เครื่องประดับแฮนด์เมดประเภทโบติดผม ที่คาดผม มีอยู่หลากหลายรูปแบบในท้องตลาด และยังคงเป็นสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของผู้ผลิตได้เป็นอย่างดี แต่ที่สำคัญผู้ที่ทำออกมาขายจะต้องมีไอเดียออกแบบให้ชิ้นงานมีสไตล์มีจุดเด่นเพื่อเป็นจุดขาย อย่าง “จ๋า-สุธาทิพย์ เพียรการนา” ที่นำวัสดุผ้ามาสร้างสรรค์ทำเป็นชิ้นงานประเภท “โบติดผมแฮนด์เมด” ที่ออกแบบทำชิ้นงานออกมาสวยน่ารักโดนใจกลุ่มลูกค้า…ซึ่งวันนี้คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอให้พิจารณากัน…

จ๋า-สุธาทิพย์ เจ้าของผู้ที่ออกแบบทำโบติดผมแฮนด์เมดขายภายใต้ แบรนด์ “Khanchong” เล่าว่า..ก่อนที่จะมายึดทำสินค้างานฝีมืองานแฮนด์เมดประเภทโบติดผม ที่คาดผม และกิ๊บติดผม นั้นก็ทำงานประจำเป็นพนักงานอยู่ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แต่มีความฝันที่อยากจะเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าประเภทเครื่องประดับเสริมความสวยงามที่ตัวเองเป็นผู้ออกแบบ เพราะเป็นคนที่ชอบทำงานฝีมืองานประดิษฐ์อยู่แล้ว มักจะดูแบบจากอินเทอร์เน็ตแล้วลองนำมาฝึกทำตามอยู่เรื่อย ๆ เพราะที่บ้านมีจักรเย็บผ้า และเครื่องไม้เครื่องมืออยู่แล้วเนื่อง จากคุณแม่เคยมีอาชีพเป็นช่างเย็บผ้ามากก่อน โดยชิ้นงานที่ออกแบบทำออกมานั้นจะเน้นความสวยงามมีเอกลักษณ์ ที่สำคัญต้องใช้งานได้กับผู้หญิงทุกคน

โดยการทำชิ้นงานออกมานั้นจะช่วยกันทำกับแม่ โดยเราจะซื้อผ้าแก้วมาให้แม่เย็บทำโบริบบิ้น แล้วเราก็นำโบริบบิ้นที่แม่ทำมาออกแบบ ตกแต่งอุปกรณ์เพิ่มเติมให้มีความสวยงามมากขึ้นด้วยการติดตกแต่งประดับมุกเข้าไป เสร็จแล้วก็จะนำโบริบบิ้นที่ตกแต่งเสร็จแล้วมาทำเป็นสินค้าประเภทต่าง ๆ อาทิเช่น กิ๊บติดผม ที่คาดผม ยางมัดผม เป็นต้น ช่องทางการขายก็จะใช้วิธีการขายผ่านทางออนไลน์ โดยจะถ่ายรูปนำไปโพสต์ขายทางอินสตาแกรม ซึ่งหลังจากที่โพสต์ลงขายก็ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี หลังจากนั้นก็เลยตัดสินใจออกจากงานประจำมายึดอาชีพทำโบติดผมแฮนด์เมดขายอย่างจริงจัง มาจนถึงปัจจุบันก็ 2 ปีแล้ว

“ชิ้นงานที่ทำเป็นงานแฮนด์เมดทำมือ จึงเน้นความประณีตในการทำทุกขั้นตอน เพื่อให้ชิ้นงานออกมามีคุณภาพ ส่วนวัตถุดิบก็เลือกใช้ที่มีคุณภาพ การออกแบบทำชิ้นงานก็จะเน้นให้มีความแตกต่างจากคนอื่น โดยจะออกแบบทำชิ้นงานดูใหญ่อลังการ แต่มีน้ำหนักเบา สามารถใช้งานได้จริง ลูกค้าที่นำไปใช้ใส่แล้วจะดูโดดเด่นสวย ที่สำคัญขายราคาไม่แพง” เจ้าของชิ้นงานบอกถึงจุดเด่นของชิ้นงานโบติดผมแฮนด์เมดที่ทำให้ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ทำงานแฮนด์เมดประเภทนี้ ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 30% จากราคา ซึ่งราคาขายมีตั้งแต่ 29-900 บาท ราคาขายขึ้นกับรูปแบบ และประเภทของชิ้นงาน …ซึ่งสินค้าของทางร้านมีอยู่หลากหลาย อาทิ โบติดผม, ที่คาดผม, กิ๊บหนีบผม, กิ๊บก้านกล้วย นี่เป็นสินค้าหลักของทางร้านที่ทำขาย นอกจากนั้นก็ยังมีสินค้าที่ทำออกมาขายตามกระแส หรือทำตามที่ลูกค้าสั่งทำอีก เช่น หน้ากากอนามัยผ้า, หมวก, กระเป๋าผ้า เป็นต้น

