้จะช่วยปรับลักษณะการเดิน และช่วยฝึกควบคุมการทรงตัว รวมไปถึงส่วนของกระดูกเชิงกรานในผู้ที่มีความผิดปกติด้านการเดินให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งมีทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ รองรับน้ำหนักได้มากถึง 110 กก.

3.เมาส์ไร้สายเพื่อผู้พิการ

เทคโนโลยีนี้ตอบโจทย์ผู้พิการในยุค 4.0 มาก ๆ รวมถึงผู้สูงอายุบางท่าน แม้อายุมากขึ้นแต่ก็ยังขยันทำงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในหลังวัยเกษียณ โดยอุปกรณ์นี้เป็นเมาส์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้มือสัมผัส ทำลายกำแพงของการสื่อสาร ซึ่งจะช่วยให้คนที่ไม่สามารถใช้เมาส์แบบธรรมดานั้น ได้ใช้คอมพิวเตอร์อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น หรือเรียกได้ว่า “เมาส์เพื่อผู้พิการ” เพียงแค่ติดตั้งเมาส์ไว้ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย 2 ขั้นตอน เสียบตัวรับสัญญาณเข้ากับอุปกรณ์ที่จะใช้งาน และติดตั้งเมาส์เข้ากับตำแหน่งที่ต้องการ เพียงเท่านี้ก็พร้อมใช้งานแล้วขยับร่างกายส่วนนั้น เคอร์เซอร์เมาส์ในหน้าจอก็จะขยับตามการเคลื่อนที่นั้นทันที

4.เตียงตื่นตัว (เตียง JOEY หรือโจอี้)

เป็นผลงานของนักวัยจัยชาวไทย ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยเตียงโจอี้จะช่วยผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่พักฟื้นหลังผ่าตัดให้สามารถลุก นั่ง ยืน เข้านอนได้ด้วยตัวเองอย่างปลอดภัย ซึ่งยังช่วยลดความกลัวการพลัดตกหกล้ม เพราะจะไปเสริมสร้างความมั่นใจและภาคภูมิใจที่พึ่งพาตนเอง

5.แผ่นรองพื้นเสริมฝ่าเท้าแก้ไขเท้าแบน

เป็นแผ่นรองเสริมฝ่าเท้าแบบยาวเต็มรูปเท้า สั่งทำเฉพาะจึงมีคู่เดียวในโลกที่เป็นของเรา โดยถูกออกแบบเพื่อเปลี่ยนทดแทนพื้นรองเท้าที่ติดมากับรองเท้ากีฬา หรือรองเท้าผ้าใบ ผลิตด้วยเครื่องจักรไฟฟ้า เพราะบางท่านมีปัญหาเท้าแบน ดังนั้นแผ่นรองเสริมฝ่าเท้านี้ก็จะไปช่วยบรรเทาอาการปวดส้นเท้า เข่า และหลัง ช่วยปรับองศาการเดินหรือวิ่งสำหรับผู้ที่เท้าบิดเอียง และยังช่วยจัดแนวอุ้งเท้า กระดูก เอ็นร้อยหวายให้อยู่ในแนวสมดุล ซึ่งตัวแผ่นรองนี้มีชั้นโฟมยางสังเคราะห์คืนรูปอัตโนมัติ และมีความหนา 6 มม. จึงให้ความนุ่มที่มีอัตราการยุบตัวต่ำ

6.วีลแชร์ยืนได้

เรียกว่าเป็นการพัฒนาวีลแชร์จากเดิมที่ผู้ป่วยต้องนั่ง เปลี่ยนเป็นยืนได้ สำหรับใช้ทำกายภาพบำบัดเพื่อให้การใช้ชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น นับว่าเป็นการยืนเพื่อลดปัญหาทางสุขภาพ อาทิ กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงมากขึ้น ป้องกันโรคกระดูกพรุน รวมไปถึงช่วยในเรื่องระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น ได้ขยับร่างกายมากขึ้นสุขภาพจิตของผู้ป่วยก็ดีขึ้น และยังลดแรงกดทับที่จะทำให้เกิดแผล หรือแม้แต่ยืนเพื่อทำกิจวัตรประจำวันอย่างทำกับข้าว หยิบของจากตู้เย็น ทำงานได้ใกล้เคียงกับคนปกติ หยิบของจากชั้นวางสูง ๆ หรือยืนกด ATM

7.เยลลี่สำหรับผู้สูงอายุและผู้มีปัญหาการกลืน

ตัวเยลลี่มีสารสกัดจากใบแปะก๊วย ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเซลล์สมองดีขึ้น มีแคลเซียม โอเมก้า 3 ช่วยลดไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ และมีพรีไบโอติกไฟเบอร์ ช่วยกระตุ้นให้การขับถ่ายเป็นปกติ เสริมสร้างแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ ลักษณะเป็นเยลลี่ที่มีเนื้อนุ่ม ลื่น กลื่นง่าย เพียงใช้ลิ้นดุนให้แตกโดยไม่ทำให้สำลัก เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งคอ/หลอดอาหาร เจ็บภายในช่องปาก หรือผ่านการให้คีโมและฉายรังสี และผู้ที่บาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง.
……………………………….
คอลัมน์ : แก่ไม่กลัว กลัวไม่แก่
โดย “คุณยาย OK”