เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กว่า 6 ปี ที่ประเทศไทยมุ่งมั่น ผลักดันพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก โดยมีการนำเสนอมาแล้วถึง 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2558 พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2562 จนเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ในปี พ.ศ. 2564 นี้ ซึ่งเป็นการจัดประชุมผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 16 -31 ก.ค.นี้ โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ และเป็นที่น่ายินดีว่าในปีนี้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จในการดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือ เชิงอนุรักษ์ระดับโลก
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า โดยพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานนั้น เป็นแหล่งมรดกโลก แห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของไทย นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. 2534 และ กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร ประเทศไทยในฐานะเจ้าของแหล่ง จะต้องปกป้องรักษาแหล่งที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกให้คงคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลไว้ให้ลูกหลานต่อไป
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การที่พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนี้ นอกจากเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ และเป็นความภาคภูมิใจของคนในประเทศแล้ว ยังทำให้คนในประเทศเกิดการตระหนัก รู้สึกเป็นเจ้าของและหวงแหนทรัพยากรที่เรามีอยู่ด้วย ประโยชน์หลัก ๆ อีกด้วย เช่น 1. ส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาวิจัยในระดับสากล 2. ยกระดับการอนุรักษ์พื้นที่ด้วยการบริหารจัดการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ให้คงคุณค่าของแหล่ง เพื่อส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น 3. ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชน และ 4. สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากกองทุนมรดกโลกได้
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมที่จะดำเนินการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการสร้างสมดุลในการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน ยกระดับการบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น รวมทั้ง ให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยสอดคล้องกับกฎหมาย นโยบาย มติ และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า ไทยจะรักษาแหล่งมรดกโลกพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ให้คงไว้ และสามารถส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นหลังสืบไป.