เริ่มกันด้วยกรณีกระทรวงสาธารณสุขส่งสัญญาณเตรียมการสำหรับ “เปิดประเทศเต็มรูปแบบ” หลังจากก่อนหน้านี้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ ให้มีการตรวจ RT-PCR เพียงครั้งเดียวไม่ต้องกักตัว ซึ่งคาดว่าจะมีการเสนอให้เปิดประเทศเร็วที่สุด และอาจเร็วกว่าแผนเดิมที่เคยกำหนดไว้ประมาณวันที่ 1 ก.ค. 2565
แต่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศที่ยังต้องลุ้นระทึก ภายหลังเทศกาลสงกรานต์ที่เริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทะลุ 2 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตทะลุหลักร้อยคนติดต่อกันหลายวัน นอกจากนั้นกระทรวงสาธารณสุขเคยมีการคาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังเทศกาลสงกรานต์ หากสถานการณ์เลวร้ายอาจจะมีผู้ติดเชื้อถึง 1 แสนคน ดังนั้นการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในเร็ววัน ถือเป็นโจทย์ที่ประชาชนอดกังวลใจกันไม่ได้จริงๆ
ก็คงจะต้องลุ้นระทึกกันต่อไป ว่าโจทยการเปิดประเทศเต็มรูปแบบของรัฐบาล จะพาประเทศไทยก้าวพ้นวิกฤติโควิด-วิกฤติเศรษฐกิจ ตามที่รัฐบาลวาดฝันไว้ หรือจะกลายเป็นการผลักประเทศไทยให้จมปลักวิกฤติไปยิ่งกว่าเดิม
ขณะที่การเมืองก็ยังเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิด จากการส่งสัญญาณของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ประกาศกลางที่ประชุม ครม.ปักหมุดอยู่คบเทอม จนถึงวันที่ 23 มี.ค. 2566 ตามวาระ พร้อมกับการหอบหนี้ก้อนโตตามไปด้วย โดยมีการยอมรับว่าอยู่ระหว่างหารือฝ่ายเกี่ยวข้องถึงความจำเป็นในการกู้เงินเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับการขยับเพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% เป็นไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี ที่มีการเตรียมการไว้ก่อนหน้านี้
ถึงแม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกู้เงินเพื่อใช้แก้วิกฤติของประเทศนั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงคือความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดในการใช้งบประมาณจากเงินกู้ เพราะเงินส่วนนี้จะเป็นภาระหนี้ที่ประชาชนต้องแบกรับในอนาคต ที่สำคัญการกู้เงินครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เต็มกรอบเพดานหนี้สาธารณะ 70% ของจีดีพี
ดังนั้นควรจะถูกใช้ให้ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพมากกว่าจะถูกถลุงไปกับโครงการประชานิยมเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดแล้วว่าไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น!
ตามมาด้วยเรื่องร้อนจากดราม่าคนใกล้ชิด “บิ๊กตู่” ไล่มาตั้งแต่กรณี “แรมโบ้อีสาน” เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่ลาออกจากตำแหน่งเซ่นปมคลิปเสียงโควตาสลาก ซึ่งเบื้องลึกเบื้องหลังเรื่องนี้แว่วข่าวมาว่าเป็นผลมาจากแรงบีบของ “เสธ.ตึกไทยคู่ฟ้า” เพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ให้ลุกลามมาถึงตัว “บิ๊กตู่” แต่ “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” ตามมาติดๆ ด้วยดราม่าร้อนของ จุรีพร สินธุไพร ข้าราชการการเมืองประจำสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่มีประเด็นเรื่องรับสิ่งของเป็นรองเท้าแบรนด์เนมหรูชื่อดัง มูลค่าเกิน 3,000 บาทตามที่กฎหมาย ป.ป.ช. กำหนด จนสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตัดไฟตั้งแต่ต้นลมตาม “แรมโบ้อีสาน” ไปอีกคน
ขณะที่เรื่องร้องของพรรคร่วมรัฐบาลก็คงหนีไม่พ้น พรรคประชาธิปัตย์ จากกรณี “ปริญญ์เอฟเฟกต์” ปมฉาวที่ถูกจุดประเด็นจากพฤติกรรมของ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไปๆมาๆกลายเป็นปมลุกลามบานปลายไปสู่ความขัดแย้งภายในพรรคจากเรื่องฉาวคาวโลกีย์ จนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และคะแนนนิยมของพรรคอย่างหนักหน่วง
แน่นอนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ที่พรรคประชาธิปัตย์ส่ง “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลงสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนแทบจะเรียกได้ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในรอบนี้ พรรคประชาธิปัตย์คงจะต้อง “ทำใจรอ” เพราะด้วยเรตติ้งที่ตามหลังมาตั้งแต่ต้น และมาเจอกับเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นเรื่องยากที่จะพลิกกลับมามีแต้มต่อได้แล้ว แต้มที่มีอยู่เดิมก็คงถูกผู้สมัครรายอื่นๆ เบียดแย่งไปอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนั้นยังส่อแววจะมีผลกระทบลามไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ด้วย หากผู้บริหารพรรคไม่แสดงความเป็นผู้นำที่ชัดเจนต่อเรื่องที่เกิดขึ้นและประสานรอยร้าวภายในพรรค เพื่อฟื้นศรัทธาจากประชาชน