วัสดุอุปกรณ์ ที่จำเป็น ประกอบด้วย…ผ้าประเภทต่าง ๆ (ผ้าแก้ว, ผ้าลูกไม้, ผ้าตาข่ายปักลาย), จักรเย็บผ้า (จักรโพ้ง), เข็ม, ด้าย, ปืนกาว, กรรไกร, เอ็น, มุก (สำหรับใช้ตกแต่งชิ้นงาน) นอกจากนั้นก็เป็นพวกอะไหล่สำหรับใช้ทำชิ้นงานแต่ละประเภท อาทิ กิ๊บ ที่คาดผม ยางรัดผม

ขั้นตอนการทำ…โบติดผมแฮนด์เมด

เริ่มจากการออกแบบชิ้นงานที่ต้องการจะทำก่อน อาจจะใช้วิธีการดูรูปแบบจากในอินเทอร์เน็ตแล้วนำมาเป็นแนวทางในการออกแบบให้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองก็ได้ หลังจากที่ได้แบบแล้วก็นำผ้ามาตัดให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ เสร็จแล้วก็นำมาทำเป็นโบ นำผ้าลูกไม้ ผ้าตาข่ายปักลาย มาตัดให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ และนำไปเย็บติดกับตัวโบให้แน่นหนา

หลังจากที่ได้โบที่เย็บตกแต่งติดผ้าลูกไม้ ผ้าตาข่ายปักลายมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการตกแต่งเพิ่มความสวยงาม โดยนำมุกมาร้อยเรียง และตกแต่งใส่ลงไปบนโบนั้น ทำการเย็บติดให้เรียบร้อย จากนั้นก็นำไปติดใส่กิ๊บติดผมใช้ปืนยิงกาวยึดให้แน่นหนา เสร็จแล้วก็ตรวจเช็กความเรียบร้อยอีกครั้ง เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำโบติดผมแฮนด์เมดพร้อมขายได้ทันที

“งานแฮนด์เมดประเภทนี้เป็นงานฝีมือที่ทำไม่ยาก หากไม่มีพื้นฐานการทำงานฝีมือมาก่อนก็สามารถฝึกหัดทำได้ เพียงแค่มีใจรัก มีความพยายามความอดทนฝึกหัดทำบ่อย ๆ ก็จะเกิดความชำนาญ และการทำงานฝีมือประเภทงานผ้าต้องใช้ความละเอียดประณีตเพื่อให้งานออกมามีคุณภาพ ที่สำคัญต้องคิดออกแบบสร้างสรรค์ทำชิ้นงานให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และพยายามพัฒนาออกแบบทำชิ้นงานใหม่ ๆ ออกมาให้มีความหลากหลาย” เจ้าของชิ้นงานกล่าว

สนใจชิ้นงาน “โบติดผมแฮนด์เมด” และสินค้างานผ้าประเภทอื่น ๆ ของ จ๋า-สุธาทิพย์ สามารถไปชมสินค้าและสั่งซื้อได้ทางเฟซบุ๊ก : Khanchong โบว์ติดผม Handmade และทาง อินสตาแกรม : khanchong_jah และทาง ไลน์ ID : @jahh ชิ้นงานเครื่องประดับแฮนด์เมดประเภทโบติดผมที่นำวัสดุผ้ามาทำยังสามารถใช้เป็น “ช่องทางทำกิน” ได้เสมอ.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน