ก่อนหน้านี้หลายคนมักจะตั้งคำถามกับการคัดกรองผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ของประเทศไทยว่า “ทำไมประเทศไทยถึงมีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนน้อย มีการตรวจที่ไม่ทั่วถึงหรือไม่” ท่ามกลางจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเกาหลีใต้ และในทวีปยุโรป จนเกิดการเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่พบในประเทศไทยว่ามีความผิดปกติหรือไม่
 
แต่พอถึงตอนนี้การตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อแบบไทย กลับมีประสิทธิภาพมากกว่านั่นคือ ใช้เงินน้อย และพบผู้ติดเชื้อครบถ้วน ไม่เหมือนเกาหลีใต้ที่มีการตรวจเป็นจำนวนมาก ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง แต่ยังสู้ประเทศไทยไม่ได้ ทั้งที่เป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวจากเมืองอู่ฮั่นเดินทางมามากที่สุดก่อนที่จะมีการปิดเมืองในวันที่ 23 มกราคม โดยเฉพาะการปกปิดจำนวนผู้ป่วย การคัดกรองที่ไม่รัดกุมที่สนามบิน รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่น้อยกว่าประเทศอื่น และการขาดนโยบายเชิงรุก เช่น การค้นหาและติดตามผู้สัมผัส
 
แท้จริงแล้วกระทรวงสาธารณสุขได้มีการวางแนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่ระดับพื้นที่ อำเภอ จังหวัด เขต และส่วนกลาง โดยมีการกำหนดเกณฑ์การออกสอบสวนเพื่อควบคุมการระบาดตามขีดความสามารถของทีมสอบสวนโรค การเฝ้าระวังดำเนินการในสถานที่ 3 แห่ง ได้แก่ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สถานพยาบาล และในชุนชน โดยมีนิยามผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 7 เม.ย. 63)

กรณีที่ 1 การเฝ้าระวังที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.3 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือ อาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือ หายใจลำบาก ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงมีประวัติเดินทางต่างประเทศทุกเที่ยวบิน ทุกช่องทางระหว่างประเทศ
 
กรณีที่ 2 การเฝ้าระวังในผู้สงสัยติดเชื้อ/ผู้ป่วย
2.1 ผู้สงสัยติดเชื้อที่มีอาการ ดังต่อไปนี้ อุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือประวัติมีไข้ ร่วมกับอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบากหรือ ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ร่วมกับการมีประวัติในช่วงเวลา 14 วันก่อนวันเริ่มป่วย อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

1.มีประวัติเดินทางไปยัง หรือ มาจาก หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

2.ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด หรือติดต่อกับคนจานวนมาก

3.ไปในสถานที่ชุมนุมชน หรือ สถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล หรือ ขนส่งสาธารณะ

4.สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

2.2 ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ร่วมกับข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
1.หาสาเหตุไม่ได้หรือ รักษาแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง

2.มีอาการรุนแรง หรือ เสียชีวิตโดยหาสาเหตุไม่ได้

3.ภาพถ่ายรังสีปอดเข้าได้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
 
กรณีที่ 3 การเฝ้าระวังในบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข อุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือ มีไข้ หรืออาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบากหรือ ปอดอักเสบ ร่วมกับปัจจัยเสี่ยง ผู้ป่วยทุกรายที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย/ผู้สงสัยว่าป่วยฯ

กรณีที่ 4 การเฝ้าระวังการป่วยเป็นกลุ่มก้อน
 
หลังจากการตรวจวินิจฉัยแล้ว หากพบเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จะกลายเป็น “ผู้ป่วยยืนยัน” ทันที ทั้งโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วย และห้องปฏิบัติการที่ตรวจพบเชื้อจะรายงานเข้ามาที่กลุ่มภารกิจด้านตระหนักรู้สถานการณ์ (SAT: Situation awareness team) ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรคตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จากนั้น SAT จะแจ้งต่อมายังกลุ่มภารกิจด้านปฏิบัติการ (Operation) เพื่อออกสอบสวนโรคภายใน 12 ชั่วโมง โดยการจะมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ 1. ยืนยันการวินิจฉัยโรค 2. ค้นหาแหล่งโรค และผู้สัมผัส และ 3. ออกมาตรการควบคุมและป้องกันโรค

