งานฝีมือประเภท “การปักผ้า” เป็นลวดลายต่าง ๆ เป็นเทคนิคที่สามารถนำไปต่อยอดปักลงบนชิ้นงานได้หลากหลาย นอกจากจะเป็นการสร้างจุดเด่นให้ชิ้นงานมีความน่าสนใจมากขึ้นแล้วยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงานอีกด้วย อย่าง “เนตร-เนตรนภา เงินประเสริฐ” ที่นำเทคนิคการปักผ้ามาใช้ปักลงบน “หมวก”ป็นการผสมผสานงานฝีมือกับงานศิลปะ และมีไอเดียสร้างสรรค์ออกแบบปักลวดลายให้ออกมามีความน่ารักโดนใจลูกค้า…ซึ่งวันนี้ทีมคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอให้พิจารณา

เนตร-เนตรนภา เงินประเสริฐ ผู้สร้างสรรค์ทำชิ้นงาน “หมวกปักลาย” เล่าว่าก่อนหน้าที่จะมาทำชิ้นงานหมวกปักลายขายนั้นก็ทำงานประจำเป็นวิศวกรอยู่ที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง จนมีอยู่ช่วงหนึ่งอยากมีรายได้เสริมจากงานประจำ และด้วยความที่เป็นคนที่ชอบงานฝีมืออยู่แล้ว ก็มาเห็นว่าน้องสาวมีอุปกรณ์ปักผ้าอยู่จึงมีความคิดที่จะทำงานปักลงบนชิ้นงานขายดู จากนั้นก็เริ่มเรียนรู้ศึกษาวิธีการทำตามกลุ่มที่ลงไว้ในเฟซบุ๊ก และก็ศึกษาจากยูทูบ หลังจากที่ศึกษาวิธีการทำมาได้ระยะหนึ่งก็เริ่มจากซื้อหมวกสำเร็จมาลองปักดูลองผิดลองถูกอยู่ไม่นานก็สามารถทำชิ้นงานออกมาได้อย่างที่ต้องการ และก็เริ่มนำชิ้นงานที่ทำไปขายให้พี่ ๆ ที่ทำงานก่อน จากนั้นก็เริ่มเปิดเพจขายทางออนไลน์ พอดีบวกกับช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ทำหน้ากากผ้าฝ้ายปักลายออกมาขายซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ยิ่งทำให้มั่นใจว่าชิ้นงานฝีมือการปักลายลงบนชิ้นงานที่ทำสามารถขายได้ และสร้างรายได้จริง ๆ ตอนแรกก็ทำควบคู่กับงานประจำมา พอทำมาเกือบปี ถึงจุดหนึ่งที่เริ่มอิ่มตัวกับการทำงานประจำ จึงตัดสินใจลาออก และมาทำงานปักมือขายอย่างจริงจัง

“งานหมวกปักลายเป็นงานแฮนด์เมดทำมือจะเน้นในเรื่องของความละเอียดประณีต เพื่อให้ลายที่ปักสวยงามมีคุณภาพ งานจะทำขึ้นชิ้นต่อชิ้นด้วยการปักมือ ทำให้ถึงแม้จะปักลายเดิมแต่ลายก็จะไม่เหมือนกัน ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะได้ชิ้นงานที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกไม่ซํ้าใครแน่นอน นอกจากนั้นยังรับปักลายตามที่ลูกค้าต้องการอีกด้วย และที่ทำให้ลูกค้าประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือ แพ็กเกจจิ้งทางร้านจะแพ็กใส่กล่องกระดาษและห่ออย่างดี พร้อมติดการ์ดและประดับด้วยดอกไม้แห้งที่ทำเองไปด้วยแทนคำขอบคุณสำหรับลูกค้าทุกคน” เนตรบอกถึงจุดเด่นของชิ้นงาน รวมถึงวิธีการสร้างความประทับใจให้ลูกค้า ที่ทำให้สินค้าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 บาทส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 40% จากราคา ซึ่งราคาขายมีตั้งแต่ 99-1,000 บาทขึ้นไปต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบรายละเอียด ความยากง่ายของลวดลายที่ปักลงบนหมวก สินค้าของทางร้านนอกจากมีหมวกปักลายแล้ว ยังมีสินค้าที่เป็นงานปักผ้าประเภทอื่น ๆ อีก อาทิ หน้ากากผ้าฝ้าย, ถุงผ้า, กระเป๋าผ้า, ที่
คาดผม, ผ้าโพกผม เป็นต้น วัสดุอุปกรณ์ ที่ใช้หลัก ๆ ประกอบด้วย หมวก (รูปแบบและทรงต่าง ๆ), ไหมสำหรับงานปัก, กรรไกร, เข็มปักผ้า, สะดึง เป็นต้น