นอกจากเรื่องร้อน-เรื่องฉาวของฝั่งรัฐบาลแล้ว สิ่งที่น่าจับตาไม่แพ้กันก็คือ “เกมรุก” คดีการเมืองของฝ่ายค้าน ที่อาจจะกลายมาเป็นปัจจัยกระตุ้นความร้อนแรงของ “อุณหภูมิทางการเมือง” ในช่วงหลังจากนี้ ไล่ตั้งแต่ คดีของพรรคก้าวไกล ที่ถูกร้องสอบเรื่องปฏิปักษ์การปกครองจากกรณีอภิปรายงบประมาณสถาบันฯ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2565 ตามด้วย คดีความของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่ถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 112 จากกรณีไลฟ์สดวัคซีนพระราชทาน รวมทั้งการถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดิน จ.ราชบุรี ซึ่งถูกเจ้าตัวตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือ และศรัทธาของประชาชนที่มีต่อคณะก้าวหน้าก่อนการเลือกตั้ง
รวมถึงกรณีพาสปอร์ตร้อน ของ “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ที่ถูกตำรวจออกคำสั่งเพิกถอนหนังสือเดินทางจนไม่สามารถทำพาสปอร์ตได้ และปิดท้ายกันด้วยหมายจับร้อนของ “นายหญิง” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ติดโผด้วย จากกรณีถูกศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกหมายจับ จากกรณีไม่เดินทางมาศาลโดยไม่แจ้งเหตุ ในการพิจารณาคดีจัดจ้างโครงการโรดโชว์สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 เอื้อประโยชน์บริษัทเอกชน
ขณะที่สถานการณ์การเมืองล้วนแต่มีหมุดหมายร้อน ในช่วงเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ ไล่มาตั้งแต่การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ราชบุรี แทนตำแหน่งว่าง ในวันที่ 21 พ.ค.นี้ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะมีการเปิดคูหาในวันที่ 22 พ.ค. อภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 หลังเปิดสภา ที่มีข่าวว่าฝ่ายค้านเตรียม “ไม้เด็ด” เอาผิดรัฐมนตรี 3 คน ที่มีการทุจริตโดยให้ภรรยาและบุตรเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีหลักฐานเป็นใบเสร็จ
แม้ดูท่าทาง “บิ๊กตู่” จะออกอาการมั่นใจว่าจะผ่านศึกซักฟอกที่กำลังจะเกิดขึ้น ถึงขั้นกล้าประกาศที่จะอยู่ครบเทอม แต่ก็ยังไม่วายมีประเด็นรอยร้าวลึกคอยระแคะระคายจากปัญหาความสัมพันธ์พี่น้อง
อย่างล่าสุดกรณี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ บินไปอังกฤษ ก็กลายเป็นประเด็นถูกตั้งคำถามว่าไปพบใครที่อังกฤษหรือไม่ จนงานนี้ทำเอา “บิ๊กตู่” ถึงกับฉุนขาดใสนักข่าวว่า “ถามอะไรแปลกๆ บ้าหรือเปล่า ไม่สร้างสรรค์” พร้อมยืนยันว่า “บิ๊กป้อม” ไปทำงาน ไม่ได้ไปพักผ่อน ทั้งนี้จากอากับกิริยาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงรอยร้าวลึกที่ฝังใจอยู่ ย่อมทำให้ “บิ๊กตู่” อดระแวงไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก” ยังกลมเกลียวกันดีอยู่หรือไม่?
และยิ่งกลายเป็นเรื่องร้อนเมื่อ นิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าได้คุยโทรศัพท์กับ “บิ๊กป้อม” ภายหลังเดินทางกลับจากอังกฤษ ว่าได้เจอกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจริงหรือไม่ ซึ่งได้คำตอบว่า “เขาฝากความคิดถึงแกด้วย” แม้สุดท้ายจะมีการชี้แจงว่าเป็นการอำเล่น เป็นการหยอกล้อเล่นๆ เท่านั้น
ขณะที่ “บิ๊กป้อม” เองก็ออกมาชี้แจงว่า ไม่เคยคุยกับ ทักษิณ ชินวัตร เลย ตั้งแต่ปี 2548 และไม่ได้บินไปอังกฤษด้วย แต่ลาไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกายที่โรงพยาบาลเท่านั้น
ก็ไม่รู้ว่างานนี้สรุปแล้ว “บิ๊กป้อม” ไปอังกฤษหรือไม่ ไปเจอกับใครหรือไม่ เพราะเมื่อต่างคนต่างพูดมีพิรุธ การตั้งข้อสังเกตต่างๆ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ ดังนั้นบทพิสูจน์ในเรื่องนี้คงจะต้องรอดูในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะหากท้ายที่สุดรัฐบาลพลาดท่าไม่สามารถรวมเสียงในสภายกมือโหวตไว้วางใจ “บิ๊กตู่” ได้อย่างที่รัฐบาลเชื่อมั่น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คงจะไม่ต่างกับการพา “บิ๊กตู่” ขึ้นเชิงตะกอนกลางสภา
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองหลายๆพรรค เริ่มมีการเตรียมความพร้อมตัดสูทรอเลือกตั้งกันให้ได้เห็นแล้ว ล่าสุด พรรคสร้างอนาคตไทย มีการจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี โดยมีการเปิดตัว อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และมี สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองในการเลือกตั้งได้มากน้อยขนาดไหน และที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือจุดยืนของพรรคใหม่จะหนุนหรือต้าน “บิ๊กตู่” ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะในงานประชุมใหญ่มีหลายพรรคการเมืองเข้าร่วมอวยพร รวมทั้ง “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย เข้าร่วมอวยพรคในครั้งนี้ด้วย
จากบริบททั้งหมดทั้งมวลต่างสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า “อุณหภูมิทางการเมือง” ในเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ มีแววร้อนระอุทะลุปรอทแน่นอน!