“ปัจจุบันกระแสหนังกลางแปลงดีมากครับ ต้องขอบคุณผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เข้ามาช่วยปลุกกระแสหนังกลางแปลง ผ่านกิจกรรมกรุงเทพกลางแปลง ซึ่งมีการฉายหนังกลางแปลงตลอดเดือนก.ค.65 ทั้งที่ลานคนเมือง คลองเตย และสวนรถไฟ ช่วงนี้จึงมีคนโทรฯมาหาทุกวันว่าอยากให้เอาหนังกลางแปลงไปฉายตามต่างจังหวัด ไกลถึงจ.ปัตตานีก็มี แล้วยังมีคนโทรฯมาถามว่าหนังเรื่องคู่กรรมจะฉายที่หัวลำโพงเมื่อไหร่ เขาจะนั่งรถไฟเข้ามาดูกัน”
เจ้าพ่อหนังกลางแปลง “ตุ๊ก” นิมิตร สัตยากุล นายกสมาคมหนังกลางแปลง เอ่ยปากบอกกับทีมข่าว “Special Report” ว่าเพิ่งรู้ว่าการรถไฟฯ ไม่สะดวกที่จะให้ใช้พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพงสำหรับฉายหนังเรื่อง “คู่กรรม” ในวันที่ 17 ก.ค.นี้ ทั้งที่เขาเตรียมล้างเครื่องฉายหนังที่เป็นฟิล์มไว้แล้ว หลังจากไม่ได้ฉายหนังที่เป็นฟิล์มมาเป็น 10 ปี พอรู้ว่ามีโอกาสที่จะนำกลับมาใช้งานอีกครั้ง จึงต้องใช้เวลาล้างเครื่องฉายกันเป็นวันๆ และเตรียมขนใส่รถบรรทุกสิบล้อจากเมืองกาญจน์เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อมาฉายเรื่องคู่กรรม แต่เมื่อฉายที่หัวลำโพงไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คาดว่าทีมงานผู้ว่าฯกรุงเทพฯคงหาสถานที่ฉายให้ใหม่
“หนังกลางแปลง”กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
เจ้าพ่อหนังกลางแปลงเล่าต่อไปว่า เขารับมรดกหนังกลางแปลงมาจากรุ่นพ่อ ภายใต้ชื่อ “ขุนแผนภาพยนตร์กาญจนบุรี” โดยมีหนังกลางแปลงอยู่ 3 หน่วย (จอ) แต่ละหน่วยจะใช้ทีมงานประมาณ 10 คน นอกจากทำหนังกลางแปลงแล้ว เขายังเป็นผู้จำหน่ายลิขสิทธิ์หนังกลางแปลง ทั้งหนังไทย-จีน-ฝรั่ง มีทั้งหนังที่ยังเป็นฟิล์มย้อนยุคและดิจิทัลนับพันๆเรื่อง ซึ่งทำมากว่า 20 ปี
สำหรับขนาดของจอหนังกลางแปลง มีตั้งแต่จอขนาด 4 เมตร 6 เมตร 8 เมตร คือจะเพิ่มขนาดขึ้นไปครั้งละ 2 เมตร ไปจนถึงจอใหญ่มาตรฐาน 20 เมตร ที่นำมาฉายในสวนรถไฟ กรุงเทพฯ 3 วัน คือ 14-16 ก.ค.65 หรือจะเป็นจอใหญ่ขนาด 30 เมตร ก็มี
โดยปกติช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ทีมงานขุนแผนภาพยนตร์กาญจนบุรีจะตระเวนฉายหนังกลางแปลงในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม เป็นหลัก แต่ถ้ามีใครจ้างก็ไปฉายได้หมดทั่วประเทศ เพราะไปฉายมาแล้วทั่วประเทศ ข้ามน้ำ ข้ามทะเลที่เกาะสมุยก็เคยไป ไกลถึงจ.ยะลาก็เคยมีงาน หรืออาจจะใช้บริการหนังกลางแปลงที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯกว่า 600 หน่วย กระจายอยู่ทั่วประเทศ