ขั้นตอนการทำ…หมวกปักลาย

เริ่มจากพูดคุยรายละเอียดกับลูกค้าก่อนว่าลูกค้าต้องการหมวกรูปทรงอะไร และต้องการปักลายอะไรลงบนหมวก หลังจากที่ทำการสรุปรายละเอียดกับลูกค้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มาเริ่มทำการร่างแบบตามที่ลูกค้าต้องการ โดยใช้ปากกาที่ลบด้วยความร้อนทำการร่างแบบลงบนหมวกตามตำแหน่งที่ต้องการ

หลังจากที่ทำการร่างแบบที่ต้องการลงบนหมวกเสร็จแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการปัก โดยเลือกสีของไหมปักตามที่ต้องการจากนั้นก็เริ่มลงมือทำการปักลายตามแบบได้เลย ซึ่งขั้นตอนการปักต้องใช้ความประณีตเพราะฉะนั้นหมวก 1 ใบ อาจใช้เวลาประมาณ 3-10 ชั่วโมง หรือบางใบอาจต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของลายที่ปัก หลังจากที่ทำการปักลายตามแบบเสร็จเรียบร้อยดีแล้วก็ให้ใช้ไดร์เป่าลมร้อนทำการลบรอยปากกาที่ร่างแบบออก เสร็จแล้วก็ทำการตรวจเช็กความเรียบร้อยเก็บรายละเอียดให้เรียบร้อยอีกครั้ง เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำเตรียมแพ็กจัดส่งให้ลูกค้าได้ทันที

“ใครที่สนใจการทำชิ้นงานฝีมือประเภทงานปัก แต่ไม่มีทักษะไม่มีพื้นฐานด้านการปักมาก่อนก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเรียนรู้ สามารถฝึกหัดทำได้ไม่ยาก พยายามฝึกฝนบ่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดความชำนาญขึ้นมาเอง ที่สำคัญขอแค่มีไอเดียใหม่ ๆ มาสร้างสรรค์ทำชิ้นงานใหม่ ๆ ออกมาให้มีเอกลักษณ์ ก็ไม่ยากที่จะได้รับความสนใจจากลูกค้า” เจ้าของชิ้นงานแนะนำสำหรับคนที่สนใจทำชิ้นงานประเภทนี้

สำหรับผู้ที่สนใจ “หมวกปักลาย” ของ เนตร-เนตรนภา สามารถเข้าชมชิ้นงานหรือสั่งออร์เดอร์ได้ทางเฟซบุ๊ก : Handcraft by nn หรือทางอินสตาแกรม : pakpha_by_nn

ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งงานฝีมือ ที่นำเทคนิคการปักผ้าผสมผสานงานศิลปะ มาต่อยอดสร้างสรรค์ลงบนชิ้นงานที่นอกจากจะเป็นการเพิ่มความสวยงามน่าสนใจให้ชิ้นงานแล้วยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงานได้เป็นอย่างดีที่สามารถนำมาใช้เป็น “ช่องทางทำกิน” ได้อย่างน่าสนใจ…

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน