ผ่านมาแล้ว 2 เวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) จัดโดยคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์การรวมธุรกิจ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสชท.) เพื่อเก็บข้อมูลจากหลายภาคส่วนให้รอบด้านมากที่สุด เกี่ยวกับกรณีศึกษาข้อดี ข้อเสีย คำแนะนำต่างๆ และทางออกในการควบรวมกิจการของค่ายโทรศัพท์มือถือ “ทรู-ดีแทค”
โดยการจัดประชุมรับฟังความเห็นวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา มีการเชิญผู้ที่มีส่วนได้เสียในด้านคุ้มครองผู้บริโภค โดย กสทช. ประสานไปยังผู้ขอควบรวมกิจการคือ ทรู และ ดีแทค เพื่อขอความร่วมมือในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ แต่ผู้ขอควบรวมปฏิเสธที่จะเข้าร่วม ให้เหตุผลว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นโฟกัส กรุ๊ปนี้ ไม่มีความเป็นกลาง อย่างไรก็ดี การเปิดรับฟังความคิดเห็นยังคงดำเนินต่อไป
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หนึ่งในนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ได้แสดงความเห็นต่อกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง“ทรู-ดีแทค” ในเวที Focus Group เวทีที่ 2 ซึ่งเป็นรอบผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ว่าตนมีความเป็นห่วงต่อการขอควบรวมธุรกิจที่ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของ 2 บริษัท ทั้งที่กระบวนการยังต้องผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพราะในระบอบเสรีที่มีการแข่งขันจะไม่ปล่อยให้เกิดการควบรวมกันอย่างเสรี การควบรวมจำเป็นต้องมีการกลั่นกรองจากหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างเข้มข้น
โดยวิธีการในการกลั่นกรองที่เป็นมาตรฐาน คือต้องการมีการเปรียบเทียบประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภคกับความเสี่ยงต่อสังคม เช่น เสี่ยงมาก ห้ามควบรวม หรือให้ควบรวมแบบมีเงื่อนไข หรือหากพบว่าการควบรวมมีประโยชน์ก็จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลที่ตัดสินใจอนุญาตให้ควบรวมต่อสังคม
ทั้งนี้ หลักในการกลั่นกรองการอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่อนุญาตจะดูตามการกระจุกตัวของตลาดจากดัชนีคือ ดัชนีการ กระจุกตัว หรือ Herfindahl-Hirschman Index : HHI ซึ่งมีค่าตั้งแต่ 0 สูงสุด 10,000 วัด เช่น หากหลังการควบรวมพบว่า HHI สูงกว่า 1,500 เท่ากับเสี่ยงปานกลาง สูงกว่า 2,500 เสี่ยงมาก สำหรับสาเหตุที่ต้องเป็นห่วงเรื่องการกระจุกตัวของดัชนี HHI เนื่องจากหากตลาดมีการกระจุกตัวจะเกิดปัญหาอย่างมาก ตัวหลายตัวแปรทางเศรษฐกิจ ทั้งเพิ่มอำนาจผูกขาดผู้ให้บริการ ลดการใช้ไอซีที ลดระดับการสร้างนวัตกรรม และลดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
สำหรับตลาดโทรคมนาคมไทยพบว่า ระดับการกระจุกตัวของดัชนี HHI สูงมาก โดยปัจจุบันอยู่ที่ 3,700 ขณะที่หากการควบรวมสำเร็จดัชนีจะกระจุกต้วเพิ่มเป็น 5,016 จะทำให้เห็นว่าไทยมีการผูกขาดในตลาดสูงมากอยู่แล้ว
ยกกรณีต่างประเทศห้ามรวมธุรกิจ
ดร.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่าสำหรับกรณีศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่าเมื่อปี 2011 นั้น AT&T เข้าซื้อ T-Mobile โดยอ้างว่าคลื่นความถี่ไม่เพียงพอ แต่สุดท้ายหน่วยงานกำกับดูแลไม่อนุญาตเพราะกลัวการผูกขาด ซึ่งในขณะนี้ก่อนที่มีการขอเข้าควบรวมกันดัชนี HHI อยู่ที่ 2,873 ซึ่งน้อยกว่าไทยในปัจจุบัน ยังถูกห้ามไม่ให้ควบรวม ต่อมาในปี 2020 T-Mobile ควบรวมกับ Sprint ซึ่งครั้งนี้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการรวมธุรกิจ แต่หน่วยงานกำกับดูแลบังคับให้ Sprint ขายบริษัทลูกและให้ขายคลื่นความถี่ ถูกให้วางโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุม 97% ของผู้ใช้ กรณีนี้ HHI เดิมอยู่ที่ 2,875 หลังควบรวมเพิ่มขึ้น 467
มาถึงตลาดไทย HHI ตั้งต้นอยู่ที่ 3,700 ซึ่งมากกว่ากรณีศึกษาที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นเทียบได้ว่าหากเกิดการควบรวมของทรูและดีแทคจะเกิดอันตรายต่ออุตสาหกรรมและเสี่ยงต่อการกระจุกตัวอย่างสูงมาก กสทช.ต้องกลั่นกรองอย่างเข้มงวด และผู้ขอควบรวมมีภาระการพิสูจน์ว่าการควบรวมของตนมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคจริงไม่ใช่การกล่าวอ้างและไม่มีความเสี่ยงต่อการผูกขาดตลาดด้วย แต่ตนไม่ได้เห็นข้อพิสูจน์เหล่านั้นจากรายงานที่ปรึกษาทางการเงินที่ประกอบมาเลย ตรงกันข้ามมีเหตุน่าสงสัยว่า การควบรวมจะมีผลประกอบการคือกำไรของบริษัทที่ขอควบรวม
หุ้นเด้งรับข่าวดีผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์
ผลการสะท้อนที่นักลงทุนเข้าไปซื้อหุ้นของทรูและดีแทคใน 1 วัน หลังจากที่มีการประกาศการเข้าควบรวมกิจการ ซึ่งราคามีการก้าวกระโดดอย่างมาก ซึ่งตรงนี้ทำให้เห็นว่าเรื่องดังกล่างกลับจะเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นของ 2 บริษัท รวมถึงค่าย “เอไอเอส” ก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย เนื่องจากผู้เล่นในตลาดโทรศัพท์มือที่ลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย
อีกทั้ง จากรายงานข้อเสนอของที่ปรึกษาทางการเงิน ยังแสดงให้เห็นว่าไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อผู้บริโภคมีการอ้างประโยชน์แต่ไม่ได้พูดถึงทางเลือกอื่นๆ ที่อาจจะเกิดประโยชน์หากไม่มีการควบรวมและไม่ได้พิสูจน์เลยว่าจะขจัดความเสี่ยงที่มีต่อผู้บริโภคอย่างไร ประเด็นข้อกล่างอ้างเรื่องประโยชน์หากมีการควบรวมส่วนตัวมองว่าเป็นประเด็นที่อ่อนมากๆ เช่น จะให้บริการ Cross Sale ให้แก่ลูกค้าของ 2 บริษัทได้แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ปกติในการแข่งขันทางธุรกิจไม่ต้องเอาการควบรวมมาอ้าง เรื่องการลดต้นทุนการให้บริการ มีหลายวิธีที่ดำเนินการได้ซึ่ง กสทช.มีส่วนร่วมได้ ผ่านการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (อินฟราฯ แชร์ริ่ง) หรือจะเป็นการโรมมิ่งสัญญาณระหว่างกันก็ได้ไม่ต้องควบรวมธุรกิจ
ห้ามควบรวบควรเป็นคำตอบของ “กสทช.“
ทั้งนี้ ข้อเสนอต่อการควบรวม “ทรู-ดีแทค” ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคตามลำดับ 3 แนวทาง ได้แก่
แนวทางที่ 1 ไม่อนุญาตให้ควบรวม และหากดีแทคจะออกจากประเทศไทยก็ให้ขายกิจการให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ไม่ใช่เอไอเอส และทรู ซึ่งแนวทางนี้ตนเห็นควรว่าคือคำตอบของ กสทช. คือไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวม
แนวทางที่ 2 อนุญาตให้ควบรวมฯ แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดมากและต้องเข้มข้นในทุกๆมิติให้ ที่สำคัญคือบริษัทที่ควบรวมกัน คืนคลื่นมาบางส่วนแล้วนำมาจัดสรรใหม่ เพื่อให้มีผู้ประกอบการ 3 ราย ในตลาดโทรศัพท์มือถือ แต่ต้องยอมรับว่าทางเลือกนี้ไม่ดีเท่าทางเลือกที่ 1
แนวทางที่ 3 อนุญาตให้ควบรวมกันได้ และส่งเสริมให้การผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน (MVNO) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายฯของตัวเอง แต่ทางเลือกนี้ ไม่ใช่ข้อเสนอที่เหมาะสมนัก เพราะ MVNO ไม่ได้เกิดง่าย และการดูแลจะยากมาก ดังนั้นจึงต้องป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด เพราะหากปล่อยให้มีการผูกขาดแล้วไปแก้ไขในภายหลังจะยากมาก