ภาพรวมช่วงก่อนโควิดระบาด ถือว่าธุรกิจหนังกลางแปลงพอไปได้ เนื่องจากยังมีงานแก้บน งานวัด งานบวช งานทำบุญกระดูก อย่างน้อยต้องมีงานให้ลูกน้องทำทุกวัน แต่เมื่อมีโควิด-19 รัฐบาลสั่งห้ามจัดงาน ไม่ให้มีมหรสพ หนังกลางแปลงก็ฉายไม่ได้ จึงลำบากกันไปหมด ลูกน้องต้องไปทำงานรับจ้างตัดอ้อย หรือไปรับจ้างอื่นๆ ซึ่งตรงนี้เราไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเลย
“ผมไปอยู่อเมริกามา 3 เดือน ช่วงโควิดระบาดหนัก หนังในโรงฉายไม่ได้ เขาก็ออกมาฉายหนังกลางแปลง เพื่อให้ผู้คนได้ผ่อนคลายกัน ส่วนบ้านเราก็เห็นแล้วว่าเวลามีหนังกลางแปลง ช่วยให้คนมีงานทำ ช่วยให้มีการค้าขาย กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น เพราะมีการจับจ่ายใช้สอย มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และเป็นการฉายหนังในพื้นที่เปิด ความเสี่ยงจึงมีน้อย ดังนั้นเมื่อผู้ว่าฯชัชชาติมาปลุกกระแสกรุงเทพกลางแปลง ซึ่งคนต่างจังหวัดเขาก็เฝ้าดูอยู่ว่าเมื่อกรุงเทพฯฉายหนังกลางแปลงได้ ต่างจังหวัดก็น่าจะฉายได้แล้ว”
“หนังแก้บน” หลายแห่งฉายเกือบทุกคืน!
เมื่อถามว่าที่ไหนมีการจ้างหนังกลางแปลงไปฉายมากที่สุด จังหวัดไหนผู้คนยังชอบดูหนังกลางแปลงมากที่สุด? นายกสมาคมหนังกลางแปลงกล่าวว่าเท่าที่ทราบส่วนใหญ่จะเป็นประเภทหนังแก้บน เช่น ที่ศาลเจ้าแม่งูจงอาง ถนนพระราม 2 มีหนังแก้บนฉายกันเกือบทุกวัน แต่อาจจะเป็นจอขนาดเล็ก เพราะสถานที่คับแคบ
รวมทั้งที่วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม มีหนังกลางแปลงฉายเกือบทุกวันเหมือนกัน และที่คำชะโนด จ.อุดรธานี ตำนาน “ผีจ้างหนัง” ก็มีหนังแก้บนฉายเกือบทุกคืน แต่อาจจะไม่ค่อยมีคนดู เพราะสถานที่ฉายอยู่ไกลจากชุมชน
ส่วนในต่างจังหวัดที่หนังกลางแปลงยังได้รับความนิยมสูง คือแถวๆ จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ซึ่งแถวๆนั้นใครต้องรู้จัก “นันทวันภาพยนตร์” ดังมาก! เรียกว่าพื้นที่ 3 จังหวัดนี้ หนังกลางแปลงยังรับงานได้ราคาอยู่ ประมาณงานละ 4-5 หมื่นบาท โดยช่วงเย็นไปถึง 3 ทุ่ม เปิดเป็นเธคก่อน หลังจากนั้นจึงฉายหนัง 5 เรื่อง ไปจนสว่างคาตา
“แต่หนังกลางแปลงในย่านพื้นที่ภาคกลาง ฉายไม่เกินคืนละ 2 เรื่อง เลิกฉายไม่เกินตี 1 แต่หนังกลางแปลงในภาคกลางจะแข่งขันกันในเรื่องของเครื่องเสียง เจ้าภาพชอบประเภทเครื่องเสียงดังๆ และหนักแน่น ตรงนี้จึงลงทุนเรื่องเครื่องเสียงค่อนข้างสูงไม่ต่ำกว่า 4.5 ล้านบาท/หน่วย ไหนจะลงทุนในเรื่องรถบรรทุก สรุปแล้วหนังกลางแปลงแต่ละหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 7 ล้านบาท ค่ารับงานตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไป ถ้าไม่มีโควิด ธุรกิจหนังกลางแปลงยังพอไปได้ ยังมีงานตลอดไม่ว่าจะใกล้หรือไกล” เจ้าพ่อหนังกลางแปลง กล่าว