ดังนั้น ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการซักประวัติอย่างละเอียด โดยเฉพาะประวัติการเดินทางตั้งแต่ก่อนมีอาการ 14 วัน (ค้นหาแหล่งโรค) และตั้งแต่มีอาการจนกระทั่งได้รับการรักษาในห้องแยกโรคในโรงพยาบาล (ค้นหาผู้สัมผัส) หลังจากนั้นจะทำการ ค้นหาผู้ที่ทำกิจกรรมร่วมหรือสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม 1.ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง หมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสสูงในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วย และ 2.ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ หมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสต่ำในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วย
 
โดยจะจัดการกับผู้สัมผัสกับผู้ป่วย คือ ให้มีการกักตัว 14 วัน นับจากวันที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยันวันสุดท้าย หากพบว่า มีไข้ให้แจ้งทีมสอบสวนโรคทันที กักกันตนเองอย่างเคร่งครัด ไม่ควรเดินทางออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ให้ป้องกันตนเองและผู้ใกล้ชิด โดยหมั่นล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และใช้หน้ากากอนามัย และทีมสอบสวนโรค โทรศัพท์สอบถามอาการทุกวัน

นอกจากนี้อีกหนึ่งกลไขสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งในการค้นหากลุ่มเสี่ยงเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง ได้อย่างรวดเร็วและทำให้สถานการณ์ดีขึ้น นั่นก็คือ “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” หรือ “อสม.” ที่มีจำนวนกว่า 1.2 ล้านคนทั่วประเทศ โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นด่านหน้า ออกเคาะประตูบ้านแล้วเกือบ 12 ล้านหลังคาเรือน ให้ความรู้ ย้ำความสำคัญมาตรการการเว้นระยะห่าง รวมทั้งค้นหากลุ่มเสี่ยงนำเข้าระบบการรักษาอีก 2,266 คน

ซึ่งทำให้งานควบคุมและป้องกันโรคในระดับชุมชนมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก อสม.เป็นผู้ที่เข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ความเคลื่อนไหว ในระดับครัวเรือนได้เป็นอย่างดี ทำให้การคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเพื่อเข้าสู่ระบบรักษารวดเร็ว เป็นผลงานระดับโลกที่องค์การอนามัยโลกกล่าวชื่นชม นับเป็นพลังฮีโร่เงียบสู้โรคโควิด-19 เป็นตัวอย่างให้กับหลายประเทศเป็นแนวทางในการควบคุมโรคได้อีกด้วย
 
จะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้ มีมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ด้านสาธาณสุขค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการให้ประชาชนหยุดอยู่บ้าน การสนับสนุนให้มีการ work from home ตรงนี้ลดการพบปะของประชาชน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปได้มาก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครที่มีความหนาแน่นของประชากรค่อนข้างมาก รวมถึงการ ปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้ออีกด้วย

นอกจากนี้ก็ยังมี บุคลากรทางการแพทย์ ที่พร้อมต่อสู้กับโรคร้ายในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ หรือแม้กระทั่งชุมชน เจ้าหน้าฝ่ายต่างๆ ก็พร้อมที่จะดูแลในส่วนนี้ พร้อมทั้ง เกณฑ์การตรวจที่มีความผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้านี้ ไม่มีงบประมานในการสนับสนุนการตรวจ แต่ในระยะหลังได้มีการ ปลดล็อคให้สามารถเบิกงบค่าใช้จ่าย กับทางสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติได้ นอกจากนี้ยังมีการคิดค้นวิจัย รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยให้การตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ง่ายขึ้นอีกด้วย.
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ : กระทรวงสาธารณสุข